ทาน ศีล ภาวนา

พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา ให้รู้จักทำทาน หมายถึงแบ่งปันส่วนที่เกิน ให้ส่วนที่เกินไปกับคนที่เขาจำเป็นกว่าเรา อย่างเรามีเสื้อผ้าเยอะ ช่วงนี้ฤดูหนาว คนที่เขาขาดแคลน เขาจำเป็นต้องใช้เสื้อผ้าอันนี้มากกว่าเรา พวกเราไม่จำเป็นเท่าไร มีมากอะไรอย่างนี้ ท่านสอนให้รู้จักให้ทานเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว การฝึกจิตใจที่สูงขึ้นมาคือการรักษาศีล หลวงพ่อแนะนำ พวกเราควรจะถือศีล 5 ให้ได้ ศีล 5 จำเป็นสำหรับความเป็นมนุษย์ ถ้าเรามีความสามารถพิเศษ เราจะรู้เลย สัตว์ในอบายภูมิมากมาย ที่ไปสู่อบายภูมิเพราะไม่มีศีลมาถึงภาวนา ภาวนาเป็นงานของจิตทั้งสิ้นเลยเป็นงานพัฒนาจิตโดยตรง มี 2 งาน งานหนึ่งเป็นการพัฒนาจิตให้สงบและตั้งมั่น งานที่สองเป็นการฝึกจิตให้ฉลาดรอบรู้ เข้าใจความจริงของโลก ของชีวิต พระพุทธเจ้าท่านบอก บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นมันต้องผ่านงานที่สองถึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ถ้าลำพังมีแต่แค่งานที่หนึ่ง ทำสมาธิเพื่อความสุขความสงบ ยังไม่บรรลุมรรคผลหรอก ยังไม่พ้นทุกข์หรอก แค่มีความสุขชั่วครั้งชั่วคราวตอนทำสมาธิ

ปัญญาทำหน้าที่ล้างความเห็นผิด

เราโน้มน้อมไปดูกายแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ เรียกโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ เห็นจิตใจมันทำงาน จิตเราเป็นคนดู ก็เห็นจิตมันทำงานได้ ตั้งมั่นอยู่ หายใจพุทโธๆๆ เดี๋ยวหนีไปคิดได้ เห็นมันทำงาน อย่างนี้ก็เป็นญาณทัศนะ ได้เห็นอย่างมีปัญญา ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็เกิด ปัญญาเกิดมันก็ล้างความเห็นผิด ล้างความเห็นผิดนั้น คือตัวปัญญาที่สำคัญ ปัญญาทำหน้าที่ล้างความโง่เขลา แล้วกิเลสตัวละเอียดถูกทำลายไป กิเลสอย่างกลางมันก็ถูกทำลายด้วย กิเลสอย่างหยาบมันก็ถูกทำลายไปด้วย เพราะฉะนั้นตัดลงที่จิตอันเดียวนี้ เห็นแจ้งลงที่จิตอันเดียว ก็ล้างหมดเลย

ฝึกจิตให้มีกำลังตั้งมั่น

เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว

ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น

คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้

การปฏิบัติทิ้งจิตไม่ได้

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตนเอง จับหลักตรงนี้ให้แม่นๆ แล้วเราจะก้าวหน้าได้ ถ้าเราเอาแต่ทำกรรมฐาน แล้วเราละทิ้งจิตของตนเอง มันจะก้าวมาไม่สู่จุดที่จิตมีสัมมาสติและสัมมาสมาธิเลย ก้าวขึ้นมาไม่ได้ พยายามแทบตาย เหน็ดเหนื่อยแทบตาย แต่ก็ไม่ได้อะไรเท่าไรหรอก เพราะมันทำไม่ถูก ไม่ได้หัวใจของการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นต่างหากล่ะ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไปเนืองๆ รู้ไปเรื่อยๆ รู้สบายๆ ถนัดอะไรก็ทำอันนั้นล่ะ แต่ให้ความสำคัญกับการรู้ทันจิตใจตนเอง ภาวนาอย่าทิ้งจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งปวง ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ หลวงปู่ดูลย์ก็สอน “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตมรรค” เห็นแจ่มแจ้งก็คือเห็นอะไร เห็นว่าจิตเองก็เป็นตัวทุกข์นั่นล่ะ ทันทีที่เห็นทุกข์ มันก็วาง เรียกเห็นทุกข์ก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา ก็อยู่ที่จิตทั้งหมด

สันตติขาด

เราต้องฝึกให้ได้จิตรู้ขึ้นมา แล้วสันตติคือความสืบต่อของจิตจะขาด จิตจะไม่ได้มีดวงเดียวยาวๆ แล้ว แต่จะขาดเป็นช่วงๆๆ แล้วตรงนี้เราจะเห็นแต่ละช่วงไม่เที่ยง จิตรู้ไม่เที่ยง จิตหลงไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง ตรงที่จิตหลง จิตหลงไปดูก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปฟังก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปเพ่งก็ไม่เที่ยง จิตมีความสุขก็ไม่เที่ยง จิตมีความทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง เราจะเห็นทุกดวงมันไม่เที่ยงๆๆ ไป ตรงนั้นล่ะที่เรียกว่าเราเห็นเกิดดับ ถ้าสันตติไม่ขาดไม่เห็นเกิดดับหรอก สันตติจะขาดได้ จิตต้องตั้งมั่น ต้องได้ผู้รู้ขึ้นมาก่อนสันตติถึงจะขาด

หลักสูตรสู่มรรคผลนิพพาน

งานพัฒนาจิตมี 3 งาน อันที่หนึ่งฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อันที่สองแยกขันธ์ให้ได้ อันที่สามเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ เห็นสภาวะแต่ละสภาวะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูสิมันจะโง่จนไม่ได้มรรคได้ผลเชียวหรือ ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ ชาตินี้ไม่ได้ชาติต่อไปก็ง่ายๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะได้ หลวงพ่อไม่ได้ชี้ขาดว่าทุกคนจะต้องได้ในชาตินี้
แต่ถ้าเราทำไม่เลิก แล้วเราไม่ได้มีวิบากอะไรรุนแรง วันหนึ่งเราก็ต้องได้
เพราะฉะนั้นทำ 3 ข้อนี้ให้ได้ คืองานพัฒนาจิต
ถ้าพูดเทียบกับปริยัติ
อันแรกก็คือ การพัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมา
งานที่สองคือ การเจริญปัญญาเบื้องต้น
อันที่สามคือ การเจริญให้เกิดวิปัสสนาปัญญา
โสดาบันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องยากเลย
รักษาศีล 5 ให้ดี แล้วก็ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก
ฝึกจิตใจให้มันรู้เนื้อรู้ตัวไว้ แล้วก็แยกขันธ์
กายส่วนกาย จิตส่วนจิต เป็นคนละส่วน
เห็นแค่ว่าเป็นคนละส่วน
กายก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง
ไม่ได้ถอดจิตออกจากร่าง อยู่ด้วยกันแต่เป็นคนละอัน

สะสมการเห็นถูก

เราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือวิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา

งานพัฒนาจิต

การที่เราทำจิตตสิกขา คือการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นมีทั้งสมาธิที่ถูกต้อง มีทั้งสติที่ถูกต้อง จิตดวงนี้พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว บางคนพอมีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ไม่ไปต่อก็ตั้งอยู่อย่างนั้นล่ะ อันนี้ก็น่าเสียดาย เหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้เต็มแล้วเราก็ไม่ได้ใช้ วางทิ้งไว้ให้แบตเตอรี่เสื่อม เพราะฉะนั้นเราทำสมาธิเสร็จแล้ว เราก็ต้องมาเดินปัญญาต่อ นี่คืองานที่สอง งานฝึกจิตให้เกิดปัญญา

Page 6 of 8
1 2 3 4 5 6 7 8