ความสุดโต่ง 2 ฝั่ง

สิ่งที่ผิดก็มี 2 อันเท่านั้น ก่อนที่จะเข้าสู่ทางสายกลาง อันหนึ่งหลงไปเที่ยวแสวงหาอารมณ์ต่างๆ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค อารมณ์ต่างๆ ล้วนแต่เรื่องกามคุณอารมณ์ทั้งนั้น อีกอันหนึ่งเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพ่งจ้องเอาไว้ ทำตัวเองให้เนิ่นช้าให้ลำบาก ทางสายกลางก็คือต้องไม่สุดโต่งไป 2 ฝั่งนี้ อันหนึ่งลืมอารมณ์กรรมฐาน อันหนึ่งไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ถ้าลืมอารมณ์กรรมฐานแล้วเรารู้ปุ๊บ จิตจะทรงสัมมาสมาธิทันทีเลย แต่ถ้าเพ่งอารมณ์กรรมฐานอยู่ มันยังเพ่งต่อได้อีก รู้ว่าเพ่ง เราก็ยังเพ่งได้อีก ให้รู้ทันเบื้องหลังของการเพ่ง คือความโลภ โลภะตัวเดียวนี้ล่ะ ตัวอยากดี ถ้ารู้ตัวนี้ การเพ่งก็จะดับ

บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

ผู้รู้นี้เป็นศัพท์เฉพาะ หมายถึงเป็นจิตที่เราพัฒนามันขึ้นมา เอามาใช้งาน ถึงอย่างไรวันหนึ่งเราก็ต้องปล่อยวาง ถ้าไม่ปล่อยวาง เราก็จะไปเกิดเป็นพระพรหม แล้วสูงสุดของผู้ปฏิบัติ ถ้ายังไม่วางจิต ก็จะไปเป็นพรหม หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกว่า ท่านพิจารณาแล้วนักปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่ ภาษาท่าน ผีใหญ่คือเป็นพรหม ภาวนาแล้วก็ไปเป็นพระพรหมกัน ต้องเดินปัญญาให้ถ่องแท้ ถึงจะเอาตัวรอดได้ บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยสมาธิ สมาธิเป็นแค่เครื่องมือตัวหนึ่ง

วิธีตรวจการบ้านตัวเอง

อะไรที่ภาวนาไปแล้วมันขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้า สภาวะอะไรเกิดขึ้นนี่เป็นไปเพื่อความปล่อยวางหรือเพื่อความยึดถือ สภาวะทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ไหม ถ้าภาวนาแล้วไม่เข้าหลักไตรลักษณ์ ผิดแน่นอน ต้องสังเกตตัวเอง ไม่ต้องรอถามครูบาอาจารย์ นานๆ จะมีโอกาสถามครูบาอาจารย์สักครั้งหนึ่ง แต่สติปัญญามันอยู่กับตัวเราทุกวัน อาศัยสิ่งที่อยู่กับตัวเรานี่ล่ะ คอยสังเกตสิ่งที่เราทำอยู่นี่ ทำให้อกุศลลดลงไหม ทำให้อกุศลเกิดยากขึ้นไหม ทำให้กุศลเกิดบ่อยไหม เกิดแล้วถี่ขึ้นๆ ไหม หรือนานๆ เกิดที นี่วัดใจตัวเอง สังเกตไป ดูไปเรื่อยๆ การสังเกตกิเลสเป็นเรื่องสำคัญ ภาวนาแล้วสังเกตกิเลสออกนี่ดีมากๆ เลย ในเบื้องต้นจิตใจเรามีกิเลสอะไร เราคอยรู้ ก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ต่อไปพอเราเข้าใจธรรมะ ตรงที่เราคิดว่าเราบรรลุมรรคผล เราก็จะวัดว่าบรรลุจริงหรือไม่จริง

การภาวนาที่ละเอียดเข้าไป

เราภาวนาเรื่อยๆ เราก็เห็นสุขเกิดแล้วสุขก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วทุกข์ก็ดับ กุศลเกิดแล้วกุศลก็ดับ อกุศล โลภ โกรธ หลงเกิดแล้วมันก็ดับ จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วก็ดับ ตรงนี้ละเอียด กว่าที่จะรู้จิตสุขจิตทุกข์จิตดีจิตชั่ว คือเห็นจิตมันเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 จิตเกิดที่ตาดับที่ตา จิตเกิดที่หูดับที่หู จิตเกิดที่จมูกดับที่จมูก เกิดที่ลิ้นดับที่ลิ้น เกิดที่ร่างกายดับที่กาย จิตเกิดที่ใจก็ดับที่ใจ จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น จิตไม่ได้มีดวงเดียว หัดภาวนาทีแรกเรารู้สึกจิตมีดวงเดียวแล้วก็เที่ยวร่อนเร่ไปทางทวารทั้ง 6 คิดว่าจิตมีดวงเดียว ดวงนี้หลงไปดูพอรู้ทันมันก็วิ่งกลับมา มันหลงไปฟังพอรู้ทันมันก็วิ่งกลับมาเข้าฐาน เห็นจิตเหมือนตัวแมงมุม เดี๋ยวก็วิ่งไปข้างซ้ายเดี๋ยวก็วิ่งไปข้างขวา เดี๋ยวขึ้นข้างบนเดี๋ยวลงข้างล่าง แมงมุมมีตัวเดียววิ่งไปวิ่งมา พอเราภาวนาละเอียดเข้าๆ เราเห็นจิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น จิตเสวยอารมณ์อันไหนก็ดับพร้อมอารมณ์อันนั้น เกิดดับไปด้วยกัน มันถี่ยิบขึ้นมา

การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

การเจริญสติในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญมากเลย หลวงปู่มั่นท่านเคยสอนว่าทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน หัวใจอยู่ตรงนี้ เก่งเฉพาะตอนนั่งสมาธิตอนเดินจงกรมไม่ได้กินหรอก วันหนึ่งจะนั่งเท่าไรจะเดินเท่าไร เวลาส่วนใหญ่ถ้าภาวนาไม่เป็น โอกาสจะได้มรรคผลนิพพานยากเหลือเกิน การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หลักการง่ายๆ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัส มีใจก็คิดนึกไปตามธรรมชาติธรรมดา ไม่ห้าม ใจเราจะคิดดีคิดร้ายอะไร ห้ามได้ที่ไหน จิตมันเป็นอนัตตา

มิจฉาสมาธิ

ถ้าสมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปทำสมถะโอกาสพลาดก็สูง หลงนิมิตเอา สมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปเดินวิปัสสนา ก็ถูกวิปัสสนูปกิเลสเอาไปกิน หลอก คิดว่าบรรลุธรรมแล้ว บางทีคิดถึงขนาดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ฉะนั้นเลยต้องเรียนกันให้มากหน่อย เรื่องของสมาธิ คนที่ภาวนาแล้วพลาด ก็เรื่องพวกนี้ทั้งนั้น ภาวนาแล้วเพี้ยนบ้างอะไรบ้าง ไม่ได้เรียนถึงบทเรียนที่ชื่อจิตตสิกขา ถ้าเรียนรู้จิตตัวเองไม่ได้ สมาธิที่ดีที่สมบูรณ์เกิดไม่ได้หรอก

เรียนปริยัติแล้วต้องลงมือปฏิบัติ

ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ

ความสุขที่เกิดจากปัญญา

เราปรารถนาความสุขในชีวิต เราต้องรู้ว่าความสุขอย่างโลกๆ มันสุขหลอกๆ มันสุขเพื่อให้เราทุกข์ต่อไป สุขหลอกๆ ให้เรามีแรงที่จะวิ่งพล่านๆ ตามกิเลสตัณหาต่อไป แล้วความสุขที่ประณีตกว่านั้น คือความสุขของสมถกรรมฐาน ความสุขของการทำวิปัสสนากรรมฐาน ความสุขเมื่อเกิดอริยมรรค เกิดอริยผล ความสุขเมื่อจิตทรงพระนิพพาน มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางเรื่อยๆ ไป แล้วสติปัญญาจะค่อยพัฒนาแก่กล้าขึ้น ใจจะปล่อยวางจางคลายจากโลกมากขึ้นๆ พอใจมันคลายตรงนี้ มันจะรู้เลยว่า ในโลกนี้ไม่มีสาระ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราถูกหลอกให้วิ่งพล่านๆ แสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพื่อวันหนึ่งจะสูญเสียมันทั้งหมดไป ใจฉลาดขึ้นมา ใจมีปัญญาขึ้นมา ใจก็ค่อยสงบ ใจมีความสุข

สติปัฏฐาน

ไปดูตัวเอง ถนัดรู้กาย เราก็รู้กาย ถนัดรู้เวทนา ก็รู้เวทนา ถนัดดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล เราก็รู้จิตไป รู้ไปเรื่อยๆ แล้วต่อมาเราก็จะเห็นทุกอย่างที่เรารู้มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายก็ถูกรู้ เวทนาก็ถูกรู้ จิตที่เป็นกุศลอกุศลก็ถูกรู้ เราเริ่มเดินปัญญาแล้ว แล้วต่อมาเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ ร่ายกายก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวทนาก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนี้เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว เราเดินไปในเส้นทางอันนี้ เส้นทางของสติปัฏฐาน เรียกว่าเอกายนมรรค คําว่าเอกายนมรรค หรือทางเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

ทิ้งการมีเครื่องอยู่ของจิตไม่ได้

การปฏิบัติ จิตจะต้องมีเครื่องอยู่ ถ้าจิตไม่มีเครื่องอยู่ จิตก็ร่อนเร่ไป ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติในขั้นไหนก็ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ อย่าว่าแต่พวกเราเลย กระทั่งพระอรหันต์ ท่านก็ยังมีการเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องอยู่ ใช้กาย เวทนา จิต ธรรม ให้ใจมีบ้านอยู่ แต่พวกเราต่างกับพระอรหันต์ ตรงที่ เรายังยึดถือกายใจขันธ์ 5 อยู่ เราเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องอยู่ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ถูกเข้าใจถูก แล้วปล่อยวาง ในขณะที่พระอรหันต์ท่านมีกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นเครื่องอยู่ แล้วจิตท่านพรากออกไป แยกออกไปจากขันธ์ ไม่เกาะเกี่ยว มองเห็นขันธ์เป็นความว่าง ในขณะที่พวกเรามองเห็นขันธ์เป็นตัวเรา ปุถุชน เพราะฉะนั้นจะทิ้งการมีเครื่องอยู่ของจิตไม่ได้ สังเกตตัวเอง อยู่กับเครื่องอยู่ชนิดไหนแล้วสติเกิดบ่อย เอาอันนั้นล่ะดี

Page 1 of 10
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10