งานพัฒนาจิต

การที่เราทำจิตตสิกขา คือการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นมีทั้งสมาธิที่ถูกต้อง มีทั้งสติที่ถูกต้อง จิตดวงนี้พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว บางคนพอมีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ไม่ไปต่อก็ตั้งอยู่อย่างนั้นล่ะ อันนี้ก็น่าเสียดาย เหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้เต็มแล้วเราก็ไม่ได้ใช้ วางทิ้งไว้ให้แบตเตอรี่เสื่อม เพราะฉะนั้นเราทำสมาธิเสร็จแล้ว เราก็ต้องมาเดินปัญญาต่อ นี่คืองานที่สอง งานฝึกจิตให้เกิดปัญญา

กรรมวาที กิริยวาที วิริยวาที

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเรียก กรรมวาที เน้นย้ำเรื่องกรรม การกระทำก็มีผลเป็นกิริยวาที เป็น วิริยวาที วิริยวาทีก็คือต้องมีความเพียร ต้องมีความเพียรต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความไม่รู้ของเรา
รู้ ต่อสู้ความอยาก ก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ต้องเจริญขึ้นมา เพียร เพียรลดละอกุศลทั้งหลายที่เรามีอยู่ เพียรเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ต้องมีความเพียร ต้องอดทน แล้วต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ชาวพุทธถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรมกับเรื่องผลของกรรม ก็เป็นชาวพุทธไม่ได้ ชาวพุทธเราเชื่อเรื่องกรรม “เราทำกรรมอันใดไว้จะเป็นบุญหรือเป็นบาป เราก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป” จะเชื่ออย่างนี้ ฉะนั้นอะไรที่งมงายไม่ใช่ชาวพุทธหรอก

ผู้มีปัญญามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

โลกไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ ผู้มีปัญญาก็หาที่พึ่งที่อาศัย ที่พึ่งที่อาศัยของเราก็คือสรณะนั่นเอง ในสังสารวัฏสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริงๆ ก็มีแต่พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของอื่นไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่ง ที่อาศัยได้ชั่วครั้งชั่วคราว ทำอย่างไรเราจะสามารถมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์มาเป็นสรณะ และเป็นที่พึ่งในจิตใจของเราได้ ตัวนี้เราจะต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ สิ่งที่ต้องรักษาคือศีล สิ่งที่ต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอก็เรื่องของสมาธิ สิ่งที่ต้องพัฒนาให้เจริญไปเรื่อยๆ คือปัญญา การทำ 3 อย่างนี้ 3 สิ่งนี้ จะทำให้เรามีจิตใจที่พัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็มีที่พึ่ง เราเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

สติ สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ

กระบวนการทั้งหมดเบื้องต้นต้องตั้งใจฝึก เบื้องปลายทุกอย่างจะอัตโนมัติ เบื้องต้นเราฝึกสติ เราก็ตั้งใจฝึกไป มีกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปแล้วจิตหนีไป เรารู้ ไปเพ่งอะไร เรารู้ รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ สติเราก็จะดี หรือดูตรงนี้ไม่ออก ก็เห็นร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนก็รู้อะไรอย่างนี้ สติมันก็จะดีขึ้นๆ สติปัฏฐานทำให้สติเกิดในเบื้องต้น ทำให้ปัญญาเกิดในเบื้องปลาย ฉะนั้นเราทำสติปัฏฐาน รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปไม่เจตนาจะรู้มันรู้ได้เอง ตรงนี้อัตโนมัติแล้ว

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องใหญ่

เราชาวพุทธ ขั้นต่ำสุดต้องรักษาศีลให้ได้ เอะอะจะเจริญปัญญา แต่ศีลไม่มีสมาธิมันก็ไม่มี สมาธิไม่มีปัญญามันก็ไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเรียน ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติอะไรบ้าง ปฏิบัติศีล ต้องตั้งใจรักษา แล้วก็ต้องปฏิบัติสมาธิ สมาธิมี 2 อย่าง สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว กับสมาธิที่จิตตั้งมั่นเห็นสภาวะทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์ รูปธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ นามธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ ต้องเห็น อันนี้สมาธิชนิดตั้งมั่นจะทำให้เราเห็น สมาธิสงบก็ไม่มีการเห็นอะไร ก็นิ่งๆ อยู่เฉยๆ มันก็มี 2 อย่าง แต่ก็มีประโยชน์ทั้ง 2 อย่าง มีสมาธิชนิดตั้งมั่นแล้วเจริญปัญญารวดไปเลย จิตจะหมดแรง ถ้าจิตจะหมดกำลัง วิปัสสนูปกิเลสจะแทรก เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสมาธิชนิดสงบด้วย แบ่งเวลาไว้เลยทุกวันๆ ต้องทำในรูปแบบ จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรมอะไรก็ได้ ทำไปแล้วก็ให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ถัดจากนั้นเราก็ทำกรรมฐานอย่างเดิมล่ะ แต่ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ เรามุ่งไปที่จิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไป เรารู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปเพ่งลมหายใจ เรารู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันสภาวะ ที่จริงสภาวะอะไรก็ได้ สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แล้วต่อไปปัญญามันก็ตามมา มันจะเห็นจิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางตาก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางหูก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่เที่ยงอะไรอย่างนี้ เห็น หรือจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ก็เป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตที่จะไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย คิดนึกทางใจ ก็ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ นี่เห็นอนัตตา

การปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนจบ

เริ่มต้นก็ถือศีล 5 แล้วค่อยพัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งจิตตั้งมั่น ด้วยการมีวิหารธรรมแล้วรู้ทันจิตไป ถัดจากนั้นเวลาสติระลึกรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปของนาม จิตตั้งมั่นเป็นแค่คนรู้คนดูอยู่ มีสมาธิมันก็จะเห็นความจริงของรูปนาม ว่ามันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เฝ้าดูเฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งแล้วมรรคผลมันเกิดเองล่ะ ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ เกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว

กฎของการดูจิต 3 ข้อ

ข้อที่หนึ่ง อย่าอยากรู้แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามันรู้สึกอะไร กฎข้อที่สอง ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างที่ว่า ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ อย่าเข้าไปแทรกแซงสภาวะ ความสุขเกิด ไม่ต้องไปหลงยินดีมัน ถ้าหลงยินดีให้รู้ทัน ความทุกข์เกิด ไม่ต้องไปยินร้าย ถ้ายินร้ายเกิด ให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปการปฏิบัติเอาไว้ในประโยคสั้นๆ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมดาของสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือต้องดับทั้งหมด เรียกว่าเรามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา คือเราเห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา” เห็นธรรมดา ใจยอมรับธรรมดาอันนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากทุกข์ คลายออกจากโลก คลายออกจากวัฏสงสาร

ขันธ์ทั้ง 5 ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถนัดดูกาย เราก็ดูกาย ถนัดดูเวทนา เราก็ดูเวทนา ดูกาย เราก็เห็นกายกับจิตเป็นคนละอัน ดูเบื้องต้น ต่อไปก็เห็นร่างกายนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางกาย เราก็ดูไป เราก็เห็นไตรลักษณ์ ถนัดดูเวทนาทางใจก็ดูไป แล้วสุดท้ายก็เห็นว่ามันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ กุศล อกุศลทั้งหลาย ดูไปก็เห็นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก สุดท้ายตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สุดท้ายเราก็เห็นขันธ์ 5 ทั้งหมดนั่นล่ะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

งานภาวนา 3 ขั้น

งานแรก คือตื่นขึ้นมา หลุดออกจากโลกของความคิดความฝันโดยที่ไม่เผลอไม่เพ่ง อันที่สอง คือ แยกขันธ์ออกมาให้ได้ งานที่สามของเรา คืองานเจริญวิปัสสนา พอเราแยกขันธ์ได้ เราก็จะเห็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนามเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่การทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา แล้วบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจอยาก นี่คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

Page 7 of 8
1 2 3 4 5 6 7 8