ดูสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดูหลงไปคิดแล้วรู้ว่าหลง

ต้องรู้อย่างหนึ่ง จิตที่หลงกับจิตที่มาอยู่กับลมหายใจแล้วพุทโธนี่เป็นคนละดวงกัน ฉะนั้นเราเวลาจิตหลงไป เราไม่ต้องไปดึงคืนมาอยู่ที่ลมหายใจ จิตที่หลง หลงแล้วก็แล้วไป ทิ้งมันไปเลย กลับมาเกิดจิตดวงใหม่ อยู่กับลมหายใจอยู่กับพุทโธ ต่อไปเราก็จะเห็นจิตมันก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตหลง นี่จิตก็ค่อยๆ พัฒนาไป

กลัวความตายมาก เบื่อโลก รู้ทันก็ไม่ดับ และเครียด อยากได้วิธีสู้กับมัน

รากเหง้าของทั้ง 3 ปัญหา มันมีอันเดียวคือการรักตัวเอง ยาที่ตรงที่สุดก็คือการดูลงมา สิ่งที่เรียกว่าตัวเราๆ นี่ มันเป็นตัวเราจริงไหม ตัดตรงเข้าไปดูตรงนี้เนืองๆ ถ้าทำตรงนี้ได้ ตัวอื่นเราจะแก้ได้เอง ถ้าใจมันลดความรักในตัวตนล่ะก็ ใจมันก็จะไม่ทุรนทุราย ไม่กลัว ไม่กังวล ดูลงมาในร่างกายนี้ที่เรารัก ที่เราหวงแหนนี้ เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ธาตุที่ไหลเวียน ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ค่อยๆ สอนมันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตก็จะผ่านตัวนี้ได้

ภาวนาสม่ำเสมอ บางช่วงมีสติอัตโนมัติ แต่บางช่วงฟุ้งซ่านมาก

ขยันภาวนา ชีวิตก็จะดี มีความสุขมากขึ้น แยกขันธ์เป็นแล้ว เราก็ดูแต่ละขันธ์มันแสดงไตรลักษณ์ของมันไป แต่ละขันธ์ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูไปเรื่อยๆ พอดูไปสักช่วงหนึ่ง จิตฟุ้งซ่านก็กลับมาทำความสงบ พอสงบพอสมควรแล้ว เราก็ออกไปดูขันธ์มันทำงานต่อ อย่าสงบยาวนานเป็นวันๆ เสียเวลา สงบพอให้ตั้งหลักได้ ไม่ตะลุมบอนกับอารมณ์

เริ่มต้นจนถึงสัมมาวิมุตติ

เราต้องฝึกมีความคิดก็ถูก มีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก มีการเลี้ยงชีวิตถูก แล้วก็ลงมือภาวนา มีเป้าหมายที่ถูก ลดละกิเลสเจริญกุศล จะลดละกิเลสเจริญกุศลได้ ต้องมีสติ ระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจไป พอมีสติถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องหรือตัวผู้รู้ จิตที่เป็นผู้รู้คือจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้องมันจะเกิดขึ้นเอง อาศัยสติที่บริบูรณ์ จะทำให้สัมมาสมาธิเจริญขึ้นมาบริบูรณ์ได้ พอจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว สติระลึกรู้รูป รู้นาม จะเห็นแต่ไตรลักษณ์ พอเห็นอย่างแท้จริง เรียกว่าเราเจริญในญาณทัศนะที่ถูกแล้ว ทำวิปัสสนาญาณอยู่ถูกต้องเรียกสัมมาญาณะ ตัววิปัสสนาญาณนั่นล่ะ สุดท้ายอริยมรรคอริยผลมันก็เกิด สัมมาวิมุตติเกิดขึ้น นี่คือเส้นทาง

มีสติอยู่กับปัจจุบัน

จิตไม่อยู่กับปัจจุบัน จิตมัวแต่ระลึกชาติ คิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่เคยผ่านมาแล้ว หรือจิตคำนึงไปถึงอนาคต กังวลในอนาคตจะทำอย่างไรๆ กลัวความทุกข์ในอนาคต หรืออยากมีความสุขในอนาคต จนลืมกลัวความทุกข์ในปัจจุบัน ลืมที่จะรู้จักความสุขในปัจจุบัน ห่วงอนาคตจนทิ้งปัจจุบัน อนาคตมันเหมือนความฝัน ปัจจุบันมันเป็นความจริง มัวแต่ห่วงความฝันแล้วทิ้งความจริง ไม่จัดว่าฉลาด

มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง

อาศัยมีสติรู้พฤติกรรมของจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว รู้ไป จิตไม่เป็นกลาง ยินดียินร้ายขึ้นมา ยินดีต่อความสุข ยินร้ายต่อความทุกข์ ยินดีต่อกุศล ยินร้ายกับอกุศล รู้ทัน จิตจะเป็นกลางด้วยสติ พอรู้เรื่อยๆ ไป ต่อไปก็เป็นกลางด้วยปัญญา รู้ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว เสมอภาคกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ พอเป็นกลางด้วยปัญญา จิตจะหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตจะพ้นจากภพ แล้วสัมผัสพระนิพพาน

การดูจิต

กฎของการดูจิต ข้อหนึ่ง ให้สภาวะเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามีสภาวะเกิด ข้อสอง ระหว่างดูสภาวะไม่ถลำลงไปดู ดูแบบคนวงนอก ข้อสาม เมื่อรู้สภาวะแล้วจิตหลงยินดีให้รู้ทัน จิตหลงยินร้ายให้รู้ทัน จิตก็เป็นกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับสภาวะ สุขหรือทุกข์ก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีหรือชั่วก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นถึงไตรลักษณ์

ป่วยหนักแล้วทำอย่างไร

อาศัยนาทีสุดท้าย ช่วงสุดท้ายของชีวิตนี่ล่ะเจริญสติไว้ แยกขันธ์ไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเหลือแต่ความเจ็บปวดจริงๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับร่างกาย ร่างกายไม่ได้เจ็บ เพียงแต่ความเจ็บมันมาอาศัยอยู่ในร่างกาย แล้วจิตใจก็ไม่ได้เจ็บไปด้วย จิตใจเป็นคนรู้คนดู ถ้าเราสามารถรักษาจิตใจให้เป็นคนรู้คนดูได้ จิตของเราดีแล้ว ถ้าตายไปอย่างไรก็ไปสุคติ เพราะเรามีสติรักษาจิตเอาไว้ได้อย่างดีแล้ว เป็นกุศลอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดเลย

รู้ตัวเร็วบ้างช้าบ้าง แล้วจึงเริ่มต้นกับการดูกายหายใจใหม่ รู้สึกว่าบางวันภาวนาได้ดี บางวันภาวนาไม่ค่อยดี

คำถาม:

ทุกวันปฎิบัติในรูปแบบโดยการนั่งสมาธิ ดูกายหายใจผสมกับภาวนาพุทโธ วันละ 20 – 30 นาที และปฎิบัตินอกรูปแบบ โดยการดูกายเคลื่อนไหว ดูกายหายใจ จิตคิด จิตไหล หรือจิตมีกิเลสก็คอยรู้ตัว รู้แล้วเห็นสภาวะนั้นดับไป โดยรู้ตัวเร็วบ้างช้าบ้าง แล้วจึงเริ่มต้นกับการดูกายหายใจใหม่ รู้สึกว่าบางวันภาวนาได้ดี บางวันภาวนาไม่ค่อยดี ขอคำชี้แนะเพื่อภาวนาต่อไปครับ

 

หลวงพ่อ:

ภาวนามันก็เจริญบ้างเสื่อมบ้าง เป็นธรรมชาติ มันถูกแล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องมีเครื่องอยู่ แล้วก็อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป อย่างเมื่อกี้หลวงพ่อเทศน์เรื่องปัญญานำสมาธิ ปัญญานำสมาธิไม่ใช่แปลว่าไม่มีสมาธิ ก็ต้องมีสมาธิคือขณิกสมาธิ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีแล้วรู้อะไรอย่างนี้ เราจะได้ขณิกสมาธิ ต้องฝึก ทุกวันทำทุกวัน สมาธิของเราก็จะค่อยๆ เข้มแข็งมากขึ้นๆ พอสมาธิมันเข้มแข็งแล้ว แล้วเราคอยรู้ทันเวลาจิตมันเคลื่อน จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แล้วมันจะเห็นความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว เป็นของแปลกปลอม พอร่างกายเคลื่อนไหวมันก็จะเห็นเลย ร่างกายก็ไม่ใช่จิต เป็นของถูกรู้ถูกดู

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่ถูกรู้ถูกดู ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราจะเดินปัญญาได้ก็ต้องอาศัยสมาธิ แต่ว่าเป็นแค่ขณิกสมาธิ ฉะนั้นปัญญานำสมาธิไม่ได้แปลว่าไม่มีสมาธิ แต่ต้องมีสมาธิ คือขณิกสมาธิต้องมีก่อน ฉะนั้นถ้าเข้าใจตัวนี้เราก็พยายามฝึกจิตของเราให้มีสมาธิ มีขณิกสมาธินี่ล่ะ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตไปทำอะไรรู้ทัน แล้วก็พอรู้ทันแล้วมันก็จะเป็นผู้รู้ขึ้นมา มันก็มาหายใจเข้าพุท – ออกโธอีก หนีไปอีกรู้อีก มันหนีได้ 2 ลักษณะ หนีไปคิดกับหนีไปเพ่ง มันหนีอย่างไรเราคอยรู้เอาก็แล้วกัน ฝึกจนชำนิชำนาญ ต่อไปจิตขยับนิดเดียวเห็นเลย จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ได้ทั้งวัน ในที่สุดจิตเราก็จะเป็นผู้รู้จริงๆ ในทุกๆ ปรากฏการณ์ อยู่ในชีวิตประจำวันจิตก็ยังเป็นผู้รู้ เห็นโลกธาตุนี้ว่างเปล่า ไม่มีตัวมีตนอะไรหรอก

เราภาวนาไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็นตัวจิตเองก็ว่างเปล่า ไม่มีตัวมีตนหรอก ถ้าเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นโลก เห็นขันธ์ว่างเปล่า เห็นจิตที่ไปรู้ขันธ์ว่างเปล่า ตรงนั้นเราก็จะได้ธรรมะแล้ว นี้ก็อาศัยฝึกสมาธิทีละขณะๆ นี่ล่ะ ต้องทำ มีเครื่องอยู่ ถ้าไม่ทำจิตเดินปัญญาไม่ได้จริง มันจะฟุ้ง.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

ยังฟุ้งอยู่มาก บางครั้งพอเริ่มรู้สึกฟุ้งซ่าน ก็จะเริ่มคิดคำพูดของหลวงพ่อที่ว่า “ให้เห็นตามความเป็นจริง” พอดูไปสักพักความฟุ้งซ่านนั้นก็ค่อยคลายไป

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบโดยการนั่งสมาธิมา 2 เดือน ใช้พุทโธเป็นเครื่องอยู่ ถ้าฟุ้งมากจะใช้การสวดมนต์ หรือนับเลข 1 – 100 พร้อมดูลมหายใจ พอใจเริ่มสงบลง ก็จะกลับมาพุทโธพร้อมกับดูลมหายใจ เริ่มเห็นน้ำหนักของจิต เวลาที่มีความคิดหรือมีความรู้สึกเกิดขึ้นมากขึ้น แต่ยังฟุ้งอยู่มาก บางครั้งพอเริ่มรู้สึกฟุ้งซ่าน ก็จะเริ่มคิดคำพูดของหลวงพ่อที่ว่า “ให้เห็นตามความเป็นจริง” พอดูไปสักพักความฟุ้งซ่านนั้นก็ค่อยคลายไป ไม่ทราบว่าที่คิดแบบนี้ผิดหรือไม่คะ

 

หลวงพ่อ:

ไม่ผิดหรอก แต่ต้องฝึกเพิ่มเติมไป สมาธิเรายังไม่แข็งแรง สมาธิมันยังไม่แข็งแรง พยายามฝึกมีเครื่องอยู่ ดีแล้ว หายใจเข้าพุท – ออกโธอะไรก็ทำทุกวันๆ จนกระทั่งมาอยู่ในชีวิตอย่างนี้ ถ้าเราไม่ได้เดินข้ามถนน ไม่ได้ขับรถ ไม่ได้ทำอะไรที่เสี่ยง เราก็ยังหายใจเข้าพุท – ออกโธได้ อย่างเราจะกินข้าวอะไรอย่างนี้ เราก็คอยรู้สึกๆ ไป เวลากินข้าวเราหายใจเข้า หรือหายใจออก ดูออกไหม เคยรู้ไหม เวลาเรากลืนอาหาร หายใจเข้า หรือหายใจออก โอ้นี่ยังไม่ใช่นักอานาปานสติตัวจริง ถ้านักอานาปานสติตัวจริงจะรู้เลย ตอนกินข้าว ตอนกลืนน้ำอะไรอย่างนี้ ตอนกลืนอาหารหายใจเข้า หรือหายใจออก รู้เอง หรือถ้าเราฝึกรู้สึกกายจนชิน ร่างกายขยับมันรู้เอง มันรู้สึกเอง ไม่ได้เจตนา ฉะนั้นเราไปทำสมาธิเพิ่มขึ้น หายใจเข้าพุทโธไปเรื่อยๆ หายใจเข้าพุท – ออกโธไปเรื่อยๆ จิตเราจะได้มีกำลัง

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564
Page 38 of 59
1 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 59