เราต้องสู้กับตัณหาให้ได้

งานหลักของเราต้องสู้กับตัณหาให้ได้ มันเป็นเจ้านายบังคับบงการจิตใจ จิตใจก็ไปบังคับร่างกายให้พูดชั่ว ให้ทำชั่ว ให้เลี้ยงชีวิตชั่วต่อไปอีก มันมาจากความคิดชั่ว กิเลส ตัณหาทั้งหลาย มันซ่อนอยู่ข้างหลัง พอเรารู้ทัน มันจะทำงานไม่สำเร็จ กิเลส ตัณหาอะไรที่มีอยู่จะค่อยๆ อ่อนกำลังลง กุศลก็จะค่อยเจริญขึ้นๆ สติก็จะดีขึ้น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะดีขึ้น พอจิตเราตั้งมั่น มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำให้มากเลย ต่อไปสัมมาวิมุตติมันก็จะเกิด

การปฏิบัติทิ้งจิตไม่ได้

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตนเอง จับหลักตรงนี้ให้แม่นๆ แล้วเราจะก้าวหน้าได้ ถ้าเราเอาแต่ทำกรรมฐาน แล้วเราละทิ้งจิตของตนเอง มันจะก้าวมาไม่สู่จุดที่จิตมีสัมมาสติและสัมมาสมาธิเลย ก้าวขึ้นมาไม่ได้ พยายามแทบตาย เหน็ดเหนื่อยแทบตาย แต่ก็ไม่ได้อะไรเท่าไรหรอก เพราะมันทำไม่ถูก ไม่ได้หัวใจของการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นต่างหากล่ะ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไปเนืองๆ รู้ไปเรื่อยๆ รู้สบายๆ ถนัดอะไรก็ทำอันนั้นล่ะ แต่ให้ความสำคัญกับการรู้ทันจิตใจตนเอง ภาวนาอย่าทิ้งจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งปวง ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ หลวงปู่ดูลย์ก็สอน “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตมรรค” เห็นแจ่มแจ้งก็คือเห็นอะไร เห็นว่าจิตเองก็เป็นตัวทุกข์นั่นล่ะ ทันทีที่เห็นทุกข์ มันก็วาง เรียกเห็นทุกข์ก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา ก็อยู่ที่จิตทั้งหมด

จิตคือกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก

เราก็ปฏิบัติที่จิต จนมารู้แจ้งในจิต แล้วก็ปล่อยวางที่จิต ฉะนั้นตัวจิตนั้นล่ะ เป็นกุญแจที่จะไขตู้พระไตรปิฎกให้เรา ตู้พระไตรปิฎกไม่ได้อยู่ที่ในตู้หรอก อันนั้นเป็นความจำ ไปอ่านเท่าไรก็ได้ความจำ แต่ธรรมะตัวจริงอยู่ที่จิตเรา ตู้พระไตรปิฎกที่แท้จริงอยู่ที่จิตของเราเอง หัดไขกุญแจเข้าไป กุญแจก็คือมีสติ มีสมาธิ รู้เท่าทันจิตใจของตนเองให้มากๆ ไว้ เบื้องต้นเราจะได้สติ แล้วก็จะได้สมาธิ แล้วก็จะได้ปัญญา สุดท้ายก็จะเกิดวิมุตติ นี้คือเส้นทางที่เราจะฝึก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้จะเร็วที่สุดเลย

หลักของการปฏิบัติ

หลักของการปฏิบัติ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้ไปเรื่อยๆ จิตหมดแรง กลับมาทำสมถะ ทำความสงบเข้ามา พอสงบแล้วซื่อบื้ออยู่เฉยๆ กระตุ้นมันให้มันตั้งมั่นมาทำงาน ไม่ใช่สงบเฉยๆ กระตุ้นมันโดยการสังเกตความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตเอาเรียกว่าจิตตสิกขา เราก็จะได้จิตที่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่นแล้ว แยกรูปนามเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน แยกนามต่อไปอีก แยกรูปต่อไปอีกก็ได้ รูปหายใจออกก็อันหนึ่ง รูปหายใจเข้าก็อันหนึ่ง รูปยืนก็อันหนึ่ง รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอนก็เป็นคนละอันๆ ไป ส่วนนามเราก็แยกได้ เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์มันก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง นี่แยกๆๆ ออกไป ต่อไปจะเห็นสภาวธรรมทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจตรงนี้ด้วยใจจริงๆ คือพระโสดาบัน ฉะนั้นเราจะเข้าใจได้ก็ต้องพาจิตให้มันเห็นของจริงซ้ำๆๆ ลงไป แล้วพอดูๆ แล้วหมดกำลัง กลับมาทำสมาธิ กลับมาทำสมถะใหม่ ชาร์จพลังใหม่ คล้ายๆ แบตหมดแล้ว มาชาร์จแบต ถ้าจิตมีกำลังก็อย่าเฉยๆ อยู่ อย่าสงบโง่ๆ อยู่ ดูกายดูใจมันทำงานต่อไป อันนี้คือทั้งหมดของการปฏิบัติ

รู้สภาวะที่เรารู้ได้

พวกเราต้องหัดรู้สภาวะให้ได้ แล้วสภาวะที่เราต้องหัดรู้ คือสภาวะที่เรารู้ได้ เราเห็นได้ อะไรที่เราไม่รู้ไม่เห็น ไม่ต้องหรอก ค่อยๆ ดูไป แล้วใช้จิตเป็นวิหารธรรม สิ่งที่เกิดกับจิตนั้นก็เวทนาเกิดร่วมกับจิต สัญญาเกิดร่วมกับจิต สังขารเกิดร่วมกับจิต แล้วก็จิตก็ทำงานทางอายตนะ ตรงที่เห็นจิตทำงานทางอายตนะ มันขึ้นสู่ธัมมานุปัสสนาแล้ว เราดูสิ่งที่เราดูได้ อันไหนเราทำไม่ได้ อย่าไปทำ ทำที่ทำได้

การปฏิบัติต้องลงมือทำ

ตัวที่จะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้แท้จริงคือการลงมือภาวนา หรือลงมือปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา ถ้าเราภาวนา เบื้องต้นก็ฝึกให้ได้สติ เบื้องปลายก็ฝึกให้ได้ปัญญา กระบวนการในการฝึกฝน อยู่ในหลักธรรมคำสอนเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องใหญ่ พวกเราชาวพุทธต้องรู้จัก มันเป็นธรรมะที่อัศจรรย์มากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านรวบรวมหลักของการปฏิบัติที่สำคัญๆ ลงมาอยู่ในสูตรอันนี้ล่ะที่เราจะปฏิบัติกัน

อย่าทิ้งการรู้ทุกข์

เราจะภาวนา อย่าทิ้งอริยสัจ อย่าทิ้งการรู้ทุกข์ ดูลงไปขันธ์นั่นล่ะทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร มันจะละสมุทัย จะแจ้งพระนิพพานขึ้นมาเอง ไม่ต้องหา ไม่ต้องหาทำอย่างไรจิตเราจะถึงพระนิพพาน ทำอย่างไรจิตจะถึงพระนิพพาน เห็นไหมมันมีโลภเจตนาอยู่ ดูความจริงของมันเรื่อยๆ ไปจนจิตมันแจ้งขึ้นมา จิตนี้คือทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะเป็นความว่าง เป็นสุญญตา เป็นอนัตตา แล้วมันก็วางของมันเอง ไม่มีใครวางได้หรอก มันวางของมันเอง พอวางแล้ว พอเวลาเรานึกถึงพระพุทธเจ้า จิตกับพระพุทธเจ้ากลืนเป็นอันเดียวกันเลย จิตกับพระธรรมก็กลืนเป็นอันเดียวกัน จิตกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็กลืนเป็นอันเดียวกัน

สันตติขาด

เราต้องฝึกให้ได้จิตรู้ขึ้นมา แล้วสันตติคือความสืบต่อของจิตจะขาด จิตจะไม่ได้มีดวงเดียวยาวๆ แล้ว แต่จะขาดเป็นช่วงๆๆ แล้วตรงนี้เราจะเห็นแต่ละช่วงไม่เที่ยง จิตรู้ไม่เที่ยง จิตหลงไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง ตรงที่จิตหลง จิตหลงไปดูก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปฟังก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปเพ่งก็ไม่เที่ยง จิตมีความสุขก็ไม่เที่ยง จิตมีความทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง เราจะเห็นทุกดวงมันไม่เที่ยงๆๆ ไป ตรงนั้นล่ะที่เรียกว่าเราเห็นเกิดดับ ถ้าสันตติไม่ขาดไม่เห็นเกิดดับหรอก สันตติจะขาดได้ จิตต้องตั้งมั่น ต้องได้ผู้รู้ขึ้นมาก่อนสันตติถึงจะขาด

ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม

เรามีงานที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องทำ เราผ่านความยากลำบากมามากมายแล้ว จนกระทั่งได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีศรัทธา ได้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์ ได้ฟังธรรม ทำชิ้นสุดท้ายของเราให้ดี ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม อย่างที่ว่ามาทั้งวันตั้งแต่เช้านี้ ฟังไม่ทันก็ไปดู YouTube เอา สักประเดี๋ยวเขาก็จะเอาไปขึ้นให้ฟังแล้ว ฟังแล้วฟังอีก ปกติสิ่งที่หลวงพ่อสอนแต่ละครั้ง เกือบทั้งหมด ธรรมะแต่ละกัณฑ์เกือบๆ ทุกๆ กัณฑ์ เกือบ ไม่ทั้งหมดหรอก กัณฑ์เดียวเรื่องเดียว พอจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสิ่งที่สอนไม่ได้มีการเก็บออม ซ่อนเร้น เคล็ดวิชาชั้นสูงเอาไว้ ไม่ได้ซ่อนไว้ ให้หมดแล้ว อยู่ที่เรารับได้แค่ไหนต่างหาก ไปทำเอา ชีวิตจะได้ร่มเย็นเป็นสุข

นั่งสมาธิ ภาวนา ยุบหนอ พองหนอ กำหนดตามอาการที่เป็น เห็นข้อเสียในตัวเองก็รู้สึก ช้าบ้างเร็วบ้าง

คำถาม: ปฏิบัติในรูปแบบทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง เดินจงกรม …

Read more

Page 27 of 63
1 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 63