หลักต้องแม่น ศิลปะต้องมี

หลักของการปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าสอนแต่ละคนมีหลักของการปฏิบัติ หลักของสติปัฏฐาน ของสมถะ ของวิปัสสนา สอนเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท 24 อะไรอย่างนี้ แต่ตอนที่ลงมือปฏิบัติมันมีศิลปะ ศิลปะว่าตอนนี้ควรจะทำสมถะ หรือควรจะทำวิปัสสนา ถ้าจะทำสมถะ สมถะชนิดไหนเหมาะกับเรา ชนิดไหนไม่เหมาะ จะทำวิปัสสนาจะใช้กรรมฐานอะไร แล้วจะมองในมุมของอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา มันเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เราสังเกตตัวเอง

กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

ทำวิปัสสนาพอสมควร พอจิตเริ่มเหนื่อยก็หยุด อย่าตะบี้ตะบันทำวิปัสสนา ก็ต้องหยุดทำสมถะขึ้นมา ทำสมาธิให้จิตมีกำลังขึ้นมาแล้วไปเดินปัญญาต่อ ถ้าเดินอย่างนี้ทำให้มาก เจริญให้มาก ไม่ขี้เกียจไม่ใช่นานๆ ทำที ทำให้ได้ทุกวันๆ ทำให้ได้มากที่สุดที่จะทำได้ เราก็อาจจะได้มรรคได้ผลในชีวิตนี้ ไม่ต้องรอชาติไหนหรอก ถ้าเราทำไม่ถูก ทำถูกแล้วขี้เกียจ ยังไม่ได้หรอกอีกนาน กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

งานภาวนา 3 ขั้น

งานแรก คือตื่นขึ้นมา หลุดออกจากโลกของความคิดความฝันโดยที่ไม่เผลอไม่เพ่ง อันที่สอง คือ แยกขันธ์ออกมาให้ได้ งานที่สามของเรา คืองานเจริญวิปัสสนา พอเราแยกขันธ์ได้ เราก็จะเห็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนามเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่การทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา แล้วบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจอยาก นี่คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

อารัมมณูปนิชฌาน – ลักขณูปนิชฌาน

จะดูไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตต้องมีลักขณูปนิชฌาน คือมีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้เห็น เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ถ้าลำพังเห็นรูปเห็นนามเรียก อารัมมณูปนิชฌาน เพ่งตัวอารมณ์ ใช้รูปเป็นอารมณ์ ใช้นามเป็นอารมณ์ ใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ หรือกระทั่งใช้นิพพานเป็นอารมณ์ อันนั้นเป็นอารัมมณูปนิชฌาน แต่ตรงที่เห็นนิพพานจริงๆ มันเป็นลักขณูปนิชณาน

การดูจิต

กฎของการดูจิต ข้อหนึ่ง ให้สภาวะเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามีสภาวะเกิด ข้อสอง ระหว่างดูสภาวะไม่ถลำลงไปดู ดูแบบคนวงนอก ข้อสาม เมื่อรู้สภาวะแล้วจิตหลงยินดีให้รู้ทัน จิตหลงยินร้ายให้รู้ทัน จิตก็เป็นกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับสภาวะ สุขหรือทุกข์ก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีหรือชั่วก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นถึงไตรลักษณ์

จิตตั้งมั่น

พอจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว มันจะเห็นทุกข์ได้ ถ้าจิตไปว่างอยู่ข้างนอก ไม่มีวันเห็นทุกข์หรอก มันมีแต่สุข มันมีแต่สบาย มีแต่ว่าง ถ้าจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวจริงๆ ระลึกลงในกายก็เห็นทุกข์ในกาย ระลึกลงที่จิตก็เห็นทุกข์ที่จิต ตรงนี้จิตมันเดินปัญญาได้ แล้วขันธ์มันแยก มันแยกตั้งแต่จิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว

สีลัพพตปรามาส

ปุถุชนอย่างไรก็ปฏิบัติผิด เพราะปุถุชนยังมีสีลัพพรตปรามาสอยู่ ยังมีการถือศีลบำเพ็ญพรตแบบลูบๆ คลำๆ งมงาย ลูบๆ คลำๆ ก็คือยังไปหลงมุ่งเอาดี เอาสุข เอาสงบเป็นเป้าหมายอยู่ ฉะนั้นเราค่อยๆ สังเกตตัวเอง วันหนึ่งมันก็จะค่อยเข้าใจมากขึ้น ถือศีล ทำสมาธิ เจริญปัญญา ไม่ใช่เพื่อดี เพื่อสุข เพื่อสงบหรอก แต่เพื่อจะสามารถเห็นรูปนามกายใจตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้นได้

Page 9 of 9
1 2 3 4 5 6 7 8 9