รู้ทันความปรุงแต่งของจิต

ค่อยภาวนาถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าความปรุงแต่งทั้งหลายคือทุกข์ พอรู้แล้ว ปัญญามันแก่รอบ มันก็ไม่เอาแล้ว ความปรุงแต่ง จะปรุงชั่ว จะปรุงดี หรือพยายามจะไม่ปรุง มันก็คือปรุง ก็คือทุกข์ทั้งหมด พอจิตมันพ้นจากความปรุงแต่ง มันก็เข้าถึงความสุขที่อยู่เหนือความปรุงแต่ง ความสุขของความสงบ ความสุขของการพ้นความเสียดแทงทั้งหลาย ความสุขของการไม่มีภาระของใจ ใจมันมีความสุขขึ้นมา

เรียนรู้ความจริงของโลก

เรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป วันหนึ่งก็จะรู้ว่า ในโลกนี้อะไรมีคุณค่าบ้าง ในโลกมีแต่ของชั่วคราว สิ่งที่มีคุณค่าคือธรรมะ แล้วยิ่งเราเข้าใกล้ธรรมะเท่าไร จิตใจเรายิ่งเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ใช่เป็นทาส
อยู่กับโลกเป็นทาสมันหนักขึ้นทุกที เป็นทาสของเงินทอง ของทรัพย์สิน เป็นทาสของครอบครัว เป็นทาสของหน้าที่การงาน เป็นทาสของชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นทาสของความโลภต่างๆ เป็นทาสของกาม หิวตลอดเวลา เราเข้าใจความจริง ร่างกายนี้หาสาระไม่ได้ การที่จะเอาตัวเองให้เป็นทาสมันจะลดลง

วิหารธรรมที่เหมาะกับเรา

หาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียอย่างหนึ่ง ไปดูเอาควรจะอยู่กับอะไร เช่น อยู่กับลมมันละเอียดไป หลงยาว ไม่ค่อยจะรู้เนื้อรู้ตัวเลย ก็ใช้ของที่หยาบขึ้น รู้ยืน เดิน นั่ง นอน มันหยาบไปก็ใช้กลางๆ ขยับก็รู้ไป มันพอดีๆ ไม่มากไปไม่น้อยไป หรือจะดูเวทนา แนะนำให้ดูเวทนาทางใจ ถ้าจะดูจิต จิตของเราขี้โลภ เราก็ใช้ความโลภเป็นตัวหลักเป็นวิหารธรรม จิตของเราขี้โกรธก็ใช้ความโกรธเป็นวิหารธรรม จิตของเราฟุ้งซ่านก็ใช้ความฟุ้งซ่านเป็นวิหารธรรม ก็ต้องค่อยๆ หัดดูไป เดี๋ยวก็ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา สุดท้ายก็จะไปรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ก็ได้ธัมมานุปัสสนาเหมือนกัน

พ้นทุกข์ด้วยอริยสัจ 4

เวลาเราภาวนา ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ต้องพัฒนาสติ ไม่มีสัมมาสมาธิ เราก็ต้องพัฒนาสัมมาสมาธิ หรือเราไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง เรียกว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็ต้องศึกษา ศึกษาจากพระไตรปิฎกจากอะไรนี่ ให้ได้สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น เป็นทฤษฎีชี้นำว่าเราจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ฉะนั้นไม่ว่าเราจะแก้ปัญหาทางโลก หรือเราจะแก้ปัญหาทุกข์ทางจิตใจของเรา หลักมันก็ตรงกันนั่นล่ะ เพราะสัจจะความจริงก็ต้องเป็นความจริงในทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่เป็นความจริงเฉพาะในวัด ไปแก้ปัญหาชีวิตจริงทำไม่ได้ อันนั้นด้อยเกินไป ศาสนาพุทธไม่ได้ด้อยอย่างนั้น ที่หลวงพ่อสอนพวกเราซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็สอนอยู่ในเรื่องของอริยสัจนั่นเอง

ต้องมีวิหารธรรม

เราก็ต้องดูว่าวิหารธรรมอันไหนพอเหมาะพอควรกับเราเอง ถ้าใช้ร่างกายที่หายใจเป็นวิหารธรรม คืออานาปานสติมันละเอียดเกินไป มันหายใจตลอดเวลารู้สึกละเอียดไป จิตมันก็ทรงอยู่ไม่ได้ เลยหลงไปง่าย จะใช้อิริยาบถ 4 เป็นวิหารธรรมก็หยาบเกินไป ก็เลยใช้อิริยาบถย่อย อิริยาบถย่อย ร่างกายจะขยับท่าไหนก็ได้ หันซ้ายหันขวาคอยรู้สึก เรียกว่าเรามีบ้านให้จิตอยู่แล้ว จิตมันก็จะมีเรี่ยวมีแรง เหมือนอย่างคนเรามีบ้านอยู่ก็ได้พักผ่อนสบาย ไม่วอกแวกจรจัด เดี๋ยวมันก็จรไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จรไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาโผฏฐัพพะ จรไปแสวงหาธรรมารมณ์ต่างๆ จิตที่จรจัดไปเรื่อยๆ ไม่มีแรงหรอก เหนื่อย

วางขันธ์ 5 เป็นลำดับไป

ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะรู้เลยการเรียงลำดับของพระพุทธเจ้านี้มีขั้นมีตอน เรียงขันธ์ 5 ของที่หยาบที่สุดคือรูปแล้วก็ถึงนามธรรม นามธรรมก็มีส่วนที่หยาบ ส่วนที่ละเอียด เวทนาหยาบที่สุดเลย ดูง่าย ในนามธรรมทั้งหลาย เราค่อยๆ เรียนจากของหยาบที่สุดคือรูป มาเวทนา สัญญา สังขาร เราก็ค่อยแยกๆๆๆ ไปจนถึงตัวจิต เห็นรูปเห็นนามเป็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ แล้วก็วางเป็นลำดับๆ ไป มันวางรูปได้ก่อน ตรงที่เห็นรูปไม่ใช่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ ตรงที่เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่เรา นั่นล่ะเป็นพระโสดาบัน ตรงที่เห็นความจริงว่ารูปไม่ควรยึดถือเพราะมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั้นล่ะได้พระอนาคามี ตรงที่วางจิตได้ หมดความยึดถือจิต มันก็เห็นจิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงนั้นล่ะเป็นพระอรหันต์ วางขันธ์ 5 ได้สิ้นเชิง

ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมดาของสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือต้องดับทั้งหมด เรียกว่าเรามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา คือเราเห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา” เห็นธรรมดา ใจยอมรับธรรมดาอันนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากทุกข์ คลายออกจากโลก คลายออกจากวัฏสงสาร

ในเวลาทำงานที่ต้องเจอผู้คนหรือมีผัสสะมากระทบ ยังไหลไปคลุกกับอารมณ์บ่อยๆ

เวลาทำงานต้องยุ่งกับคน จิตมันก็ต้องออกนอก ต้องไปดูเขา ต้องไปคุยกับเขา ต้องคิด ตอนนั้นเป็นเวลาทำงาน เป็นเวลาทำมาหากิน ไม่ใช่เวลาปฏิบัติ เวลาที่เหลือจากการทำงานกับการนอนหลับนั่นล่ะเป็นเวลาปฏิบัติ พยายามหายใจไป พุทโธไปเรื่อยๆ จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ หายใจไป พุทโธไป ไม่ใช่เพื่อบังคับให้จิตนิ่ง ไม่บังคับหรอก หายใจไปแล้วจิตเป็นอย่างไร ก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้นไปเรื่อย ต่อไปสติปัญญามันแก่กล้า มันก็จะรู้เลย ร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่ตัวเรา จิตใจที่เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงอะไรอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี ตัวเราไม่มี ก็ไม่มีที่ตั้งของความทุกข์แล้ว ความทุกข์มันก็อยู่ที่กายที่ใจ กายไม่ใช่เรา ใครทุกข์ กายมันทุกข์ ใจไม่ใช่เรา ใครมันทุกข์ ใจมันทุกข์ ไม่ใช่เรา

เข้าใจจิตแล้วเข้าใจธรรมทั้งหมด

ถ้าเราตัดตรงเข้ามา เห็นความจริงของจิตได้ เวลาที่มันรู้แจ้งแทงตลอดในตัวจิตว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา เจตสิกทั้งหลายก็พลอยไม่ใช่เราด้วย เป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู รูปทั้งหลายมันก็ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นแค่ของถูกรู้ถูกดูเท่านั้น ตัวนี้มันก็ถูกรู้ รูปภายในหรือรูปภายนอก รูปคนอื่น รูปสัตว์อื่น มันก็อาการเดียวกัน มีลักษณะอันเดียวกัน คือมันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เหมือนๆ กัน สุดท้าย มันก็ตายก็เน่าไป กลับไปเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเข้าใจที่จิตตัวเดียวจะเข้าใจธรรมทั้งหมด

ทาน ศีล ภาวนาเพื่อพัฒนาจิต

เวลาเราทำทานเรามีความสุข จิตใจที่รู้จักให้มันจะพัฒนา อันแรกเลยมันลดความเห็นแก่ตัว อันที่สอง ใจที่รู้จักเกื้อกูลมันจะอ่อนโยน สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนสุดท้ายมันก็มาลงที่การพัฒนาใจทั้งนั้น เรานึกว่าทำทานไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ที่แท้การทำทานเป็นการฝึกจิตขั้นพื้นฐาน ต่อมาเราก็ฝึกให้เข้มข้นขึ้น รักษาศีล การรักษาศีลจะต้องต่อสู้กับกิเลสตัวเอง กิเลสมันจะพาเราผิดศีลตลอดเวลา เราก็พยายามรักษาศีลไว้ ไม่ตามใจกิเลสที่จะทำผิดศีล ศีลเป็นการฝึกลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นไหมว่าทานก็สำคัญ ศีลก็สำคัญ ถัดไปที่ฆราวาสต้องเรียนนั้นคือภาวนา การภาวนามันมี 2 อันคือสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา มันอยู่ที่ว่าฆราวาสจะเอาแค่ไหน ฆราวาสพอใจที่จะภาวนาให้สงบ ให้จิตมีกำลังเพื่อจะไปสู้กับโลกก็ฝึกไป เป็นสมถภาวนา อีกอันหนึ่งคือวิปัสสนาภาวนา ก็มีหลัก มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เมื่อรู้หลักแล้วก็เดินเอา ช่วยตัวเองพยายามพัฒนาตัวเองไป ฝึกตัวเองอย่างนี้ทุกวัน มันก็จะอยู่ในเรื่องทาน ศีล ภาวนา สุดท้ายมันก็ลดละอกุศลลงไป แล้วก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อม

Page 33 of 59
1 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 59