การภาวนาที่ละเอียดเข้าไป

เราภาวนาเรื่อยๆ เราก็เห็นสุขเกิดแล้วสุขก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วทุกข์ก็ดับ กุศลเกิดแล้วกุศลก็ดับ อกุศล โลภ โกรธ หลงเกิดแล้วมันก็ดับ จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วก็ดับ ตรงนี้ละเอียด กว่าที่จะรู้จิตสุขจิตทุกข์จิตดีจิตชั่ว คือเห็นจิตมันเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 จิตเกิดที่ตาดับที่ตา จิตเกิดที่หูดับที่หู จิตเกิดที่จมูกดับที่จมูก เกิดที่ลิ้นดับที่ลิ้น เกิดที่ร่างกายดับที่กาย จิตเกิดที่ใจก็ดับที่ใจ จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น จิตไม่ได้มีดวงเดียว หัดภาวนาทีแรกเรารู้สึกจิตมีดวงเดียวแล้วก็เที่ยวร่อนเร่ไปทางทวารทั้ง 6 คิดว่าจิตมีดวงเดียว ดวงนี้หลงไปดูพอรู้ทันมันก็วิ่งกลับมา มันหลงไปฟังพอรู้ทันมันก็วิ่งกลับมาเข้าฐาน เห็นจิตเหมือนตัวแมงมุม เดี๋ยวก็วิ่งไปข้างซ้ายเดี๋ยวก็วิ่งไปข้างขวา เดี๋ยวขึ้นข้างบนเดี๋ยวลงข้างล่าง แมงมุมมีตัวเดียววิ่งไปวิ่งมา พอเราภาวนาละเอียดเข้าๆ เราเห็นจิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น จิตเสวยอารมณ์อันไหนก็ดับพร้อมอารมณ์อันนั้น เกิดดับไปด้วยกัน มันถี่ยิบขึ้นมา

การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

การเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญมากเลย หลวงปู่มั่นท่านเคยสอนว่าทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน หัวใจอยู่ตรงนี้ เก่งเฉพาะตอนนั่งสมาธิตอนเดินจงกรมไม่ได้กินหรอก วันหนึ่งจะนั่งเท่าไรจะเดินเท่าไร เวลาส่วนใหญ่ถ้าภาวนาไม่เป็น โอกาสจะได้มรรคผลนิพพานยากเหลือเกิน การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หลักการง่ายๆ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัส มีใจก็คิดนึกไปตามธรรมชาติธรรมดา ไม่ห้าม ใจเราจะคิดดีคิดร้ายอะไร ห้ามได้ที่ไหน จิตมันเป็นอนัตตา

สัมมาสติเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน

สติที่แท้จริง ความหมายอันนี้คือสัมมาสติ ไม่ใช่สติธรรมดา สัมมาสติเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีวิธีอื่น ขั้นแรกเลยเราต้องมีวิหารธรรม วิหารธรรมแปลว่าเครื่องอยู่ของจิต ไม่ต้องหาว่าอันไหนเป็นวิหารธรรม ไม่ต้องคิดเอง พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ให้แล้ว สอนไว้ให้แล้ว ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็มี มหาสติปัฏฐาน เป็นชื่อพระสูตร สติปัฏฐานมีหลายสูตร ก็มีสติปัฏฐานย่อยๆ สติปัฏฐานเต็มภูมิเลยก็เรียกมหาสติปัฏฐาน วิธีฝึก เราจะต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ เครื่องอยู่ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ อันแรกเลยเรื่องกาย อันที่สองเรื่องเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ อันที่สามเรื่องจิต อันนี้จิตที่เป็นกุศลอกุศลทั้งหลาย อีกอันหนึ่งคือธัมมานุปัสสนา อันนี้กว้างขวางมากเลย ยังไม่ต้องเรียนก็ได้ เบื้องต้นเอาของง่ายๆ เรียนเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต พวกนี้ง่าย

วางขันธ์ได้ก็คือวางโลกได้

ถ้าดูจิตได้ ไม่นานเราก็จะเห็นจิตไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ตัวเราเพราะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บังคับอะไรไม่ได้ ถ้าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 มันก็อาศัยจิตเกิดขึ้นมา ถ้าเมื่อไรเราเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ก็จะไม่ใช่เรา โลกทั้งโลก จักรวาลทั้งจักรวาลก็ไม่ใช่เรา แล้วถ้าวันใดที่ภาวนาจนเห็นความจริงว่าจิตคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 ก็คือทุกข์ โลกก็คือทุกข์ จักรวาลทั้งหมดก็คือทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเลย จิตก็จะวางจิต วางจิตได้ก็คือวางขันธ์ได้ วางขันธ์ได้ก็คือวางโลกได้ ฉะนั้นหลุดพ้นที่จิตที่เดียวนี้เอง ก็จะหลุดพ้นจากขันธ์ 5 ทั้งหมดได้

มิจฉาสมาธิ

ถ้าสมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปทำสมถะโอกาสพลาดก็สูง หลงนิมิตเอา สมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปเดินวิปัสสนา ก็ถูกวิปัสสนูปกิเลสเอาไปกิน หลอก คิดว่าบรรลุธรรมแล้ว บางทีคิดถึงขนาดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ฉะนั้นเลยต้องเรียนกันให้มากหน่อย เรื่องของสมาธิ คนที่ภาวนาแล้วพลาด ก็เรื่องพวกนี้ทั้งนั้น ภาวนาแล้วเพี้ยนบ้างอะไรบ้าง ไม่ได้เรียนถึงบทเรียนที่ชื่อจิตตสิกขา ถ้าเรียนรู้จิตตัวเองไม่ได้ สมาธิที่ดีที่สมบูรณ์เกิดไม่ได้หรอก

กตัญญูกับพระพุทธเจ้า

เราเป็นคนเราต้องรู้จักคำว่ากตัญญู บรรพบุรุษมีบุญคุณ คนไม่กตัญญูใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี เราอยากดูว่าคนไหนดีไม่ดี ดูว่าเขากตัญญูไหม ความกตัญญูกว้างขวาง กตัญญูต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ ใหญ่โตขึ้นมาก็คือกว้างขึ้นมาก็คือ กตัญญูกับชาติบ้านเมือง แล้วเราเป็นชาวพุทธเราก็ต้องกตัญญูกับพระพุทธเจ้าด้วย การจะกตัญญูกับพระพุทธเจ้า คือเราต้องเป็นลูกที่เชื่อฟังท่าน อะไรที่ท่านห้ามอย่าทำ อะไรที่ท่านบอกว่าควรทำต้องทำ สิ่งที่ท่านห้ามเราก็คืออย่าทำชั่ว ตั้งอกตั้งใจรักษาศีลให้ดี ให้เราฝึกจิต ให้เราเจริญปัญญา

ศีลจำเป็นสำหรับการภาวนา

การปฏิบัติ เราต้องให้ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ปัญญาต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไปๆ มีแล้วก็หายไป ไม่มีอะไรคงที่ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ถ้าศีลเราไม่ดี สมาธิเราก็พัง พอศีลไม่ดี ใจจะถูกกิเลสเย้า ยั่วยวน ชักจูงไป จิตก็ฟุ้งซ่าน สมาธิเราก็เสีย ไม่ตั้งมั่น แล้วถ้าเราไม่มีศีล เราไปเจริญปัญญา มันจะเป็นปัญญาแบบคนทุศีล ปัญญาแบบตามใจกิเลสปกป้องกิเลส เข้าข้างกิเลส เพราะฉะนั้นตั้งใจ ศีลไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ทำแล้วมีอานิสงส์มาก เราจะได้ประโยชน์ในปัจจุบันได้ประโยชน์ในอนาคต ได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

ในชีวิตประจำวันมีสติรู้สึกเมื่อจิตเคลื่อนไปรู้สึกทางกาย ได้ยินทางหู เห็นทางตา คิดทางใจ จิตไปอยู่ตรงไหนเป็นเราตรงนั้น พยายามมีสติทั้งวัน แต่ทำไม่ได้

คำถาม: ภาวนาในรูปแบบนั่งสมาธิก่อนนอนประมาณ 30 นาที ใช้ล …

Read more

เรียนปริยัติแล้วต้องลงมือปฏิบัติ

ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ

พ้นทุกข์เพราะรู้ความจริง

พอจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเกิดปัญญาเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจ เมื่อเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจอย่างถ่องแท้แล้ว จะรู้เลยขันธ์ 5 มันไม่มีอะไรหรอกขันธ์ 5 ก็มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ รูปนาม กายใจนี่มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ พอใจมันยอมรับความจริงได้ ความอยากก็ไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิด ความยึดถือ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตก็ไม่เกิด ความทุกข์ทางใจก็ไม่เกิด จิตใจมันเป็นอิสระขึ้นมา พ้นทุกข์เพราะพ้นจากความปรุงแต่ง

Page 2 of 10
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10