จิตตั้งมั่นแล้วเดินปัญญา

ถ้าจิตเราตั้งมั่น มันจะเริ่มแยกขันธ์ได้ แยกธาตุได้ ค่อยๆ แยกออกไป แล้วเราจะเห็นร่างกายที่ถูกจิตรู้ ไม่ใช่เรา เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกาย ไม่ใช่ร่างกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา เวทนาทางใจคือความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนาทางกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนา สุขทุกข์ ไม่ใช่จิต กุศลอกุศลทั้งหลายก็ไม่ใช่เรา

สัทธรรมปฏิรูป

จุดเร่งด่วนที่พวกเราต้องมี คือการศึกษาการปฏิบัติ ต้องทำ ไม่อย่างนั้นเราดำรงพระพุทธศาสนาเอาไว้ไม่ได้ คนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา บางคนก็ไปมองว่า พวกศาสนาอื่นจะมาทำลาย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนาได้ ก็คือพุทธบริษัทนั่นเอง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา คือคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา เพราะไม่ได้ศึกษาธรรมะให้ถ่องแท้ แล้วก็เชื่อ คิดผิดๆ เชื่อผิดๆ แล้วก็พูดผิดๆ ออกไป ถ่ายทอดธรรมะที่ผิดออกไป มันมีโทษรุนแรง คือบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา นึกถึงที่หลวงปู่มั่นบอกเลยว่า “พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปประดิษฐานอยู่ในจิตปุถุชน จะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูปทันทีเลย” มันจะเพี้ยนทันทีเลย

กรรมฐานที่เหมาะกับเรา

การภาวนามีหลากหลาย จริตนิสัยคน พื้นฐานดั้งเดิมมันไม่เหมือนกันแต่ละคน วิธีปฏิบัติของแต่ละคนจะใช้อารมณ์กรรมฐานอะไร จะใช้วิธีแบบไหน ก็แล้วแต่ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่จําเป็นต้องเลียนแบบกัน หัดเลือก ไม่จําเป็นต้องเอาอย่างกันแต่มีปัญญาวิเคราะห์ตัวเอง อะไรที่เหมาะกับเรา ปัญญาที่วิเคราะห์ตัวเองออก ตัวนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ ไปสํารวจตัวเองว่าเราควรจะภาวนาแค่ไหน ตอนนี้ควรจะทำความสงบ หรือควรจะฝึกความตั้งมั่น หรือควรเจริญปัญญา ดูตัวเอง สํารวจใจ วันไหนฟุ้งซ่านมากทำความสงบ วันไหนจิตมีกําลังพอ รู้ทันจิตที่ไหลไปมา จิตก็ตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วก็เจริญปัญญา จะเจริญด้วยการดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต ดูธรรมก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัย จะเจริญปัญญาในสมาธิก็ได้ เข้าสมาธิแล้วออกมาเจริญปัญญาก็ได้ เจริญปัญญาด้วยจิตที่ตั้งมั่น แล้วมันเกิดอัปปนาสมาธิเข้าฌานทีหลัง ลีลาแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไร แต่เราต้องมีปัญญามีสัมปชัญญะรู้ว่ากรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ไปดูตัวเอง ช่วยตัวเอง สํารวจตัวเอง

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญา

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญาทำได้ตั้งหลายรูปแบบ ใช้ปัญญานำสมาธิ คิดพิจารณาไปก่อน แล้วทำความสงบเป็นระยะๆ ไป แล้วถึงจุดที่กำลังมันพอ สติ สมาธิ ปัญญาพอ ก็จะเกิดอริยมรรคได้ หรือใช้สมาธินำปัญญา ทำความสงบลึกลงไปก่อน พอถอนออกมา ให้ดูกาย อย่าดูจิต ดูจิตมันจะว่างๆ เพราะจิตมันยังทรงกำลังของสมาธิอยู่ พอพิจารณาลงไปในร่างกาย ไม่ต้องพิจารณามากอันนี้ ไม่ต้องคิดเยอะเลย พอจิตทรงสมาธิแล้วพอถอยออกมาปุ๊บ มันเห็นเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มีเวทนาเกิดขึ้นในร่างกายก็รู้ เห็นเวทนาในร่างกายดับไปก็รู้ จิตตั้งมั่น เป็นคนรู้ อันนี้เราใช้สมาธินำปัญญา อีกแบบหนึ่ง แบบที่สาม ใช้ปัญญากับสมาธิควบกัน

ความอดทนในการภาวนา

เราเวียนว่ายตายเกิดมายาวนานขนาดนี้ ผ่านพระพุทธเจ้ามานับจำนวนไม่ถ้วน ก็เพราะนิสัยเหลวไหลนี่ล่ะ นิสัยไม่สู้ ยอมให้กิเลสมันลากมันจูงเราไป มันต้องสู้ ต้องสู้ ยอมลำบากเสียก่อนแล้วสบายทีหลัง บอกเลยว่าภาวนาแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้มันมหาศาล มันมีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน ความสุข มันมีความสงัดอยู่ภายใน ไม่ใช่สงบนะ มันสงัดอยู่ข้างใน จิตมันทรงสมาธิอัตโนมัติอยู่ มันสงัดอยู่ภายใน แล้วมันก็สงบ สงบ ความสุขมันล้นเอ่อขึ้นมา โดยจิตไม่ติดมัน ถ้าจิตยินดีพอใจเมื่อไร ก็แสดงว่ายังไม่ใช่ ยังบรรลุมรรคผลไม่พอ ต้องทำอีก ก็ต้องฝึก ของฟรีไม่มี ธรรมะก็อยู่ใต้กฎแห่งกรรม ทำอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น ของฟรีไม่มี ของฟลุกไม่มี

วิธีฝึกให้ได้ตัวรู้

อาศัยสติรู้ทันความปรุงแต่งของใจตัวเอง รู้มันไปเรื่อยๆ สภาวะอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า พอเราลืม หลงไปแล้วก็จังหวะการหายใจเปลี่ยน สติจะเกิดเองเลย จิตจะรู้ตัวขึ้นมา ตื่นขึ้นมา หรือจิตใจเรา เราเคยอ่าน มันสุขบ้าง มันทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง เรารู้ทันความปรุงแต่งที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอเราหลง จิตมีความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ดูง่ายกว่าสุข อย่างดูเวทนา ทุกข์มันดูง่ายกว่าสุข เฉยๆ ดูยากที่สุดเลย ฉะนั้นทีแรกเราจะเห็นทุกข์ก่อน พอใจเราทุกข์ขึ้นมา มันแน่นๆ ขึ้นมา ก็มีสติรู้ทัน
เราเคยดูความทุกข์ความสุขของจิตใจชำนาญ พอโกรธปุ๊บ ใจมันมีความทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันก็จะเห็น มีสติรู้ทันขึ้นมา ทันทีที่รู้ว่ามีความทุกข์ จิตจะดีดผางขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย ครูบาอาจารย์สอน ส่วนใหญ่ให้ดูหลง เพราะหลงนั้นเกิดบ่อยที่สุด ค่อยๆ ฝึก เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดรู้ทัน ฝึกเรื่อยๆ จิตถลำลงไปเพ่งไปจ้องภายใน อารมณ์กรรมฐานบ้าง อะไรที่แปลกปลอมไหวๆ ขึ้นข้างในบ้าง จิตไหลไปเพ่งไปจ้อง รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา รู้ทันหลงแล้ว จิตจะดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ พอมีจิตเป็นผู้รู้ คราวนี้การภาวนาจะง่ายแล้ว

จากสังขตธรรมสู่อสังขตธรรม

โลกไม่มีอะไร โลกเป็นแค่ความปรุงแต่ง หรือเรียกว่าสังขตธรรม เรียกง่ายๆ ว่าสังขาร สังขารมีหลายความหมาย สังขารขันธ์หมายถึงความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต สังขารในภาพใหญ่หมายถึงกายใจของเรา รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น อันนี้เรียกว่าสังขาร ภาวนาไปก็จะเห็นสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันใหม่ก็เกิดขึ้นมาทดแทน ถ้าเรารู้โลกแจ่มแจ้ง โลกนี้ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ขันธ์ 5 เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นอย่างนี้ จิตมันจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วจิตมันจะเข้าถึงสภาวธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง คืออสังขตธรรม

หลักสูตรการฝึกสติ

สิ่งที่เราจะต้องฝึกให้มากคือสติ หลักสูตรในการฝึกสติ พระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว เรียกว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเป็นวิธีฝึกให้เรามีสติในเบื้องต้น แล้วสติปัฏฐานเมื่อเรามีสติแล้ว เราปฏิบัติต่อไป เราจะเกิดปัญญา ฉะนั้นสติปัฏฐานมี 2 ระดับ เบื้องต้นทำให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา เมื่อจิตเกิดปัญญารู้ความจริงของกายของใจแจ่มแจ้งแล้ว วิมุตติมันจะเกิด

จิตที่เปิดรับธรรมะ

เวลาฟังธรรมะ ฟังซื่อๆ ไม่ต้องตีความมาก ฟังไปคิดไปมันก็เรียนปริยัติล่ะถ้าอย่างนั้น เราจะฟังธรรมะได้แล้วรู้เรื่องดี ถ้าจิตของเราเป็นกุศล มหากุศลจิต ลหุตา เบา มุทุตา นุ่มนวล ปาคุญญตา คล่องแคล่วว่องไว ไม่เซื่องซึม กัมมัญญตา ควรแก่การงาน ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน อุชุกตา รู้ซื่อๆ ถ้าใจเราเป็นอย่างนี้ ใจอย่างนี้รับธรรมะง่าย ฉะนั้นเราปรับจิตใจของเรา ให้มันเป็นกุศลไว้ก่อน แล้วฟังธรรม เราจะได้ประโยชน์มาก ถ้าฟังไป แล้วก็ใจก็หนักๆ แน่นๆ เพ่งเอาไว้มากๆ บางคนเพ่ง เพ่งจนเครียด ฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง จิตใจเหมือนกับครกหินทั้งลูก เอาน้ำสาดลงไป ไม่ซึมสักนิดเดียวเลย ใจกระด้าง กูก็แน่ กูก็หนึ่ง พวกนี้ก็รับธรรมะไม่ได้ พวกหัวดื้อหัวรั้น เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ฉะนั้นเราสังเกตจิตใจเรา ให้จิตใจเราเป็นกุศลที่แท้จริง จิตใจที่เป็นกุศล เป็นจิตใจที่ฉลาด มันพร้อมที่จะรับธรรมะ

อ่านจิตตัวเองได้จะเข้าใจจิต

อ่านจิตตัวเองให้ออก เข้าใจจิตว่าเป็นอย่างไร เข้าใจจิตว่าจิตไม่เที่ยง เข้าใจจิตว่าไม่ใช่ตัวเราหรอก เราบังคับมันไม่ได้ คือเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตาไป นั่นล่ะคือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นเราอ่านจิตเราอย่างที่จิตเป็นนั่นล่ะ จิตรักก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตโลภ จิตหลง ก็รู้ไป ในที่สุดปัญญามันจะเกิด จิตแต่ละอย่างไม่เคยเที่ยง โกรธก็ไม่โกรธตลอด รักก็ไม่รักตลอด จิตทุกอย่างเราสั่งไม่ได้ มันทำงานของมันเอง มันโกรธเรา มันก็โกรธได้เอง มันรัก มันก็รักได้เอง นี่เห็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการอ่านจิตตนเอง เราก็จะเห็นความจริงของจิตว่า จิตมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นตรงนี้ เราก็ได้ธรรมะแล้ว

Page 1 of 3
1 2 3