อนัตตลักขณสูตร

ที่หลวงพ่อบอกให้พวกเราคอยรู้สึกกายรู้สึกใจ ไม่ใช่โมเมพูด มันก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สอนตั้งแต่ปัญจวัคคีย์ ในอนัตตลักขณสูตร สูตรที่สอง ต่อจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็ขึ้นมาสู่ อนัตตลักขณสูตร สอนถึงความเป็นอนัตตา อนัตตาก็คือมันเป็นของที่ไม่ควรยึดควรถือ รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นมันทุกข์ สิ่งซึ่งมันเป็นทุกข์ คือมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ พระปัญจวัคคีย์ ท่านรู้แจ่มแจ้งด้วยจิตใจอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่รู้ด้วยการฟังแล้วก็คิดเอา แต่ท่านเห็นความจริงเอา ของขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ทั้ง 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านก็หมดความยึดถือในขันธ์ทั้ง 5

หมายรู้ให้ถูก

สติระลึกรู้กาย สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย ปัญญาก็เกิด สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาหมายรู้อย่างถูกต้อง ปัญญาก็เกิดก็วาง พอปัญญาเกิดมันจะละ มันจะวาง มันจะเป็นตัวตัด ปล่อยวาง มันวางของมันเอง ไม่มีใครสั่งปัญญาให้เกิดได้หรอก อาศัยการเจริญสติ แล้วก็หมายรู้ให้ถูกไปเรื่อยๆ นั่งอยู่อย่าไปคิดว่าเรานั่ง พยายามรู้สึกไป ถ้ามันมองไม่เห็นด้วยตัวเอง พยายามรู้สึกว่ารูปมันนั่ง ร่างกายมันนั่ง ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไป ไม่ได้เจตนา เวลาร่างกายเคลื่อนไหว มันเห็นรูปมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่เราเคลื่อนไหว พอมีความหมายรู้ถูก เกิดความคิดถูก ต่อไปก็เกิดความเห็นถูก ตัวความเห็นถูกนั้น ตัวปัญญา ฉะนั้นหมายรู้ให้ถูก แล้วก็ความเห็นถูกคือตัวปัญญามันก็จะเกิด

การเจริญสติปัฏฐาน

สติเป็นตัวรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจเรา ฉะนั้นสติที่รู้กายรู้ใจ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติอย่างอื่นไม่เรียกว่าสติปัฏฐาน เขาเรียกว่าเป็นสติเฉยๆ ไม่ใช่สัมมาสติ สิ่งที่เป็นสัมมาสติ คือสติปัฏฐาน จำไว้เลย พระพุทธเจ้าบอกเลยว่าสัมมาสติ อธิบายด้วยสติปัฏฐาน 4 ก็คือให้เราคอยรู้สึกกายในกายเนืองๆ รู้สึกเวทนาในเวทนาเนืองๆ รู้สึกจิตในจิตเนืองๆ รู้สึกธรรมในธรรมเนืองๆ

จิตประภัสสร

จิตประภัสสรผ่องใสได้ เพราะไม่มีราคะ โทสะ โมหะ จรเข้ามา แต่เราปฏิบัติธรรมทีไร ราคะ โทสะ โมหะ มาเยอะแยะเลย แล้วยังคิดว่าดีอยู่อีก อันนั้นเข้าใจผิดแล้ว ทำอย่างไรก็ไม่ได้ดี ไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐาน แล้วก็สังเกตจิตใจของเราไปสบายๆ จิตหลงไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ ไม่ได้ทำกรรมฐานด้วยราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ เมื่อไรไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้นจิตก็ประภัสสร สว่าง ผ่องใส สบาย มีความสุข จิตที่ประภัสสรมันจะมีเวทนา คือความรู้สึกได้ 2 อย่าง คือมีความสุขเรียกว่าโสมนัสเวทนา กับอุเบกขาเวทนา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ ตัวจิตที่ประภัสสรนี้ เรียกภาษาที่ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านเรียก คือจิตผู้รู้ อย่างหลวงตามหาบัวท่านบอก ตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะคือจิตประภัสสร แต่เมื่อกี้หลวงพ่อบอกแล้ว จิตที่ประภัสสรผ่องใสเฉยๆ แต่ไม่บริสุทธิ์ คนละเรื่องกัน

ที่พักของจิต

พวกเราควรจะมีที่พักของจิต มีบ้านให้จิตพักผ่อนบ้าง เวลาเราทำงานตรากตรำมาก เรายังต้องกลับมาบ้าน ไม่มีบ้าน เราก็มีห้องเช่า เราไปอยู่ที่โน่นที่นี่ ไม่มีจริงๆ เราก็อยู่ใต้ต้นไม้ มันก็ต้องมีที่อยู่ พอเรามีที่อยู่ จิตใจเราก็มีความสุข มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พร้อมที่จะต่อสู้กับกิเลสต่อไป ถ้าเป็นร่างกาย เราเหน็ดเหนื่อย เราก็พักผ่อน มีแรงแล้วเราก็พร้อมที่จะไปทำงานต่อ ส่วนจิตใจ งานของจิตใจของเราคือกรรมฐานทั้งหลาย

ให้จิตเราได้มีที่พักบ้าง มิฉะนั้นเราโหดร้ายกับจิตตัวเอง เคี่ยวเข็ญมันมากไปจนมันไม่เคยมีความสงบเลย เหมือนเรามีทาสอยู่คนหนึ่ง เราก็ใช้มันทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่ให้มันพักเลย ไม่นานมันก็ตาย จิตนี้เราใช้งานมันตลอดเวลา ใช้คิด ใช้นึก ใช้ปรุง ใช้แต่ง แล้วมันก็ปนเปื้อน กระทบฝุ่นละออง คือกิเลส มอมแมมทั้งวัน ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบ แล้วมันก็เสียธรรมชาติเดิมของมันที่มันประภัสสร ธรรมชาติเดิมของจิตประภัสสร ผ่องใส ฉะนั้นการที่เราทำสมาธิ เพื่อให้จิตมันรวมเข้ามาสงบ ประภัสสร แล้วถัดจากนั้นจิตเรามีกำลังมากพอแล้ว ก็จะก้าวไปสู่ขั้นการเจริญปัญญา

คุณของพระพุทธเจ้า

สิ่งที่เป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ คือตัวคุณธรรม คุณธรรมของพระพุทธเจ้ามีอะไรบ้าง ท่านมีปัญญาธิคุณ ท่านตรัสรู้ได้ด้วยตัวเอง เราที่เป็นสาวก กระทั่งอรหันตสาวก ไม่มีปัญญาธิคุณอันนี้ เรามีกรุณาธิคุณเหมือนพระพุทธเจ้าไหม สาวกมีไม่เหมือนพระพุทธเจ้า มีไม่เท่า พระพุทธเจ้าตกนรกไปช่วยคนก็ยังได้ สาวกก็ยังไม่ค่อยกล้าหาญขนาดนั้น ความกรุณานี้ไม่เท่าเทียม พอพิจารณามาถึงความบริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าบริสุทธิ์ พระสาวกก็บริสุทธิ์ เป็นอันเดียวกัน ความรู้สึกมันจะรู้สึกว่า จิตที่บริสุทธิ์นั้น ที่เราพัฒนาขึ้นมา กับความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วจะรู้ทันทีเลย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเป็นหนึ่งเดียวกันเลย จากสามก็เป็นหนึ่ง เป็นอันเดียวกันหมด

ฉะนั้นเราภาวนา วันหนึ่งเราจะเจอพระพุทธเจ้าตัวจริง เราจะเจอพระพุทธเจ้าตัวจริงได้ ใจเราต้องสะอาด เราต้องล้างความสกปรกด้วยศีล ด้วยธรรม

เส้นทางของคนจริง

การภาวนาต้องทำสม่ำเสมอ ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้ผลหรอก เราหยุดเมื่อไร กิเลสก็ลากเราลงต่ำไป กว่าจะดิ้นรนกลับขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง มันใช้แรงเยอะ ถ้าทำแล้วก็หยุดๆ มันก็อยู่ตรงนั้น หรือไม่ก็นานๆ ก็หมดกำลังที่จะปฏิบัติ มันต้องอดทนจริงๆ ตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปเลย จะปฏิบัติ ไม่ใช่ทำเล่นๆ ถ้าเราทำถูกแล้วก็ทำสม่ำเสมอ มันจะมีพัฒนาการที่มองเห็นได้ด้วยตัวเอง

เส้นทางนี้ไม่ได้ยาก แต่เส้นทางนี้เป็นเส้นทางของคนจริง หมายถึงคนที่เข้มแข็ง เอาจริงเอาจังในการที่จะเรียนรู้ตัวเอง เราทำกรรมฐานที่ดีถูกต้อง เราก็ได้รับผล ได้รับผลเป็นความร่มเย็นในจิตใจ การที่เราเจริญศีล สมาธิ ปัญญา นี่เรียกเราเจริญเหตุที่เป็นตัวมรรค ผลคือความพ้นทุกข์ มันก็จะมาถึงในวันหนึ่ง

หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ

ถ้าเราปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เราจะพัฒนาเร็วมากเลย ถ้าเก่งเฉพาะทำในรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เก่งตอนนั้น อยู่ในชีวิตประจำวันปฏิบัติไม่เป็น อ่านจิตอ่านใจไม่ออก รู้สึกกายไม่เป็นอะไรอย่างนี้ ยังไกล หลวงปู่มั่นท่านสอน หลวงพ่อฟังมาจากหลวงปู่สุวัจน์ ตอนท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสอนบอกว่า “ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ให้ทำสมถะ ทำสมาธิไป” ทำสมาธิ มันจะได้เกิดกำลัง กลับไปดูจิตได้ ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้ แล้วท่านก็สอน สรุป บอกว่า “หัวใจของการปฏิบัติ ตัวสำคัญที่สุด คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน” นั่งสมาธิเก่ง เดินจงกรมเก่ง แต่เจริญสติในชีวิตประจำวันไม่เป็น กิเลสลากไปกินทั้งวันเลย แล้ววันหนึ่งก่อนนอน 1 ชั่วโมงไปนั่งสมาธิ ก็หลงมา 20 ชั่วโมงแล้ว ไปนั่งสมาธิชั่วโมงหนึ่ง สู้กันไม่ไหว ฉะนั้นเราอย่าละเลยการเจริญสติในชีวิตประจำวัน

ระหว่างวันพยายามรู้สึกตัว ถ้าวันไหนยุ่งอยู่กับงานมาก จะรู้สึกตัวได้น้อย ตอนกลางคืนปฏิบัติในรูปแบบ จิตมักตกภวังค์

คำถาม: ภาวนาโดยใช้ “เมตตา คุณณัง อะระหัง เมตตา” เป็นวิห …

Read more

งานวิจัยว่านั่งสมาธิแล้วฉลาด เลยนั่ง แต่ไปเพ่ง เลยปรับวิธีใหม่ นั่งแบบดูจิต แต่มีกายและคำบริกรรมเป็นฐาน เวลาจิตหลงใช้รู้สึกลมหายใจ หรือกายเข้ามาช่วย

คำถาม: มีงานวิจัยว่านั่งสมาธิแล้วฉลาด ผมเลยนั่ง แต่ไปเพ …

Read more

Page 16 of 59
1 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 59