เป็นคนรักกายมาก แต่ดูกายแล้วไม่มีความสุข ใจมันเฉย ไม่สดชื่น พอมาดูจิต ใจตื่นเบิกบาน

มีปัญญาแก่กล้า ดูกายแล้วจืดๆ เฉยๆ ถ้าดูจิตมันโลดโผน ทำงานสารพัด ดูจิตก็ได้ แต่ไม่ทิ้งสมาธิ ถ้าทิ้งสมาธิแล้วจะดูจิตไม่ได้จริง จิตมันจะไปว่างๆ อยู่ข้างนอก ฉะนั้นเราก็อยู่กับกรรมฐานของเราไป หายใจไป พุทโธไป จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตสงบก็รู้ จิตหนีไปก็รู้ ถ้าจิตไม่มีที่อยู่ มันหนีไปเราไม่รู้หรอกว่ามันหนี แต่ถ้าจิตมันมีฐานที่มั่นอยู่ พอมันหลุดออกจากที่มั่นของมัน เราจะรู้ว่ามันเคลื่อนไปแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เรามีวิหารธรรมเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าไม่จำเป็นพระพุทธเจ้าไม่สอนหรอก ในสติปัฏฐาน 4 ตัวแรกเลยที่ท่านสอนคือการมีวิหารธรรม ให้ใช้กายในกายเป็นวิหารธรรม เวทนาในเวทนาเป็นวิหารธรรม เริ่มต้นก็คือต้องมีวิหารธรรมก่อน

ภาวนาโดยดูร่างกายที่หายใจและใจที่หลงคิด รู้สึกยังไม่ค่อยพัฒนา

ภาวนาที่ปฏิบัติมีสติ มีสมาธิ ลงมือปฏิบัติอะไรนั้นก็ดีทั้งสิ้น ค่อยๆ สะสมไป แต่ว่าเราอย่าโลภ ภาวนาถือว่าเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ได้หวังผลว่าจะต้องได้อันนั้น จะต้องได้อันนี้ จะต้องได้เมื่อนั้นเมื่อนี้ภาวนาแบบไม่หวังผล ถึงเวลาสงบ ถึงเวลาควรสงบก็ทำความสงบ ถึงเวลาควรเจริญปัญญาดูความจริงของกายของใจ ก็เจริญปัญญาไป ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อะไรเมื่อไร

ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ แต่2-3 เดือนนี้ฟุ้งซ่านเยอะ และถูกอารมณ์ครอบงำง่าย

เราอยู่กับปัจจุบันจริงๆ ร่างกายเรานั่งอยู่นี่ ไม่เห็นจะถูกใครทำร้าย ร่างกายหายใจอยู่นี่ ก็ไม่มีใครมาทำร้าย จิตใจก็ไม่เห็นจะต้องทุกข์ร้อนอะไร มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เพราะมีความสุขอยู่ในปัจจุบัน พอเราไปเสพข่าวมากๆ ใจเราเศร้าหมอง ถ้าเสพข่าว 3 เดือนก็เศร้าหมอง 3 เดือน ฉะนั้นเสพเท่าที่จำเป็น ดูข่าวเท่าที่จำเป็น ข่าวลือข่าวอะไรก็อย่าไปสนใจมัน เอาข่าวที่มันเป็นทางการจริงๆ ที่ภาวนาอยู่ใช้ได้ ภาวนาอยู่ดี ขันธ์มันแยกได้ชัดเจนดี เราอย่าไปยุ่งกับโลก เราคอยดูของเราไป ฉวยโอกาสตอนนี้ยุ่งกับคนอื่นน้อยๆ ดูตัวเองเยอะๆ

เป็นคนโกรธง่าย เซลฟ์จัด ขาดความเมตตา ฟุ้งซ่านมาก พยายามรักษาศีลและฝึกตนมา 6 ปีแล้ว ดูเหมือนว่ามันไม่ลดลงกลับจะเพิ่มขึ้น

เราไม่จำเป็นต้องทำกรรมฐานแบบจะไปดูจิตดูใจอะไรอย่างเดียว รู้สึกร่างกายไว้ ดูไปสิ ร่างกายไม่เคยโกรธเลย ความโกรธเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แทรกเข้ามา รู้สึกกายบ่อยๆ แล้วจะเห็นร่างกายเป็นวัตถุธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ความโกรธก็ไม่ใช่ตัวเรา ความโกรธไม่ใช่ร่างกายด้วย ความโกรธไม่ใช่จิตใจด้วย ค่อยๆ แยกๆๆ ไป แล้วก็เจริญเมตตาให้เยอะหน่อย วิธีเจริญเมตตาไม่ใช่นั่งท่อง วิธีเจริญเมตตาก็คือหัดเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่างเราโกรธใครเกลียดใคร เราลองสมมติตัวเองว่าถ้าเราเป็นเขา อยู่ในสถานการณ์อย่างเขา ในเงื่อนไข ในข้อจำกัดอย่างเขา เราจะคิดเหมือนเขาไหม บางทีเราคิดเหมือนกัน เราก็จะทำอย่างที่สิ่งที่เราไปว่าคนอื่นเขานั่นล่ะ พอเราเข้าใจ เกิดความเข้าใจแล้ว โทสะมันจะหาย

ภาวนาเก็บเล็กเก็บน้อย

เวลามีเวลาว่าง 5 นาที 2 นาที 3 นาทีอะไรอย่างนี้ อย่าทิ้งเปล่าๆ อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป อยู่ก็เหมือนอยู่บ้าน อยู่สบายๆ ไม่ได้อยู่คุก เวลาจิตต้องการไปรู้อารมณ์อื่นๆ มันจะไหลไป ส่วนใหญ่ก็ไหลไปคิด ให้เรามีสติรู้ทัน ฝึกอย่างนี้มากๆ มากที่สุดที่จะมากได้ มีนาทีหนึ่งก็ฝึกนาทีหนึ่ง มี 5 นาทีก็ฝึก 5 นาที 10 นาทีก็เอา เก็บเล็กเก็บน้อยทั้งวัน ถ้าทั้งวันจิตเราออกข้างนอก ไม่เคยกลับบ้าน คือทิ้งวิหารธรรมไป จิตหนีไปตลอด ตกเย็นจะไปนั่งภาวนา ไปเดินจงกรม ทำไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน เพราะมันฟุ้งมาทั้งวันแล้ว จิตมันก็เหนื่อย พอจิตเหนื่อย พอไปนั่งสมาธิ ก็นั่งหลับ หรือบางคนมันฟุ้งแล้วมันยังฟุ้งได้ไม่ถึงใจ พอนั่งสมาธิมันก็ฟุ้งต่อ ฉะนั้นถ้าเรามีวินัยในตัวเอง เราไม่ทิ้งเวลาเปล่าๆ มี 5 นาที 10 นาทีอะไร เก็บให้หมดเลย

อารมณ์บัญญัติ – อารมณ์ปรมัตถ์

อารมณ์มี 2 ส่วน อารมณ์หนึ่งเป็นสภาวธรรม อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่สภาวธรรม เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ ไม่มีสภาวะรองรับ อย่างเรื่องราวที่เราคิดอาศัยความจำ เรื่องราวที่คิดขึ้นมาท่านเรียกอารมณ์บัญญัติ อารมณ์บัญญัติไม่จัดว่าเป็นสภาวธรรม อารมณ์ที่เป็นสภาวธรรมมันมี 3 อย่างคือรูปธรรม รูปที่จิตไปรู้เข้าเป็นอารมณ์ เรียกอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นอารมณ์จริงๆ เป็นของมีจริง มีไตรลักษณ์ เวลาดูที่จะเจริญปัญญา ต้องเห็นสภาวธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

รู้ทันความปรุงแต่งของจิต

ค่อยภาวนาถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าความปรุงแต่งทั้งหลายคือทุกข์ พอรู้แล้ว ปัญญามันแก่รอบ มันก็ไม่เอาแล้ว ความปรุงแต่ง จะปรุงชั่ว จะปรุงดี หรือพยายามจะไม่ปรุง มันก็คือปรุง ก็คือทุกข์ทั้งหมด พอจิตมันพ้นจากความปรุงแต่ง มันก็เข้าถึงความสุขที่อยู่เหนือความปรุงแต่ง ความสุขของความสงบ ความสุขของการพ้นความเสียดแทงทั้งหลาย ความสุขของการไม่มีภาระของใจ ใจมันมีความสุขขึ้นมา

เรียนรู้ความจริงของโลก

เรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจไป วันหนึ่งก็จะรู้ว่า ในโลกนี้อะไรมีคุณค่าบ้าง ในโลกมีแต่ของชั่วคราว สิ่งที่มีคุณค่าคือธรรมะ แล้วยิ่งเราเข้าใกล้ธรรมะเท่าไร จิตใจเรายิ่งเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ใช่เป็นทาส
อยู่กับโลกเป็นทาสมันหนักขึ้นทุกที เป็นทาสของเงินทอง ของทรัพย์สิน เป็นทาสของครอบครัว เป็นทาสของหน้าที่การงาน เป็นทาสของชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นทาสของความโลภต่างๆ เป็นทาสของกาม หิวตลอดเวลา เราเข้าใจความจริง ร่างกายนี้หาสาระไม่ได้ การที่จะเอาตัวเองให้เป็นทาสมันจะลดลง

วิหารธรรมที่เหมาะกับเรา

หาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียอย่างหนึ่ง ไปดูเอาควรจะอยู่กับอะไร เช่น อยู่กับลมมันละเอียดไป หลงยาว ไม่ค่อยจะรู้เนื้อรู้ตัวเลย ก็ใช้ของที่หยาบขึ้น รู้ยืน เดิน นั่ง นอน มันหยาบไปก็ใช้กลางๆ ขยับก็รู้ไป มันพอดีๆ ไม่มากไปไม่น้อยไป หรือจะดูเวทนา แนะนำให้ดูเวทนาทางใจ ถ้าจะดูจิต จิตของเราขี้โลภ เราก็ใช้ความโลภเป็นตัวหลักเป็นวิหารธรรม จิตของเราขี้โกรธก็ใช้ความโกรธเป็นวิหารธรรม จิตของเราฟุ้งซ่านก็ใช้ความฟุ้งซ่านเป็นวิหารธรรม ก็ต้องค่อยๆ หัดดูไป เดี๋ยวก็ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา สุดท้ายก็จะไปรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ก็ได้ธัมมานุปัสสนาเหมือนกัน

พ้นทุกข์ด้วยอริยสัจ 4

เวลาเราภาวนา ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ต้องพัฒนาสติ ไม่มีสัมมาสมาธิ เราก็ต้องพัฒนาสัมมาสมาธิ หรือเราไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง เรียกว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็ต้องศึกษา ศึกษาจากพระไตรปิฎกจากอะไรนี่ ให้ได้สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น เป็นทฤษฎีชี้นำว่าเราจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ฉะนั้นไม่ว่าเราจะแก้ปัญหาทางโลก หรือเราจะแก้ปัญหาทุกข์ทางจิตใจของเรา หลักมันก็ตรงกันนั่นล่ะ เพราะสัจจะความจริงก็ต้องเป็นความจริงในทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่เป็นความจริงเฉพาะในวัด ไปแก้ปัญหาชีวิตจริงทำไม่ได้ อันนั้นด้อยเกินไป ศาสนาพุทธไม่ได้ด้อยอย่างนั้น ที่หลวงพ่อสอนพวกเราซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็สอนอยู่ในเรื่องของอริยสัจนั่นเอง

Page 37 of 63
1 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 63