จิตต้องมีกำลังของสมาธิ

การที่เราจะเกิดปัญญาแยกรูปแยกนามได้ จิตต้องมีกำลังของสมาธิ แล้วพอสติระลึกรู้กาย จะเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน ถ้าจิตเรามีกำลังตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนากับจิตก็คนละอันกัน แต่จิตตั้งมั่นมีกำลังอยู่ สติระลึกรู้กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ก็จะเห็นกุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้นนั้นกับจิต คนละอันกัน นี่เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ไม่ได้แยกด้วยใช้กำลังของจิตเข้าไปแยก แต่ถ้าจิตเรามีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้อง การแยกขันธ์เป็นเรื่องเบสิกมากเลย มันแยกเองเลย ไม่ต้องทำอะไรหรอก

ทำสมาธิด้วยความมีสติ

วิปัสสนาคือการเห็น ปัสสนะ แปลว่าการเห็น ตรงตัวเลย วิ แปลว่าแจ้ง คือเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เราเห็นกายถูกต้องตามความเป็นจริง คือเห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตถูกต้องตามความเป็นจริง ก็คือเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นตามความเป็นจริงได้ จิตต้องไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด มิฉะนั้นผิดทันที จิตต้องตื่น ตื่นขึ้นมาให้ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องภาวะที่จิตเราตื่นขึ้นมา มีสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา เป็นเรื่องใหญ่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่พวกเราขาดมากที่สุดเลย ฆราวาสทั้งหลายขาดสัมมาสมาธิ ขาดสมาธิที่ถูกต้อง มีสมาธิเคลิ้มๆ สมาธิเห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นไม่ได้เรื่องอะไร ไปทำสมาธิแล้วก็มีสติคอยรู้ทันจิตเอาไว้ แล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาๆ ทั้ง 8 ประกอบด้วยสติทั้งสิ้น ขาดสติตัวเดียว สัมมาทั้งหลายหายหมด กลายเป็นมิจฉาหมดเลย ฉะนั้นสติจำเป็น จำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

ถนัดอะไรก็เอาอันนั้นก่อน

การปฏิบัติ ไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอก สายไหนดีกว่าสายไหน ถ้าถูกหลักแล้วก็ดีหมด ถ้าผิดหลักก็ไม่ดีหรอก ไม่ว่าเริ่มต้น เราจะดูกาย หรือดูเวทนา หรือดูจิต สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตทั้งหมด ลงที่เดียวกันหมด ไม่ต้องเถียงกัน เพียงแต่บางคนลัดเข้ามาที่จิตเลย บางคนอ้อมไปทางกายก่อน ไปทางเวทนาก่อน ฉะนั้นเราจะเริ่มอย่างไรก็ได้ สุดท้ายก็ไปที่เดียวกัน ถ้าเราถนัดมาทางกาย เราก็เห็นกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางเวทนา เราก็เห็นเวทนาเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางจิตตานุปัสสนา เราก็เห็นกุศล อกุศลทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ แล้วสุดท้ายมันก็เข้าไปที่ธัมมานุปัสสนา ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งนั้น

ฝึกจิตให้มีกำลังตั้งมั่น

เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว

ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น

สิ่งที่เราต้องทำ

สิ่งที่พวกเราต้องทำก็มี 3 อย่าง อันหนึ่งถือศีล 5 ไว้ ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ให้ดี ให้เด็กเขาเห็น ถือศีล 5 แล้วมันดี ไม่ใช่ถือศีล 5 แล้วลำบาก งานที่ 2 ก็คือแบ่งเวลาไว้ทำในรูปแบบ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำให้เขาดู ทำให้เขาเห็น อย่าไปบังคับว่าเขาต้องทำตาม ทำให้เขาเห็นไป ที่เหลืองานที่ 3 คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตัวนี้เป็นงานยาก ก็ต้องมีสติกำกับใจของเราอยู่สม่ำเสมอ เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางร่างกาย แล้วก็กระทบอารมณ์ทางใจ จิตมันจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดความสุข เกิดความทุกข์ เกิดความไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา มันจะเกิดปฏิกิริยาที่เป็นบุญบ้าง เป็นบาปบ้าง โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น นี่เป็นปฏิกิริยาของจิต ไม่ใช่ตัวจิตหรอก

พวกเราก็คอยมีสติไว้ เรื่องการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอะไรมากระทบ มีใจมันก็กระทบความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหลาย พอกระทบแล้วจิตมันสะเทือนขึ้นมา มันปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา ให้เรามีสติรู้อยู่ที่จิต

สันตติขาด

เราต้องฝึกให้ได้จิตรู้ขึ้นมา แล้วสันตติคือความสืบต่อของจิตจะขาด จิตจะไม่ได้มีดวงเดียวยาวๆ แล้ว แต่จะขาดเป็นช่วงๆๆ แล้วตรงนี้เราจะเห็นแต่ละช่วงไม่เที่ยง จิตรู้ไม่เที่ยง จิตหลงไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง ตรงที่จิตหลง จิตหลงไปดูก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปฟังก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปเพ่งก็ไม่เที่ยง จิตมีความสุขก็ไม่เที่ยง จิตมีความทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง เราจะเห็นทุกดวงมันไม่เที่ยงๆๆ ไป ตรงนั้นล่ะที่เรียกว่าเราเห็นเกิดดับ ถ้าสันตติไม่ขาดไม่เห็นเกิดดับหรอก สันตติจะขาดได้ จิตต้องตั้งมั่น ต้องได้ผู้รู้ขึ้นมาก่อนสันตติถึงจะขาด

แก่นของการปฏิบัติคือจิต

แก่นของการปฏิบัติคือจิตนี้เอง เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานอย่างหนึ่งไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่คอยรู้ทันจิตตนเองไป จิตที่ไม่สงบ ก็คือจิตที่มันไหลไปทางอารมณ์ต่างๆ ไหลไปคิด ไหลไปจมอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น นั้นไม่สงบจริง แต่ตรงที่เรารู้ว่าจิตเคลื่อน ตรงนั้นล่ะความสงบจะเกิดขึ้นนิดหนึ่ง ชั่วขณะเท่านั้น ทำบ่อยๆ จนกระทั่งความรู้ตัวถี่ยิบขึ้นมาเลย หลวงพ่อสอนวิธีนี้ เพราะพวกเราทำฌานไม่ได้ สะสมสมาธิเป็นขณะๆๆ ไป พอมันมีกำลังมากแล้ว มันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันเหมือนจิตที่ทรงอุปจารสมาธิได้ มันทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา

จากจุดเล็กๆ เหมือนน้ำหยดใส่ตุ่มทีละหยดๆ น้ำก็เต็มตุ่มขึ้นมา จิตก็มีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา ตรงนี้เราเอาไปเดินปัญญาได้แล้ว ถ้าจิตยังไม่ตั้งมั่น อย่าพูดเรื่องเดินปัญญา ทำไม่ได้หรอก จิตยังไหลไปไหลมา หรืออ่อนแอปวกเปียก ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะฉะนั้นเราอย่าละเลยที่หลวงพ่อบอก ทุกวันต้องไปทำกรรมฐาน แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตไหลไปคิด รู้ทัน จิตไหลไปเพ่ง รู้ทัน ในที่สุดเราจะได้จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา

สะสมการเห็นถูก

เราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือวิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา

กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

ทำวิปัสสนาพอสมควร พอจิตเริ่มเหนื่อยก็หยุด อย่าตะบี้ตะบันทำวิปัสสนา ก็ต้องหยุดทำสมถะขึ้นมา ทำสมาธิให้จิตมีกำลังขึ้นมาแล้วไปเดินปัญญาต่อ ถ้าเดินอย่างนี้ทำให้มาก เจริญให้มาก ไม่ขี้เกียจไม่ใช่นานๆ ทำที ทำให้ได้ทุกวันๆ ทำให้ได้มากที่สุดที่จะทำได้ เราก็อาจจะได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ ไม่ต้องรอชาติไหนหรอก ถ้าเราทำไม่ถูก ทำถูกแล้วขี้เกียจ ยังไม่ได้หรอกอีกนาน กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

เอามีดทื่อไปฟันต้นไม้

ที่ดูจิตเดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง ปัญญามันจะเกิด ถ้าเราไม่มีสมาธิพอ เราเจริญปัญญาไป ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบเทียบ เหมือนเรามีมีดทื่อๆ อยู่เล่มหนึ่ง เราเอาไปผ่าฟืน ไปตัดต้นไม้ แป๊กๆๆ ไม่เข้าหรอก เราก็ต้องหยุดลับมีดก่อน การลับมีดก็คือการทำสมาธิ พอจิตเรามีสมาธิ มันเหมือนเรามีมีดคมๆ ฟันฉับเดียวขาดเลย ฉะนั้นถ้าเราเดินปัญญารวดไปเลย เหมือนเอามีดทื่อไปฟันต้นไม้ ไม่มีประโยชน์อะไร เหนื่อยเปล่า เดินปัญญาก็ต้องรู้จักพักบ้าง เดินปัญญาอย่างเดียวมันจะฟุ้งซ่าน

Page 2 of 3
1 2 3