การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อเคยบอกบ่อยๆ ว่า การทำหน้าที่ของเราในทางโลกที่ถูกต้อง ไม่ขัดไม่ขวางการปฏิบัติธรรม เราเป็นครู เราก็ทำหน้าที่ของครูให้ดี เราก็ปฏิบัติธรรมได้ ท่านพุทธทาสท่านก็พูดว่า “การปฏิบัติงาน การทำหน้าที่นั่นล่ะ คือการปฏิบัติธรรม” แต่ต้องทำให้เป็น ถ้าทำหน้าที่ งานที่เป็นอกุศลนี้ไม่ใช่ ทำแล้วจิตใจยิ่งแย่ลง ถ้างานเป็นงานที่ดี อย่างเราเป็นหมอ เรารักษาคนไข้ ถ้ารักษาไปแล้วโมโหไป อันนี้ไม่ใช่แล้ว จิตเป็นอกุศล ถ้าเราทำงานที่เป็นกุศล ด้วยจิตที่เป็นกุศล สมาธิมันเกิด เกิดได้เอง ไม่ยากหรอก เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ จะทั้งหน้าที่ทางโลกหรือหน้าที่ทางกรรมฐาน ทำไปด้วยจิตใจที่เป็นกุศลไว้แล้วมันจะพัฒนาง่าย

ธรรม 10 ประการของนักปฏิบัติ

มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร 5 ข้อ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถัดจากนั้นคือมีวิมุตติ ตัวที่เก้าคือเกิดอริยมรรคเกิดอริยผล พอเกิดอริยมรรคอริยผลแล้ว มันก็ขึ้นมาถึงตัวสุดท้าย ตัวที่สิบชื่อวิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะไม่ใช่เห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นฟุ้งซ่าน วิมุตติญาณทัสสนะก็คือจิตมันทวนกลับเข้าไปพิจารณาว่าตอนที่เกิดอริยมรรคอริยผลนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อริยมรรคได้ทำลายล้างกิเลสชั้นละเอียดคือตัวสังโยชน์ได้กี่ตัวแล้ว ยังเหลือกี่ตัว ทำลายไปกี่ตัว

วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน

เวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำนั่นล่ะ มันทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านมันทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตมันเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป

ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ

สัมมาวายามะ

เราทำต้นทางนี้ให้ดี มีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ กุศลเกิดก็รู้ อกุศลเกิดก็รู้ไป ไม่ต้องคาดหวังอะไรหรอก แล้วมันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆ เพราะสติเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ มีความเพียรชอบ ทำให้มากเจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์

ฉะนั้นคอยดูจิตดูใจตัวเองที่เป็นกุศลที่เป็นอกุศลไว้ให้มากๆ สติก็จะดี สมาธิก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วต่อไปพอสมาธิเกิดแล้ว จะเห็นไตรลักษณ์ ลำพังสติไม่มีสมาธิหนุนหลังอยู่ ไม่มีสัมมาสมาธิหนุนหลัง ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกกาย เห็นอะไร เห็นกาย สติระลึกรู้เวทนา เห็นอะไร ก็เห็นเวทนา สติระลึกรู้กุศลอกุศล เห็นอะไร เห็นกุศล อกุศล แต่ถ้าจิตมีสัมมาสมาธิตั้งมั่น มันจะเห็นเลยว่ากายที่สติระลึกรู้ ไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา เวทนาที่สติระลึกรู้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลที่จิตระลึกรู้ คือสังขารทั้งหลายไม่ใช่เราๆ ค่อยดูไป พอปัญญามันแก่รอบแล้วต่อไปวิมุตติมันก็เกิดเอง

เราเดินบนเส้นทางที่เราเดินได้

บางคนชอบสมาธินำปัญญา ก็เรียนวิธีปฏิบัติแบบสมาธินำปัญญาไป บางคนชอบเจริญปัญญาในฌาน ก็ทำสมาธิกับปัญญาควบกัน ส่วนพวกปัญญานำสมาธิ ทำสมาธิเบื้องต้นระดับขณิกสมาธิ ใช้กำลังของขณิกสมาธิ มาเรียนรู้รูปนาม

หลวงพ่อดูพวกเรา คนรุ่นนี้ ให้ไปนั่งเข้าฌานมันเข้าไม่ไหว อย่าว่าแต่โยมเลย พระที่เข้าฌานได้ก็เหลือน้อยเต็มที ไม่ค่อยมีหรอก ส่วนมากก็นั่งสมาธิ ก็เคลิ้มง่อกแง่กๆ ไป ไม่ก็นั่งเพ่งจนเคร่งเครียดไป คนรุ่นหลังทำสมาธิไม่ค่อยเป็น เวลาจะทำสมาธิ มันกลายเป็นมิจฉาสมาธิเสียหมดเลย มันมีหลายเส้นทาง แต่เส้นทางที่เราควรเดิน ก็คือเส้นทางที่เราเดินได้ เส้นทางที่เราเดินได้ ก็คือเส้นทางของปัญญานำสมาธิ คนรุ่นนี้เป็นพวกปัญญาชนเยอะ คนใช้ปัญญา แต่การเดินด้วยปัญญา ต้องมีขณิกสมาธิเสียก่อน สมาธิที่เป็นขณะๆ นั่นล่ะ พอมีสมาธิทีละขณะถี่ๆ ขึ้นมา จิตก็มีกำลัง รู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา

อย่าเป็นตุ่มรั่ว

เราพยายามพัฒนาสติของเราตั้งแต่ตื่นจนหลับ คอยเอาสตินี้ล่ะอ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ศีลเราจะดี สมาธิเราจะพัฒนา มันจะไม่มีลักษณะของตุ่มรั่ว เรามีสติอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ ถึงเวลานั่งสมาธิแป๊บเดียวก็สงบแล้ว ไม่ยาก แต่ถ้าฟุ้งซ่านทั้งวัน ไปนั่งสมาธิก็นั่งฟุ้งๆ แป๊บเดียวก็หลับ ทำไมมันหลับเก่ง จิตมันเหนื่อยเต็มทีแล้ว มันฟุ้งซ่านมาทั้งวันแล้ว มันต้องการพักแล้ว แต่ถ้าเรามีสติอยู่ทั้งวัน จิตมันไม่เหนื่อย ร่างกายอาจจะเหนื่อย พักผ่อนเสียหน่อยหนึ่งก็หาย แต่จิตมันไม่เหนื่อย สมมติร่างกายเราเหนื่อยมากจริงๆ ก็นอน นอนไปหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป จิตใจกลับไปคิดเรื่องงาน คิดเรื่องคนอื่น วุ่นวายขึ้นมา มีสติรู้ทัน

ฉะนั้นการปฏิบัติ พยายามมีสติรู้ทันจิตใจตัวเองไป ศีลมันก็จะเกิดขึ้น สมาธิมันก็จะเกิดง่าย พอเรามีสติ เรามีศีล เรามีสมาธิแล้ว มันเกื้อกูลให้เกิดปัญญา

ปัญญารวบยอด

ถ้าจิตเกิดคิดขึ้นมาแล้วเราเป็นคนรู้ ความคิดนั้นจะขาดสะบั้นทันทีเลย แล้วเราจะเห็นสภาวะสุขเกิดดับ เกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ ดีเกิดแล้วดับ ชั่วเกิดแล้วดับ รูปหายใจออกเกิดแล้วดับ รูปหายใจเข้าเกิดแล้วดับ รูปยืนเกิดแล้วดับ รูปนั่งรูปนอนรูปอะไรก็ตามเกิดแล้วก็ดับ เห็นซ้ำๆๆ สุดท้ายจิตมันจะสรุป มันปิ๊งขึ้นมาเลยนะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ทำไมใช้คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่จริงก็คือ Everything ที่เกิด ทุกสิ่งที่เกิด ทำไมไม่บอกว่าสุขเกิดแล้วดับทุกข์เกิดแล้วดับ เพราะปัญญาตัวนี้เป็นปัญญารวบยอด รวบยอดว่าทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น มันรวบยอดระดับนี้ มันถึงจะเข้าใจแจ่มแจ้งเลย กายเรานี้พอเราเข้าใจแจ่มแจ้ง ก็แค่วัตถุยืมโลกมาใช้ชั่วคราว ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกดีชั่วอะไรก็ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา จิตเองก็เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา เราสั่งจิตไม่ได้ สั่งจิตให้ดีตลอดก็ไม่ได้ ห้ามจิตชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้จิตสุขก็ไม่ได้ ห้ามจิตทุกข์ก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

ฆราวาสมีหน้าที่ทั้งทางโลกทางธรรม

เรายังเกิดมาได้ทันที่พระสัจธรรมยังดำรงอยู่ ขวนขวายพากเพียรปฏิบัติเข้า เป็นฆราวาสหน้าที่ทางโลกต้องทำ หน้าที่ทำมาหากิน เลี้ยงครอบครัว หน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม อย่างไปเลือกตั้งเป็นหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม ต่อชาติบ้านเมือง ส่วนหน้าที่ต่อตนเอง คือการปฏิบัติธรรม เรียกว่าทางโลกเราก็ต้องทำ ทางธรรมเราก็ต้องทำ พยายามฝึกตัวเองไป ชีวิตเราก็จะสะอาดหมดจด ด้วยอำนาจของศีล ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยปัญญา พอปัญญาคือความรู้ถูก ความเข้าใจถูกเกิดขึ้น มันจะทำลายกิเลสอย่างละเอียด

หมายรู้ให้ถูก

สติระลึกรู้กาย สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย ปัญญาก็เกิด สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาหมายรู้อย่างถูกต้อง ปัญญาก็เกิดก็วาง พอปัญญาเกิดมันจะละ มันจะวาง มันจะเป็นตัวตัด ปล่อยวาง มันวางของมันเอง ไม่มีใครสั่งปัญญาให้เกิดได้หรอก อาศัยการเจริญสติ แล้วก็หมายรู้ให้ถูกไปเรื่อยๆ นั่งอยู่อย่าไปคิดว่าเรานั่ง พยายามรู้สึกไป ถ้ามันมองไม่เห็นด้วยตัวเอง พยายามรู้สึกว่ารูปมันนั่ง ร่างกายมันนั่ง ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไป ไม่ได้เจตนา เวลาร่างกายเคลื่อนไหว มันเห็นรูปมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่เราเคลื่อนไหว พอมีความหมายรู้ถูก เกิดความคิดถูก ต่อไปก็เกิดความเห็นถูก ตัวความเห็นถูกนั้น ตัวปัญญา ฉะนั้นหมายรู้ให้ถูก แล้วก็ความเห็นถูกคือตัวปัญญามันก็จะเกิด

จิตประภัสสร

จิตประภัสสรผ่องใสได้ เพราะไม่มีราคะ โทสะ โมหะ จรเข้ามา แต่เราปฏิบัติธรรมทีไร ราคะ โทสะ โมหะ มาเยอะแยะเลย แล้วยังคิดว่าดีอยู่อีก อันนั้นเข้าใจผิดแล้ว ทำอย่างไรก็ไม่ได้ดี ไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐาน แล้วก็สังเกตจิตใจของเราไปสบายๆ จิตหลงไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ ไม่ได้ทำกรรมฐานด้วยราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ เมื่อไรไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้นจิตก็ประภัสสร สว่าง ผ่องใส สบาย มีความสุข จิตที่ประภัสสรมันจะมีเวทนา คือความรู้สึกได้ 2 อย่าง คือมีความสุขเรียกว่าโสมนัสเวทนา กับอุเบกขาเวทนา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ ตัวจิตที่ประภัสสรนี้ เรียกภาษาที่ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านเรียก คือจิตผู้รู้ อย่างหลวงตามหาบัวท่านบอก ตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะคือจิตประภัสสร แต่เมื่อกี้หลวงพ่อบอกแล้ว จิตที่ประภัสสรผ่องใสเฉยๆ แต่ไม่บริสุทธิ์ คนละเรื่องกัน

Page 2 of 6
1 2 3 4 5 6