อุดมการณ์ของชาววัดสวนสันติธรรม

พวกเรามีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำไปเรื่อยๆ แล้วถ้าดูกายหรือดูจิตไม่ได้ ก็ทำสมถะสลับไป เพื่อเป็นการชาร์จจิตให้มีพลัง

พอจิตมันมีพลังตั้งมั่น สงบ ตั้งมั่นดีแล้ว เราก็เดินปัญญา ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูจิตอย่างที่จิตเป็น โดยใช้หลัก “มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ทำไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งมันรู้ความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ พอรู้ความจริงอย่างนี้มันจะหมดสมุทัย มันจะปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิต มันจะไปอยากอะไรอีก มันปล่อยทิ้งแล้ว ทันทีที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยเป็นอันถูกละ ในขณะนั้นนิโรธคือนิพพานปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาแล้ว

ใช้คำว่า “ปรากฏ” ไม่ใช่ “เกิด” มันมีอยู่แล้วแต่เราไม่เห็น ตอนที่เราหมดตัณหานั่นล่ะ นิพพานคือความสิ้นตัณหา บางทีท่านก็ใช้คำว่า “นิพพาน คือสภาวะที่สิ้นตัณหา” พอสิ้นตัณหาแล้วมันเป็นอย่างไร มันสงบ มันสันติ นิพพานมีสันติลักษณะ คือมันสงบ อย่างวัดนี้ชื่อวัดสวนสันติธรรม สิ่งที่เรียกว่า “สันติธรรม” คือนิพพาน แปลให้ออก ถ้าใครเขาถามว่า ลูกศิษย์วัดสวนสันติธรรม “สันติธรรม” คืออะไร คือพระนิพพาน นี่คืออุดมการณ์ของพวกเราชาววัดสวนสันติธรรม เราจะต้องนิพพานให้ได้ ไม่ชาตินี้ก็ชาติต่อๆ ไป นี่เป็นอุดมการณ์ที่เราตั้งวัดนี้ขึ้นมา

อยากเป็นพระโสดาบัน

อยากเป็นพระโสดาบัน ขั้นแรกเลยจิตต้องตั้งมั่นขึ้นมาก่อน พอจิตตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นกายนี้ถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนา มันก็เห็นเวทนาถูกรู้ ไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่น สติระลึกรู้สังขารทั้งหลาย ความดีชั่วทั้งหลายที่ปรุงขึ้นมา ก็จะเห็นสังขารทั้งหลายไม่ใช่เรา จิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ เกิดจิตไม่ตั้งมั่น หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางทีมีจิตตั้งมั่น แล้วก็หลงไปเกิดราคะ มีความสุข บางทีจิตตั้งมั่นแล้วก็ดับ หลงไป เกิดโทสะ มีความทุกข์ในใจ บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ จิตก็มีความสุขอยู่ทั้งๆ ที่ตั้งมั่น บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ แล้วก็เป็นอุเบกขาอยู่ก็มี

จับหลักให้แม่น

ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ การปฏิบัติไม่ว่าสมถะหรือวิปัสสนาจะไม่ใช่เรื่องยาก สมถะเราเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วก็ต้องมีสติกำกับตลอด สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ต้องมีสติไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ ไม่นานจิตจะสงบ แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไม่ขาดสติ สะสมไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สติที่แท้จริงเกิดขึ้นมา สัมมาสมาธิก็จะเกิดด้วย

พอสะสมไปเรื่อยๆ พลังของสมาธิมันจะเพิ่ม จิตมันจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา มีแรง มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยว่าจิตมันตื่นแล้ว จิตมันมีแรงแล้ว ถึงจุดนั้นเราถึงจะเดินปัญญาได้ดี ก่อนหน้านั้นยังไม่ได้จริงหรอก ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น

ถ้าจิตตั้งมั่นจะเห็นไตรลักษณ์

ต้องมาฝึกจิตให้มันตั้งมั่นจริงๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนไปไหนก็รู้ จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตถลำลงไปเพ่งก็รู้ รู้อย่างนี้เยอะๆ จิตมันจะค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา คราวนี้ไม่ได้เจตนาเลย แล้วพอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย เห็นเลยกายไม่ใช่เรา ระลึกรู้เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา ระลึกรู้สังขาร สังขารไม่ใช่เรา สุดท้ายก็ระลึกรู้จิต จิตก็ไม่ใช่เรา หรือถ้าชำนาญจริง สมาธิพอ ดูโลกข้างนอก จักรวาลข้างนอก โลกข้างนอก คนอื่นๆ ตัว ร่างกาย จิตใจนี้ มันอันเดียวกัน มันก็คือวัตถุ มันคือก้อนธาตุอันเดียวกันนั่นล่ะ เหมือนกันหมด เสมอกันหมด มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสมอกันหมด

ปัญญาทำหน้าที่ล้างความเห็นผิด

เราโน้มน้อมไปดูกายแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ เรียกโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ เห็นจิตใจมันทำงาน จิตเราเป็นคนดู ก็เห็นจิตมันทำงานได้ ตั้งมั่นอยู่ หายใจพุทโธๆๆ เดี๋ยวหนีไปคิดได้ เห็นมันทำงาน อย่างนี้ก็เป็นญาณทัศนะ ได้เห็นอย่างมีปัญญา ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็เกิด ปัญญาเกิดมันก็ล้างความเห็นผิด ล้างความเห็นผิดนั้น คือตัวปัญญาที่สำคัญ ปัญญาทำหน้าที่ล้างความโง่เขลา แล้วกิเลสตัวละเอียดถูกทำลายไป กิเลสอย่างกลางมันก็ถูกทำลายด้วย กิเลสอย่างหยาบมันก็ถูกทำลายไปด้วย เพราะฉะนั้นตัดลงที่จิตอันเดียวนี้ เห็นแจ้งลงที่จิตอันเดียว ก็ล้างหมดเลย

วิธีปฏิบัติ

การปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิตนั้น ไม่มีใครสั่งให้จิตปล่อยวางได้ จิตมันปล่อยวางเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของมันสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ได้ อาศัยสติเป็นเบื้องต้น อาศัยความรู้เนื้อรู้ตัว สติสัมปชัญญะ คอยรู้สึกตัวไว้ อย่าใจลอย ฟุ้งซ่านไปทั้งวัน อาศัยธรรมะคู่นี้ แล้วศีล แล้วสมาธิ แล้วปัญญาของเราจะแก่รอบ พอศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แก่กล้าขึ้นมาแล้ว จิตมันจะเห็นทุกข์เห็นโทษ มันยึดอะไรมันก็ทุกข์เพราะอันนั้น อย่างบางคนพระพุทธเจ้าท่านก็เคยสอน มีนาก็ทุกข์เพราะนา ก็ห่วง กลัวคนอื่นเขาจะมารุกที่นาเรา มีบ้านก็ทุกข์เพราะบ้าน เป็นห่วง เดี๋ยวปลวกมันจะกิน เดี๋ยวธนาคารจะมายึด มีรถยนต์ก็เป็นห่วงรถยนต์ มีลูกก็ห่วงลูก มีเมียก็ห่วงเมีย มีพ่อมีแม่ก็ห่วงพ่อห่วงแม่ มีอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นทั้งหมดเลย

เราค่อยๆ สังเกตตัวเองเรื่อยๆ ไป ปัญญาของเราจะแก่กล้าเลย ยึดอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้น

เราเรียนรู้ความจริง ไม่มีอะไรหรอก มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย อย่านึกว่าชีวิตเราไม่ทุกข์ นั่งอยู่นี่ก็ทุกข์ หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ กระหายน้ำก็ทุกข์ ปวดอึ ปวดฉี่ก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เมื่อย ความทุกข์มันบีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลาเลย เฝ้ารู้ลงไป ถ้าเราเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะปล่อยวางกาย ถ้าเราเห็นว่าจิตมันเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย เพราะบังคับไม่ได้ รู้อย่างนี้แจ่มแจ้ง มันจะปล่อยวางจิต ตรงที่มันปล่อยวางจิตได้ ที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนั้น

ล้างความเห็นผิด

การที่เราตามรู้ตามเห็น ความเกิดดับของกายของใจ เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมัน เกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อย บังคับไม่ได้ พอเราเข้าใจความจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น ทำไมจิตไม่รู้จักหลุดพ้นเสียที เพราะจิตไม่ยอมวาง จิตยึดอยู่นั่นล่ะ ก็ต้องอบรมฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถึงจุดที่จิตมันมีปัญญา มันฉลาด รู้ความจริงของรูปนามกายใจ มันก็วาง ไม่ใช่ของวิเศษ มีแต่ของเกิดแล้วดับ มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป มันเห็นแล้วมันก็วาง

เบื้องต้นตรงที่เราเห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เราวางความเห็นผิด ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะ ไม่มีตัวตนถาวร อย่างปุถุชนจะรู้สึกว่า ตัวเรามีอยู่อย่างถาวร ตัวเราตอนนี้ กับตัวเราตอนเด็กๆ มันก็คนเดิม ตัวเราตอนนี้กับตอนแก่ มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติก่อน มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติหน้า มันก็คนเดิม ปุถุชนมันจะเห็นอย่างนี้ มันเห็นว่าตัวเรามีจริงๆ เราพาจิตใจให้มาเรียนรู้ความจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกลงไป มันมีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีหรอกอะไรที่เป็นอมตะถาวร

ในขันธ์ 5 นี้ จะเป็นกายหรือจิตใจ เกิดแล้วก็ดับเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นการที่เราล้างความเห็นผิด ว่ามีตัวมีตนได้ เกิดจากเราเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ในขันธ์ 5 นี้ไม่มีอะไรอมตะเลย

ฝึกจิตให้มีกำลังตั้งมั่น

เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว

ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น

สิ่งที่เราต้องทำ

สิ่งที่พวกเราต้องทำก็มี 3 อย่าง อันหนึ่งถือศีล 5 ไว้ ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ให้ดี ให้เด็กเขาเห็น ถือศีล 5 แล้วมันดี ไม่ใช่ถือศีล 5 แล้วลำบาก งานที่ 2 ก็คือแบ่งเวลาไว้ทำในรูปแบบ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำให้เขาดู ทำให้เขาเห็น อย่าไปบังคับว่าเขาต้องทำตาม ทำให้เขาเห็นไป ที่เหลืองานที่ 3 คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตัวนี้เป็นงานยาก ก็ต้องมีสติกำกับใจของเราอยู่สม่ำเสมอ เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางร่างกาย แล้วก็กระทบอารมณ์ทางใจ จิตมันจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา เกิดความสุข เกิดความทุกข์ เกิดความไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา มันจะเกิดปฏิกิริยาที่เป็นบุญบ้าง เป็นบาปบ้าง โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น นี่เป็นปฏิกิริยาของจิต ไม่ใช่ตัวจิตหรอก

พวกเราก็คอยมีสติไว้ เรื่องการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอะไรมากระทบ มีใจมันก็กระทบความคิดนึกปรุงแต่งทั้งหลาย พอกระทบแล้วจิตมันสะเทือนขึ้นมา มันปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา ให้เรามีสติรู้อยู่ที่จิต

การปฏิบัติทิ้งจิตไม่ได้

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตนเอง จับหลักตรงนี้ให้แม่นๆ แล้วเราจะก้าวหน้าได้ ถ้าเราเอาแต่ทำกรรมฐาน แล้วเราละทิ้งจิตของตนเอง มันจะก้าวมาไม่สู่จุดที่จิตมีสัมมาสติและสัมมาสมาธิเลย ก้าวขึ้นมาไม่ได้ พยายามแทบตาย เหน็ดเหนื่อยแทบตาย แต่ก็ไม่ได้อะไรเท่าไรหรอก เพราะมันทำไม่ถูก ไม่ได้หัวใจของการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นต่างหากล่ะ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไปเนืองๆ รู้ไปเรื่อยๆ รู้สบายๆ ถนัดอะไรก็ทำอันนั้นล่ะ แต่ให้ความสำคัญกับการรู้ทันจิตใจตนเอง ภาวนาอย่าทิ้งจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งปวง ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ หลวงปู่ดูลย์ก็สอน “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตมรรค” เห็นแจ่มแจ้งก็คือเห็นอะไร เห็นว่าจิตเองก็เป็นตัวทุกข์นั่นล่ะ ทันทีที่เห็นทุกข์ มันก็วาง เรียกเห็นทุกข์ก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา ก็อยู่ที่จิตทั้งหมด

Page 5 of 8
1 2 3 4 5 6 7 8