สติมีหน้าที่รักษาจิต

เรามีสติคุ้มครองรักษาจิตตนเองไปเรื่อยๆ คุ้มครองไม่ใช่ไปเฝ้าไม่ให้จิตกระดุกกระดิก มีสติคอยรู้เท่าทันจิตตัวเองนั่นล่ะ คอยอ่านจิตตัวเองนั่นล่ะ แล้วสติจะเป็นผู้รักษาจิตเอง เราไม่ต้องรักษาจิต รักษาอย่างไรก็ไม่ได้ สติจะทำหน้าที่อารักขา อารักขาคือมันทำหน้าที่คุ้มครองจิตใจไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อย จิตก็ได้รับความคุ้มครองได้รับการดูแล ไม่ทำผิดศีล ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความตั้งมั่น แล้วการที่เรามีสติ ถ้าจิตเราตั้งมั่น แล้วสติระลึกรู้อะไรก็ตาม อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์ได้

บุพพภาคมรรค

ต้องเจริญสติ เจริญปัญญาให้มาก ศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้มาก ทำให้เจริญขึ้น ก็คือการปฏิบัติตามองค์มรรคนั่นล่ะ เมื่อปฏิบัติมากเข้าๆ ต่อไปเราก็รู้ทุกข์ การที่เราคอยรักษาศีลไว้เป็นพื้นฐาน
ฝึกจิตให้ตั้งมั่น ให้จิตมีกำลัง จิตมีกำลัง จิตต้องสงบแล้วก็ตั้งมั่น แล้วก็เจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของกายของใจ ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องอื่น เราเจริญอยู่ในแนวทางของมรรค ตรงนี้ไม่ใช่อริยมรรค การที่เราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่ใช่อริยมรรค เรียกบุพพภาคมรรค คือเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค เป็นจุดตั้งต้นของอริยมรรค ฉะนั้นเราก็พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาไป ปัญญาคือการเรียนรู้ความจริงของตัวทุกข์ เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิต ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จะเห็นความจริงของกายของจิต

เคล็ดวิชาฝึกจิตเพื่อเดินปัญญา

จิตที่พร้อมเจริญปัญญา ก็เป็นจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นเป็นจิตที่มีลักขณูปนิชฌาน ส่วนจิตที่เป็นกลาง ตัวนี้จะทำให้จิตมีพลัง เป็นอารัมมณูปนิชฌาน หลวงพ่อถึงบอกว่า “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงคือการเจริญปัญญา สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเจริญปัญญา คือ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็คือสภาวะที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนั้นล่ะ ตั้งมั่นเอาไว้เดินปัญญา เป็นกลางนี้เอาไว้ชาร์จพลังให้จิตมีเรี่ยวมีแรง ในสติปัฏฐานทั้ง 4 ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกอะไร อันนั้นแสดงไตรลักษณ์ทั้งหมด เราเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ที่หลวงพ่อใช้คำว่า “เห็นตามความเป็นจริง” ความเป็นจริงคือไตรลักษณ์

เห็นความคิดมันเกิดได้เอง เเต่ก็ยังยินดียินร้ายกับความคิดอยู่ โดยเฉพาะความคิดปรามาสพระรัตนตรัย

คำถาม: ทั้งๆ ที่เห็นความคิดมันเกิดได้เอง เเต่ก็ยังยินดี …

Read more

หลักการปฏิบัติ

ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริงเพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน

ธรรม 10 ประการของนักปฏิบัติ

มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร 5 ข้อ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถัดจากนั้นคือมีวิมุตติ ตัวที่เก้าคือเกิดอริยมรรคเกิดอริยผล พอเกิดอริยมรรคอริยผลแล้ว มันก็ขึ้นมาถึงตัวสุดท้าย ตัวที่สิบชื่อวิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะไม่ใช่เห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นฟุ้งซ่าน วิมุตติญาณทัสสนะก็คือจิตมันทวนกลับเข้าไปพิจารณาว่าตอนที่เกิดอริยมรรคอริยผลนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อริยมรรคได้ทำลายล้างกิเลสชั้นละเอียดคือตัวสังโยชน์ได้กี่ตัวแล้ว ยังเหลือกี่ตัว ทำลายไปกี่ตัว

อ่านจิตตนเอง

การที่เราอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่แค่จะได้สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ไม่ได้แค่สัมมาวายามะ แต่สติของเราจะเข้มแข็งมากขึ้นๆ ทีแรกต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว สติเราพัฒนาแล้ว ทีแรกต้องมีราคะรุนแรงถึงจะรู้ ต่อไปใจโลภนิดเดียว แค่อยากเห็นรูป ก็เห็นแล้ว อย่างเรานั่งอยู่ ได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ เราอยากฟัง อยากหันหน้าไปดู เราก็รู้ทัน เรารู้ได้ละเอียดขึ้นๆ สติเราเร็วขึ้นๆ นั่นล่ะเป็นสัมมาสติ สามารถระลึกได้โดยที่ไม่ได้เจตนาระลึก

หลวงพ่อเริ่มที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ขึ้นมานี้ เริ่มมาจากประโยคเดียว “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เห็นไหม การอ่านจิตตนเองครอบคลุมองค์มรรคทั้ง 8 ได้ การอ่านจิตตนเองนั้น คือการเรียนรู้ทุกข์นั่นเอง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคอัตโนมัติ ไปฝึกเอา ไปทำเอา ไม่มีใครช่วยใครได้หรอก

สัมมาวายามะ

เราทำต้นทางนี้ให้ดี มีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ กุศลเกิดก็รู้ อกุศลเกิดก็รู้ไป ไม่ต้องคาดหวังอะไรหรอก แล้วมันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆ เพราะสติเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ มีความเพียรชอบ ทำให้มากเจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์

ฉะนั้นคอยดูจิตดูใจตัวเองที่เป็นกุศลที่เป็นอกุศลไว้ให้มากๆ สติก็จะดี สมาธิก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วต่อไปพอสมาธิเกิดแล้ว จะเห็นไตรลักษณ์ ลำพังสติไม่มีสมาธิหนุนหลังอยู่ ไม่มีสัมมาสมาธิหนุนหลัง ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกกาย เห็นอะไร เห็นกาย สติระลึกรู้เวทนา เห็นอะไร ก็เห็นเวทนา สติระลึกรู้กุศลอกุศล เห็นอะไร เห็นกุศล อกุศล แต่ถ้าจิตมีสัมมาสมาธิตั้งมั่น มันจะเห็นเลยว่ากายที่สติระลึกรู้ ไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา เวทนาที่สติระลึกรู้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลที่จิตระลึกรู้ คือสังขารทั้งหลายไม่ใช่เราๆ ค่อยดูไป พอปัญญามันแก่รอบแล้วต่อไปวิมุตติมันก็เกิดเอง

หน้าที่ของเราคือแหกคุกให้ได้

จิตเหมือนคนติดคุก มันถูกขังอยู่ในคุก แล้วมันก็เป็นคุกที่ป่าเถื่อน ตัณหาเป็นผู้คุมเราอีกที แล้วสั่งงานเราอยู่ในคุกตลอดเวลา คุกที่ขังจิตมันเคลือบครอบคลุมจิตอยู่ ตัวนี้คือตัวอาสวกิเลส มันครอบคลุมจิตใจเราไว้ ห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แทรกซึมเข้าไปในจิตใจ แล้วก็ผลักดันให้เกิดตัณหาบงการบังคับจิตใจทั้งวันทั้งคืน พอภาวนามาเห็นตรงนี้ หลวงพ่อยอมไม่ได้แล้ว แต่เดิมคิดว่าเราอิสระ แต่ตอนนี้รู้ความจริงแล้วว่าจิตใจเราไม่ได้อิสระ จิตใจเราเกิดมาก็เป็นทาสแล้ว ยอมไม่ได้ ต้องแหกคุกนี้ให้ได้ ถ้ายังทำลายคุกอันนี้ไม่ได้ จะไม่เลิกปฏิบัติหรอก คล้ายๆ หน้าที่ของเราคือแหกคุก แหกคุกก็คืออาสวกิเลสมันห่อหุ้มจิตใจเราไว้ แล้วตัณหามันก็บงการจิตใจเรา

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป เรียนรู้ลงไป ในที่สุดก็ทำลายนายทาสตัวนี้ลงไป แต่มันทำลายเป็นระดับๆ ไป อยู่ๆ ไปทำลายตัณหา ทำไม่ได้ จะทำลายตัณหาได้ต้องทำลายอวิชชาได้ ความไม่รู้ ของเราตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ของเราภาวนาไป เห็นไปร่างกายไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง จิตใจไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เพราะจิตใจเป็นของที่เราสั่งอะไรก็ไม่ได้ ดูอย่างนี้ก่อน แล้วขั้นปลายค่อยไปดูว่าร่างกายคือตัวทุกข์ จิตใจคือตัวทุกข์

วิปัสสนาปัญญา

ไปทำให้นิ่งๆ เฉยๆ อยู่ ไม่ล้างกิเลสหรอก ตกเป็นเครื่องมือของกิเลสอีก ตัวที่จะสู้กิเลสล้างกิเลสได้จริงคือตัวปัญญา ตัวความรู้ถูกความเข้าใจถูก พระพุทธเจ้าบอกบุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ปัญญาก็คือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ถึงจะเป็นปัญญาระดับที่สู้กิเลสได้ เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา ถึงจะสู้กิเลสได้จริง วิปัสสนะ แปลว่า การเห็น เห็นอย่างถูกต้อง วิ แปลว่าเห็นแจ้ง แปลว่าแจ่มแจ้ง ปัสสนะ แปลว่าการเห็น เห็นอย่างแจ่มแจ้ง เห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตใจเป็นไตรลักษณ์ นั่นล่ะเรียกว่าเห็นแจ่มแจ้ง อันนั้นล่ะถึงจะเป็นวิปัสสนา

Page 4 of 9
1 2 3 4 5 6 7 8 9