ทำสมถะเพื่อให้จิตมีแรงและตั้งมั่น

เราก็ต้องรู้ว่า เราจะทำสมาธิเพื่ออะไร ทำสมถะเพื่ออะไร เพื่อให้มีแรง เพื่อให้จิตตั้งมั่น ตอนไหนจิตไม่มีแรง น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญที่ตัวอารมณ์ จิตก็จะมีกำลัง เพราะจิตไม่ได้วิ่งวอกแวก ไปที่อารมณ์โน้นทีอารมณ์นี้ที เพราะจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตก็ได้พักผ่อน จิตก็เลยมีแรง วิธีทำให้จิตตั้งมั่นก็คือ อาศัยสติรู้เท่าทันพฤติกรรมของจิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตมันหนีไปคิด รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด ไม่ได้น้อมจิตไปหาลมหายใจ ไม่ได้น้อมจิตไปที่พุทโธ แต่รู้ทันจิต ฉะนั้นสมาธิ 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน อย่างแรกที่ทำเพื่อความสงบนั้น ตัวอารมณ์เป็นพระเอก อย่างที่จะฝึกให้จิตตั้งมั่นนั้น ตัวจิตเป็นพระเอก 2 อันนี้จะแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราคอยรู้เท่าจิตของตัวเอง ทำกรรมฐานไป อะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญา

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญาทำได้ตั้งหลายรูปแบบ ใช้ปัญญานำสมาธิ คิดพิจารณาไปก่อน แล้วทำความสงบเป็นระยะๆ ไป แล้วถึงจุดที่กำลังมันพอ สติ สมาธิ ปัญญาพอ ก็จะเกิดอริยมรรคได้ หรือใช้สมาธินำปัญญา ทำความสงบลึกลงไปก่อน พอถอนออกมา ให้ดูกาย อย่าดูจิต ดูจิตมันจะว่างๆ เพราะจิตมันยังทรงกำลังของสมาธิอยู่ พอพิจารณาลงไปในร่างกาย ไม่ต้องพิจารณามากอันนี้ ไม่ต้องคิดเยอะเลย พอจิตทรงสมาธิแล้วพอถอยออกมาปุ๊บ มันเห็นเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มีเวทนาเกิดขึ้นในร่างกายก็รู้ เห็นเวทนาในร่างกายดับไปก็รู้ จิตตั้งมั่น เป็นคนรู้ อันนี้เราใช้สมาธินำปัญญา อีกแบบหนึ่ง แบบที่สาม ใช้ปัญญากับสมาธิควบกัน

รถวินีตสูตร

วิสุทธิ 7 เป็นธรรมะที่น่าฟังมาก ธรรมะบทนี้เกิดจากการสนทนาธรรม ระหว่างท่านพระสารีบุตรกับพระปุณณมันตานีบุตร พระสารีบุตรท่านถามพระปุณณมันตานีบุตร ท่านปฏิบัติธรรมมาบวชเพื่อศีลวิสุทธิใช่ไหม เพื่อทิฏฐิวิสุทธิใช่ไหม เพื่อจิตตวิสุทธิใช่ไหม เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิใช่ไหม เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม มรรคกับอมรรค เขาเรียก มัคคา มัคคะ อันนี้เป็นทาง อันนี้ไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิใช่ไหม เพื่อเดินในปฏิปทา ไปสู่ความบริสุทธิ์ ให้เกิดปัญญาที่บริสุทธิ์ใช่ไหม ไม่ใช่ เพื่อญาณทัสสนะที่บริสุทธิ์หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ๆ รวมแล้วก็คือ ธรรมะทั้ง 7 ประการที่เป็นเส้นทางไปสู่ความบริสุทธิ์ พระปุณณมันตานีบุตรบอกว่าท่านไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสิ่งเหล่านี้ ท่านปฏิบัติธรรมเพื่ออนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีเชื้อเหลือ ไม่มีขันธ์เหลือ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาได้เพราะอาศัยรถทั้ง 7 ผลัด คืออาศัยวิสุทธิ 7 นั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ถึงที่สุดแห่งทุกข์เพราะญาณทัสสนวิสุทธิ ไม่ใช่แค่นั้น เราก็จะรู้คุณงามความดีทั้งหลายที่เราทำมา เป็นไปเพื่อส่งทอดเราไปสู่นิพพาน ถ้าเรายึดคุณงามความดีอันนั้นเอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น เราก็ไปนิพพานไม่ได้

วิธีล้างความเห็นผิด

จะล้างความเห็นผิด ลองมาดูความจริงของร่างกายตัวเอง ดูความจริงของจิตใจตัวเอง ไม่ต้องไปดูข้างนอก เพราะข้างนอกใครๆ มันก็รู้ว่าไม่ใช่เรา ความหลงผิดมันอยู่ที่ว่า กายนี้คือเรา จิตใจนี้คือเรา เพราะฉะนั้นเราต้องดูเข้ามาตัวนี้ให้ได้ ถ้าล้างความเห็นผิดได้ว่ากายนี้เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็นจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายและก็จิตใจ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เหมือนความฝัน ความสุขเกิดขึ้นก็เหมือนฝัน ความทุกข์เกิดขึ้นก็เหมือนฝัน กุศลอกุศลเกิดขึ้น มันก็เหมือนเราฝันอยู่ ฝันว่าโลภ ว่าโกรธ ว่าหลง

ธาตุ 6

ธาตุไม่ได้มีแค่ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ ยังมีวิญญาณธาตุอีกตัวหนึ่ง วิญญาณธาตุของสัตว์ทั้งหลาย มันไม่ได้สะอาดเหมือนดิน น้ำ ไฟ ลม แต่มันปนเปื้อนด้วยความปรุงแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันปนเปื้อนด้วยกิเลส ฉะนั้นเราก็จะค่อยภาวนา เพื่อซักฟอกจนกระทั่งธาตุวิญญาณธาตุนี้ เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากความยึดมั่น ถือมั่นในสังขารทั้งปวง หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง

กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ

พระพุทธเจ้าท่านเคยบอกว่า “กัลยาณมิตร เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค” เหมือนกับแสงเงินแสงทองตอนเช้ามืด ถ้าแสงเงินแสงทองขึ้นตรงไหน สว่างขึ้นด้านไหน เป็นเครื่องหมายแรกว่า พระอาทิตย์กำลังจะขึ้นตรงนั้น การมีกัลยาณมิตรก็เป็นเครื่องหมายแรกของการบรรลุอริยมรรค ท่านสอนอย่างนี้ แล้วต่อมาท่านก็สอนอีก “โยนิโสมนสิการ เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค” เหมือนแสงเงินแสงทองขึ้นมา แล้วพระอาทิตย์จะขึ้นตรงนี้ ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการ ถึงวันหนึ่งอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น

ฉะนั้นใน 2 สิ่งนี้มีความสำคัญมาก คือกัลยาณมิตรกับโยนิโสมนสิการ แต่วันนี้พิสูจน์ยากว่าใครคือกัลยาณมิตร สิ่งที่หลวงพ่อแนะนำพวกเราคือโยนิโสมนสิการ ปลอดภัยที่สุด โยนิโสมนสิการบอกแล้วไม่ใช่การพิจารณา ใคร่ครวญเอาตามใจกิเลส ต้องดูว่ามันถูกหลักของการปฏิบัติหรือเปล่า

จับหลักให้แม่น

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น

แก่นของการปฏิบัติคือจิต

แก่นของการปฏิบัติคือจิตนี้เอง เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานอย่างหนึ่งไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่คอยรู้ทันจิตตนเองไป จิตที่ไม่สงบ ก็คือจิตที่มันไหลไปทางอารมณ์ต่างๆ ไหลไปคิด ไหลไปจมอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น นั้นไม่สงบจริง แต่ตรงที่เรารู้ว่าจิตเคลื่อน ตรงนั้นล่ะความสงบจะเกิดขึ้นนิดหนึ่ง ชั่วขณะเท่านั้น ทำบ่อยๆ จนกระทั่งความรู้ตัวถี่ยิบขึ้นมาเลย หลวงพ่อสอนวิธีนี้ เพราะพวกเราทำฌานไม่ได้ สะสมสมาธิเป็นขณะๆๆ ไป พอมันมีกำลังมากแล้ว มันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันเหมือนจิตที่ทรงอุปจารสมาธิได้ มันทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา

จากจุดเล็กๆ เหมือนน้ำหยดใส่ตุ่มทีละหยดๆ น้ำก็เต็มตุ่มขึ้นมา จิตก็มีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา ตรงนี้เราเอาไปเดินปัญญาได้แล้ว ถ้าจิตยังไม่ตั้งมั่น อย่าพูดเรื่องเดินปัญญา ทำไม่ได้หรอก จิตยังไหลไปไหลมา หรืออ่อนแอปวกเปียก ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะฉะนั้นเราอย่าละเลยที่หลวงพ่อบอก ทุกวันต้องไปทำกรรมฐาน แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตไหลไปคิด รู้ทัน จิตไหลไปเพ่ง รู้ทัน ในที่สุดเราจะได้จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา

โยนิโสมนสิการสำคัญมาก

สังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่ตรงนี้หลงอยู่หรือว่าปฏิบัติอยู่ ขั้นหยาบๆ เลย แล้วที่ปฏิบัติอยู่สมถะหรือวิปัสสนา สังเกตไป ตอนทำสมถะอยู่อันนี้นิมิตเกิดขึ้น เรายินดีในนิมิต หรือเราวางนิมิตย้อนเข้ามารู้ทันจิตตนเองได้ ถ้ายินดีในนิมิต นิมิตจริง นิมิตปลอมก็โง่เหมือนกัน หลงออกไปแล้ว ลืมจิตใจตัวเอง สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ หลวงพ่อสู้มาทุกวันนี้ ตั้งแต่เป็นโยม ใช้ความสังเกต ใช้โยนิโสมนสิการมาก ในชีวิตหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเคยถามกรรมฐานจากครูบาอาจารย์ทั้งหมด 7 ครั้ง จากครูบาอาจารย์ 6 องค์ ที่ถามมีแค่นั้นเองนอกนั้นสังเกตเอา อย่างภาวนาไปช่วงนี้ เกิดสภาวะอย่างนี้มันใช่มันไม่ใช่ หลวงพ่อสังเกตไปเรื่อย ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับมัน ค่อยรู้ค่อยดูไป เกิดความเข้าใจขึ้นมาแล้ว มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น จะเข้าใจก่อนที่จะเจอครูบาอาจารย์ แล้วก็ไปเล่าให้ท่านฟัง บอก “ผมดูแล้วมันเป็นอย่างนี้ๆ มันคืออย่างนี้” ท่านบอก “ใช่แล้ว ถูกแล้ว” ท่านจะชมว่าฉลาด ฉลาด ช่วยตัวเองมาได้ ถ้าเอะอะวิ่งถามครูบาอาจารย์ตลอด ไม่ฉลาดหรอก

บวชใจให้ได้

ถ้าเราไม่มีโอกาสจะบวช อาจจะเพราะว่าไม่พร้อมที่จะบวช มีภารกิจทางโลก ยังบวชไม่ได้ หรือไม่มีภารกิจ แต่ยังหาที่บวชด้วยความเต็มใจไม่ได้ ไม่สบายใจที่จะบวช หาไม่ได้ทำอย่างไร อย่างผู้หญิงจะไปบวชภิกษุณี มันก็ไม่มีจริง ไปบวชชีแต่ละวัด เขาก็ขยาด หาที่อยู่ยาก มันมีเงื่อนไขที่เราบวชไม่ได้ เราฝึกตัวเอง บวชใจเราให้ได้ ตั้งใจรักษาศีล ศีล 5 ศีล 8 ถือเข้าไปเถอะ เท่าที่ทำได้ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น อย่างบางคนสุขภาพไม่อำนวย ถือศีล 8 อดข้าวเย็น แล้วทำงานหนักทั้งวันเลย ตกเย็นไม่กินข้าวอีก ไม่นานโรคกระเพาะก็ถามหา ฉะนั้นดูสภาพเราที่ทำได้จริงๆ ทำแล้วไม่เข้าข่ายอัตกิลมถาลิกานุโยค ทรมานตัวเอง แต่ไม่ใช่ปรนเปรอตัวเองตามใจชอบ มีวินัยในตัวเอง อยู่บ้านก็ภาวนาของเราไป ฆราวาสก็ทำมรรคผลได้

Page 1 of 2
1 2