ฝึกจิตให้มีกำลังเพื่อเดินปัญญา

ตรงที่เราสามารถเห็นรูปธรรมร่างกายนี้เป็นไตรลักษณ์ เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เราสามารถเห็นได้ว่าสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เห็นกุศลอกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น อย่างความโกรธเกิดขึ้น เราก็เห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นเราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ลำพังเห็นตัวสภาวธรรมก็เป็นปัญญาขั้นต้น ยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา จะขึ้นวิปัสสนาต่อเมื่อเห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม เราจะเห็นได้จิตเราต้องมีกำลัง ที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา สังเกตให้ดีเถอะ สิ่งที่หลวงพ่อสอนเป็นเรื่องของการฝึกจิตให้มีกำลังในเบื้องต้น จิตเรามีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว ขั้นต่อไปก็คือเดินปัญญา

อย่าเป็นตุ่มรั่ว

เราพยายามพัฒนาสติของเราตั้งแต่ตื่นจนหลับ คอยเอาสตินี้ล่ะอ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ศีลเราจะดี สมาธิเราจะพัฒนา มันจะไม่มีลักษณะของตุ่มรั่ว เรามีสติอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ ถึงเวลานั่งสมาธิแป๊บเดียวก็สงบแล้ว ไม่ยาก แต่ถ้าฟุ้งซ่านทั้งวัน ไปนั่งสมาธิก็นั่งฟุ้งๆ แป๊บเดียวก็หลับ ทำไมมันหลับเก่ง จิตมันเหนื่อยเต็มทีแล้ว มันฟุ้งซ่านมาทั้งวันแล้ว มันต้องการพักแล้ว แต่ถ้าเรามีสติอยู่ทั้งวัน จิตมันไม่เหนื่อย ร่างกายอาจจะเหนื่อย พักผ่อนเสียหน่อยหนึ่งก็หาย แต่จิตมันไม่เหนื่อย สมมติร่างกายเราเหนื่อยมากจริงๆ ก็นอน นอนไปหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป จิตใจกลับไปคิดเรื่องงาน คิดเรื่องคนอื่น วุ่นวายขึ้นมา มีสติรู้ทัน

ฉะนั้นการปฏิบัติ พยายามมีสติรู้ทันจิตใจตัวเองไป ศีลมันก็จะเกิดขึ้น สมาธิมันก็จะเกิดง่าย พอเรามีสติ เรามีศีล เรามีสมาธิแล้ว มันเกื้อกูลให้เกิดปัญญา

ปัญญารวบยอด

ถ้าจิตเกิดคิดขึ้นมาแล้วเราเป็นคนรู้ ความคิดนั้นจะขาดสะบั้นทันทีเลย แล้วเราจะเห็นสภาวะสุขเกิดดับ เกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ ดีเกิดแล้วดับ ชั่วเกิดแล้วดับ รูปหายใจออกเกิดแล้วดับ รูปหายใจเข้าเกิดแล้วดับ รูปยืนเกิดแล้วดับ รูปนั่งรูปนอนรูปอะไรก็ตามเกิดแล้วก็ดับ เห็นซ้ำๆๆ สุดท้ายจิตมันจะสรุป มันปิ๊งขึ้นมาเลยนะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ทำไมใช้คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่จริงก็คือ Everything ที่เกิด ทุกสิ่งที่เกิด ทำไมไม่บอกว่าสุขเกิดแล้วดับทุกข์เกิดแล้วดับ เพราะปัญญาตัวนี้เป็นปัญญารวบยอด รวบยอดว่าทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น มันรวบยอดระดับนี้ มันถึงจะเข้าใจแจ่มแจ้งเลย กายเรานี้พอเราเข้าใจแจ่มแจ้ง ก็แค่วัตถุยืมโลกมาใช้ชั่วคราว ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกดีชั่วอะไรก็ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา จิตเองก็เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา เราสั่งจิตไม่ได้ สั่งจิตให้ดีตลอดก็ไม่ได้ ห้ามจิตชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้จิตสุขก็ไม่ได้ ห้ามจิตทุกข์ก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

บทเรียนชื่อจิตตสิกขา

ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง เรียกว่าจิตตสิกขา บทเรียนชื่อจิตตสิกขาจะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า จิตตสิกขา ก็ไปนั่งสมาธิแล้วก็เพ่งๆๆ เคลิ้มๆ ลงไป บอกนี่คือจิตตสิกขา ไม่เห็นได้เรียนรู้เรื่องจิตเลย มีแต่การน้อมจิตให้เซื่องซึมไป หรือเคร่งเครียดไป

ฉะนั้นให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปสบายๆ แล้วถ้าจิตมันไหลไปคิด รู้ทัน จิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทันไป ตรงที่เรารู้ทันความเคลื่อนไป ความหลงไป สติจะเกิด สติตัวนี้เป็นสัมมาสติ มันรู้เท่าทันจิตตนเอง

วิธีทำความรู้สึกตัว

การทำความรู้สึกตัว ไม่ต้องทำอะไร รู้สึกเข้าไปเลย ร่างกายนั่ง รู้ว่านั่ง ร่างกายเดิน รู้ว่าเดิน ไปดูในสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้บอกให้ทำอะไร “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” ให้ทำอะไร ให้รู้ รู้อะไร รู้ร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า เรารู้ร่างกายอยู่ ถ้ารู้กายรู้ใจอยู่ก็เรียกว่ารู้สึกตัวอยู่ แต่ถ้าหายใจไปด้วยความเคร่งเครียด ไม่เรียกว่ารู้สึกตัว แต่เรียกว่าทรมานตัวเองอยู่

“ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ให้รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ เมื่อนั่งอยู่ก็รู้ชัดว่านั่งอยู่ เมื่อนอนอยู่ก็รู้ชัดว่านอนอยู่” ขณะนี้นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องดัดแปลงจิตใจ รู้สึกไป ขณะนี้นั่ง สังเกตไหมได้ฟังหลวงพ่อบอกอย่างนี้ เรารู้สึกร่างกายนั่ง ใจเราไม่หนัก ใจเราไม่เครียด ถ้าเราจะรู้สึกร่างกายนั่งแล้วใจเราเครียดขึ้นมา แสดงว่าเราแอบไปปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว เราไปปรุงจิตให้มันแข็งๆ ทื่อๆ คิดว่าอย่างนี้คือการปฏิบัติ การปฏิบัติก็คอยรู้สึกตัวไว้ แล้วก็คอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของกายของใจไป

คุณของพระพุทธเจ้า

สิ่งที่เป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ คือตัวคุณธรรม คุณธรรมของพระพุทธเจ้ามีอะไรบ้าง ท่านมีปัญญาธิคุณ ท่านตรัสรู้ได้ด้วยตัวเอง เราที่เป็นสาวก กระทั่งอรหันตสาวก ไม่มีปัญญาธิคุณอันนี้ เรามีกรุณาธิคุณเหมือนพระพุทธเจ้าไหม สาวกมีไม่เหมือนพระพุทธเจ้า มีไม่เท่า พระพุทธเจ้าตกนรกไปช่วยคนก็ยังได้ สาวกก็ยังไม่ค่อยกล้าหาญขนาดนั้น ความกรุณานี้ไม่เท่าเทียม พอพิจารณามาถึงความบริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าบริสุทธิ์ พระสาวกก็บริสุทธิ์ เป็นอันเดียวกัน ความรู้สึกมันจะรู้สึกว่า จิตที่บริสุทธิ์นั้น ที่เราพัฒนาขึ้นมา กับความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วจะรู้ทันทีเลย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเป็นหนึ่งเดียวกันเลย จากสามก็เป็นหนึ่ง เป็นอันเดียวกันหมด

ฉะนั้นเราภาวนา วันหนึ่งเราจะเจอพระพุทธเจ้าตัวจริง เราจะเจอพระพุทธเจ้าตัวจริงได้ ใจเราต้องสะอาด เราต้องล้างความสกปรกด้วยศีล ด้วยธรรม

เส้นทางของคนจริง

การภาวนาต้องทำสม่ำเสมอ ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้ผลหรอก เราหยุดเมื่อไร กิเลสก็ลากเราลงต่ำไป กว่าจะดิ้นรนกลับขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง มันใช้แรงเยอะ ถ้าทำแล้วก็หยุดๆ มันก็อยู่ตรงนั้น หรือไม่ก็นานๆ ก็หมดกำลังที่จะปฏิบัติ มันต้องอดทนจริงๆ ตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปเลย จะปฏิบัติ ไม่ใช่ทำเล่นๆ ถ้าเราทำถูกแล้วก็ทำสม่ำเสมอ มันจะมีพัฒนาการที่มองเห็นได้ด้วยตัวเอง

เส้นทางนี้ไม่ได้ยาก แต่เส้นทางนี้เป็นเส้นทางของคนจริง หมายถึงคนที่เข้มแข็ง เอาจริงเอาจังในการที่จะเรียนรู้ตัวเอง เราทำกรรมฐานที่ดีถูกต้อง เราก็ได้รับผล ได้รับผลเป็นความร่มเย็นในจิตใจ การที่เราเจริญศีล สมาธิ ปัญญา นี่เรียกเราเจริญเหตุที่เป็นตัวมรรค ผลคือความพ้นทุกข์ มันก็จะมาถึงในวันหนึ่ง

ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ

ความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุดเลยสำหรับการปฏิบัติ พวกเราต้องรู้สึกตัวให้ได้ หลุดออกจากโลกของความฝัน มาอยู่ในโลกของความจริงให้ได้ มีกายก็ให้รู้สึกว่ามันมีร่างกาย มีจิตใจก็รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ ไม่ใช่มีกายก็ลืม มีใจก็ลืม คิดฝันเพ้อเจ้อตลอดเวลา ถ้าเราสามารถรู้สึกกายรู้สึกใจได้ เราก็จะสามารถเรียนรู้ ความจริงของร่างกายของจิตใจได้ ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา

จิตต้องมีกำลังของสมาธิ

การที่เราจะเกิดปัญญาแยกรูปแยกนามได้ จิตต้องมีกำลังของสมาธิ แล้วพอสติระลึกรู้กาย จะเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน ถ้าจิตเรามีกำลังตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนากับจิตก็คนละอันกัน แต่จิตตั้งมั่นมีกำลังอยู่ สติระลึกรู้กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ก็จะเห็นกุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้นนั้นกับจิต คนละอันกัน นี่เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ไม่ได้แยกด้วยใช้กำลังของจิตเข้าไปแยก แต่ถ้าจิตเรามีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้อง การแยกขันธ์เป็นเรื่องเบสิกมากเลย มันแยกเองเลย ไม่ต้องทำอะไรหรอก

อยากเป็นพระโสดาบัน

อยากเป็นพระโสดาบัน ขั้นแรกเลยจิตต้องตั้งมั่นขึ้นมาก่อน พอจิตตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นกายนี้ถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนา มันก็เห็นเวทนาถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่น สติระลึกรู้สังขารทั้งหลาย ความดีชั่วทั้งหลายที่ปรุงขึ้นมา ก็จะเห็นสังขารทั้งหลายไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ เกิดจิตไม่ตั้งมั่น หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางทีมีจิตตั้งมั่น แล้วก็หลงไปเกิดราคะ มีความสุข บางทีจิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ หลงไป เกิดโทสะ มีความทุกข์ในใจ บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ จิตก็มีความสุขอยู่ทั้งๆ ที่ตั้งมั่น บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ แล้วก็เป็นอุเบกขาอยู่ก็มี

Page 5 of 8
1 2 3 4 5 6 7 8