สัทธรรมปฏิรูป

จุดเร่งด่วนที่พวกเราต้องมี คือการศึกษาการปฏิบัติ ต้องทำ ไม่อย่างนั้นเราดำรงพระพุทธศาสนาเอาไว้ไม่ได้ คนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา บางคนก็ไปมองว่า พวกศาสนาอื่นจะมาทำลาย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนาได้ ก็คือพุทธบริษัทนั่นเอง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา คือคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา เพราะไม่ได้ศึกษาธรรมะให้ถ่องแท้ แล้วก็เชื่อ คิดผิดๆ เชื่อผิดๆ แล้วก็พูดผิดๆ ออกไป ถ่ายทอดธรรมะที่ผิดออกไป มันมีโทษรุนแรง คือบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา นึกถึงที่หลวงปู่มั่นบอกเลยว่า “พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปประดิษฐานอยู่ในจิตปุถุชน จะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูปทันทีเลย” มันจะเพี้ยนทันทีเลย

กรรมฐานที่เหมาะกับเรา

การภาวนามีหลากหลาย จริตนิสัยคน พื้นฐานดั้งเดิมมันไม่เหมือนกันแต่ละคน วิธีปฏิบัติของแต่ละคนจะใช้อารมณ์กรรมฐานอะไร จะใช้วิธีแบบไหน ก็แล้วแต่ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่จําเป็นต้องเลียนแบบกัน หัดเลือก ไม่จําเป็นต้องเอาอย่างกันแต่มีปัญญาวิเคราะห์ตัวเอง อะไรที่เหมาะกับเรา ปัญญาที่วิเคราะห์ตัวเองออก ตัวนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ ไปสํารวจตัวเองว่าเราควรจะภาวนาแค่ไหน ตอนนี้ควรจะทำความสงบ หรือควรจะฝึกความตั้งมั่น หรือควรเจริญปัญญา ดูตัวเอง สํารวจใจ วันไหนฟุ้งซ่านมากทำความสงบ วันไหนจิตมีกําลังพอ รู้ทันจิตที่ไหลไปมา จิตก็ตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วก็เจริญปัญญา จะเจริญด้วยการดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต ดูธรรมก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัย จะเจริญปัญญาในสมาธิก็ได้ เข้าสมาธิแล้วออกมาเจริญปัญญาก็ได้ เจริญปัญญาด้วยจิตที่ตั้งมั่น แล้วมันเกิดอัปปนาสมาธิเข้าฌานทีหลัง ลีลาแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไร แต่เราต้องมีปัญญามีสัมปชัญญะรู้ว่ากรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ไปดูตัวเอง ช่วยตัวเอง สํารวจตัวเอง

ต้องปฏิบัติให้ครบทั้งศีล สมาธิ ปัญญา

การปฏิบัติเราต้องทำให้ครบ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าขาดอันใดอันหนึ่ง การภาวนาก็จะล้มเหลว ศีลก็ฝึกตัวเอง ไม่ตามใจกิเลส สมาธิก็ฝึกให้จิตใจสงบจากกิเลสชั่วครั้งชั่วคราว แล้วอาศัยช่วงเวลานั้นมาเจริญปัญญา ถ้าเราเอาใจที่ปนเปื้อนกิเลสไปเจริญปัญญา มันทำไม่ได้จริง ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นของสำคัญ ขาดไม่ได้

ศีลเป็นเครื่องข่มใจ ไม่ให้ไหลตามกิเลส สมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลส ไม่ให้มีอำนาจเหนือใจ ปัญญาเป็นเครื่องล้างผลาญทำลาย ขุดรากถอนโคนกิเลส 3 สิ่งนี้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขาดอันใดอันหนึ่งก็สู้ยาก สู้ไม่ไหว

หลักสูตรการฝึกสติคือสติปัฏฐาน

หลักสูตรในการฝึกสติก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง ฉะนั้นสติปัฏฐานเลยเป็นเรื่องใหญ่ ตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่ แล้วต้องทำให้ถูกด้วย การที่จะบรรลุมรรคผล ไม่เหลือวิสัย มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าเราทิ้งเรื่องของสติปัฏฐาน ให้เรานั่งสมาธิตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง หรือเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ มันก็ไม่ได้มรรคผลอะไรหรอก เพราะฉะนั้นเราชาวพุทธต้องรู้จักหัดเจริญสติปัฏฐานให้ได้ การเจริญสติปัฏฐานมันมี 2 อย่างซ้อนกันอยู่ เบื้องต้น เราฝึกเพื่อให้เกิดสติ เบื้องปลายเราฝึกเพื่อให้เกิดปัญญา 2 อย่างนี้ได้มาด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สติ ทำอย่างไรมันจะเกิด สติเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีสติก็ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติก็ไม่มีปัญญา สติเป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล จิตที่เป็นกุศลทุกดวงต้องมีสติ อกุศลไม่มีสติหรอก ฉะนั้นสติไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

ชาวพุทธต้องศึกษาปฏิบัติ

ชาวพุทธเราร่อยหรอเต็มทีแล้ว ชาวพุทธเราไม่ได้เชื่อฟังพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ใส่ใจในการศึกษา ชาวพุทธเรายังตกอยู่ในความประมาท ใช้ชีวิตร่อนเร่ไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็หวังพึ่งคนอื่น หวังพึ่งสิ่งอื่น ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก มันเป็นพุทธแต่ชื่อหรอก ไม่มีการศึกษาอย่างยิ่งเลย เชื่องมงาย หวังแต่จะพึ่งปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก ชาวพุทธเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในการศึกษาปฏิบัติ ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตของเรา ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงได้ ถ้าหวังพึ่งปาฏิหาริย์ หวังพึ่งคนอื่นให้มาช่วยเรา ต้องรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก

เราไม่ได้ภาวนาเพื่อสนองกิเลส

พยายามฝึก มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียก่อน กาย เวทนา จิต ธรรม อะไรก็ได้ที่เราถนัด มีเครื่องอยู่แล้ว มีสติอยู่ แล้วเราก็รู้ว่า เราปฏิบัติธรรมเพื่อสู้กิเลส ไม่ใช่เพื่อเอาดีอะไรหรอก ปฏิบัติธรรมที่เราทำอยู่นี้ มันจะสู้กิเลสหรือมันตามใจกิเลส ไปดูตัวนี้ด้วย ตัวนี้เรียกว่า อาตาปี มีกาเย กายานุปัสสี วิหะระติ ใช้กายในกายเป็นเครื่องอยู่ อาตาปี เป็นเครื่องอยู่เพื่อแผดเผากิเลส ทำให้กิเลสทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อสนองกิเลส ไปภาวนาแล้วเราสังเกตดู ที่เราภาวนานี้สนองกิเลสหรือคิดจะสู้กิเลส ส่วนใหญ่มันก็ภาวนาสนองกิเลส อยากดี อยากเป็นพระอริยะ

อุปาทาน 4

สำหรับคนที่ภาวนาที่จะไปมรรคผลนิพพาน จะมีอุปาทาน 4 ข้อ กามุปาทาน ความยึดในกาม ทิฏฐุปาทาน ความยึดในมิจฉาทิฏฐิ อัตตวาทุปาทาน ความยึดในวาทะ ในความเห็น ในความเชื่อ ว่าตัวตนมีอยู่จริงๆ อีกอันหนึ่งคือสีลัพพตุปาทาน ยึดในข้อประพฤติข้อปฏิบัติ ต้องทำอย่างนี้ ถึงจะดี อย่างอื่นไม่ดี อันนี้สำหรับคนที่จะไปนิพพาน เขาเลยต้องพิจารณาอันนั้น

รู้แจ้งในกองทุกข์จึงสิ้นตัณหา

ขันธ์ 5 ทั้งหมดไม่ใช่แค่ว่าไม่ใช่ตัวเรา เอาเข้าจริงๆ มันคือตัวทุกข์ มันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันทุกข์เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ อันนี้เรียกว่าทุกขสัจ ทุกขสัจจะ เรียกว่าเห็นทุกขสัจ เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้งก็คือพระอรหันต์ เพราะทันทีที่เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละอัตโนมัติเลย สัจจะอันที่สองคือสมุทัยดับทันที สัจจะอันที่สามคือนิโรธ คือนิพพาน ปรากฏขึ้นทันที ทันทีที่จิตสิ้นตัณหา จิตสิ้นตัณหาเพราะจิตรู้แจ้งในกองทุกข์ พอรู้แจ้งในกองทุกข์ก็สิ้นตัณหา พอสิ้นตัณหาก็สัมผัสพระนิพพานเลย พระนิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา และขณะนั้นคือขณะแห่งอริยมรรค

วิธีฝึกให้ได้ตัวรู้

อาศัยสติรู้ทันความปรุงแต่งของใจตัวเอง รู้มันไปเรื่อยๆ สภาวะอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า พอเราลืม หลงไปแล้วก็จังหวะการหายใจเปลี่ยน สติจะเกิดเองเลย จิตจะรู้ตัวขึ้นมา ตื่นขึ้นมา หรือจิตใจเรา เราเคยอ่าน มันสุขบ้าง มันทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง เรารู้ทันความปรุงแต่งที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอเราหลง จิตมีความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ดูง่ายกว่าสุข อย่างดูเวทนา ทุกข์มันดูง่ายกว่าสุข เฉยๆ ดูยากที่สุดเลย ฉะนั้นทีแรกเราจะเห็นทุกข์ก่อน พอใจเราทุกข์ขึ้นมา มันแน่นๆ ขึ้นมา ก็มีสติรู้ทัน
เราเคยดูความทุกข์ความสุขของจิตใจชำนาญ พอโกรธปุ๊บ ใจมันมีความทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันก็จะเห็น มีสติรู้ทันขึ้นมา ทันทีที่รู้ว่ามีความทุกข์ จิตจะดีดผางขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้เลย ครูบาอาจารย์สอน ส่วนใหญ่ให้ดูหลง เพราะหลงนั้นเกิดบ่อยที่สุด ค่อยๆ ฝึก เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดรู้ทัน ฝึกเรื่อยๆ จิตถลำลงไปเพ่งไปจ้องภายใน อารมณ์กรรมฐานบ้าง อะไรที่แปลกปลอมไหวๆ ขึ้นข้างในบ้าง จิตไหลไปเพ่งไปจ้อง รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา รู้ทันหลงแล้ว จิตจะดีดผางขึ้นมาเป็นผู้รู้ พอมีจิตเป็นผู้รู้ คราวนี้การภาวนาจะง่ายแล้ว

วิธีปล่อยวาง

พอเราเดินปัญญาจริงๆ จิตเราก็จะเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว สุดท้ายเราก็ปล่อยวาง เห็นความไม่ได้สาระแก่นสารก็วาง เพราะฉะนั้นการที่เราจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมได้ เราต้องเดินวิปัสสนา ดูไตรลักษณ์ของรูปธรรมของนามธรรม ดูแล้วดูอีก ไม่ใช่คิดเอาเองว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ต้องรู้สึกเอา ต้องดูจนซาบซึ้งถึงอกถึงใจ ถึงจะปล่อยวางได้

Page 2 of 10
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10