การปฏิบัติทิ้งจิตไม่ได้

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตใจของตนเอง จับหลักตรงนี้ให้แม่นๆ แล้วเราจะก้าวหน้าได้ ถ้าเราเอาแต่ทำกรรมฐาน แล้วเราละทิ้งจิตของตนเอง มันจะก้าวมาไม่สู่จุดที่จิตมีสัมมาสติและสัมมาสมาธิเลย ก้าวขึ้นมาไม่ได้ พยายามแทบตาย เหน็ดเหนื่อยแทบตาย แต่ก็ไม่ได้อะไรเท่าไรหรอก เพราะมันทำไม่ถูก ไม่ได้หัวใจของการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นต่างหากล่ะ เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไปเนืองๆ รู้ไปเรื่อยๆ รู้สบายๆ ถนัดอะไรก็ทำอันนั้นล่ะ แต่ให้ความสำคัญกับการรู้ทันจิตใจตนเอง ภาวนาอย่าทิ้งจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของธรรมะทั้งปวง ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ หลวงปู่ดูลย์ก็สอน “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตมรรค” เห็นแจ่มแจ้งก็คือเห็นอะไร เห็นว่าจิตเองก็เป็นตัวทุกข์นั่นล่ะ ทันทีที่เห็นทุกข์ มันก็วาง เรียกเห็นทุกข์ก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคขึ้นมา ก็อยู่ที่จิตทั้งหมด

รู้สภาวะที่เรารู้ได้

พวกเราต้องหัดรู้สภาวะให้ได้ แล้วสภาวะที่เราต้องหัดรู้ คือสภาวะที่เรารู้ได้ เราเห็นได้ อะไรที่เราไม่รู้ไม่เห็น ไม่ต้องหรอก ค่อยๆ ดูไป แล้วใช้จิตเป็นวิหารธรรม สิ่งที่เกิดกับจิตนั้นก็เวทนาเกิดร่วมกับจิต สัญญาเกิดร่วมกับจิต สังขารเกิดร่วมกับจิต แล้วก็จิตก็ทำงานทางอายตนะ ตรงที่เห็นจิตทำงานทางอายตนะ มันขึ้นสู่ธัมมานุปัสสนาแล้ว เราดูสิ่งที่เราดูได้ อันไหนเราทำไม่ได้ อย่าไปทำ ทำที่ทำได้

สันตติขาด

เราต้องฝึกให้ได้จิตรู้ขึ้นมา แล้วสันตติคือความสืบต่อของจิตจะขาด จิตจะไม่ได้มีดวงเดียวยาวๆ แล้ว แต่จะขาดเป็นช่วงๆๆ แล้วตรงนี้เราจะเห็นแต่ละช่วงไม่เที่ยง จิตรู้ไม่เที่ยง จิตหลงไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง ตรงที่จิตหลง จิตหลงไปดูก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปฟังก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปเพ่งก็ไม่เที่ยง จิตมีความสุขก็ไม่เที่ยง จิตมีความทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง เราจะเห็นทุกดวงมันไม่เที่ยงๆๆ ไป ตรงนั้นล่ะที่เรียกว่าเราเห็นเกิดดับ ถ้าสันตติไม่ขาดไม่เห็นเกิดดับหรอก สันตติจะขาดได้ จิตต้องตั้งมั่น ต้องได้ผู้รู้ขึ้นมาก่อนสันตติถึงจะขาด

นั่งสมาธิดูลมหายใจใช้พุทโธกำกับ สังเกตว่านั่งสมาธิและเดินตอนเช้าและเดินเย็น จิตดิ่งไม่บ่อย แต่จะวิ่งพล่านไปคิด แต่ถ้านั่งสมาธิช่วงบ่ายจิตจะดิ่งอย่างรวดเร็ว

คำถาม: นั่งสมาธิดูลมหายใจใช้พุทโธกำกับ เวลาเริ่มสงบ จิต …

Read more

แก่นของการปฏิบัติคือจิต

แก่นของการปฏิบัติคือจิตนี้เอง เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานอย่างหนึ่งไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่คอยรู้ทันจิตตนเองไป จิตที่ไม่สงบ ก็คือจิตที่มันไหลไปทางอารมณ์ต่างๆ ไหลไปคิด ไหลไปจมอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น นั้นไม่สงบจริง แต่ตรงที่เรารู้ว่าจิตเคลื่อน ตรงนั้นล่ะความสงบจะเกิดขึ้นนิดหนึ่ง ชั่วขณะเท่านั้น ทำบ่อยๆ จนกระทั่งความรู้ตัวถี่ยิบขึ้นมาเลย หลวงพ่อสอนวิธีนี้ เพราะพวกเราทำฌานไม่ได้ สะสมสมาธิเป็นขณะๆๆ ไป พอมันมีกำลังมากแล้ว มันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันเหมือนจิตที่ทรงอุปจารสมาธิได้ มันทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา

จากจุดเล็กๆ เหมือนน้ำหยดใส่ตุ่มทีละหยดๆ น้ำก็เต็มตุ่มขึ้นมา จิตก็มีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา ตรงนี้เราเอาไปเดินปัญญาได้แล้ว ถ้าจิตยังไม่ตั้งมั่น อย่าพูดเรื่องเดินปัญญา ทำไม่ได้หรอก จิตยังไหลไปไหลมา หรืออ่อนแอปวกเปียก ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะฉะนั้นเราอย่าละเลยที่หลวงพ่อบอก ทุกวันต้องไปทำกรรมฐาน แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตไหลไปคิด รู้ทัน จิตไหลไปเพ่ง รู้ทัน ในที่สุดเราจะได้จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา

หลักสูตรสู่มรรคผลนิพพาน

งานพัฒนาจิตมี 3 งาน อันที่หนึ่งฝึกจิตใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว อันที่สองแยกขันธ์ให้ได้ อันที่สามเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ เห็นสภาวะแต่ละสภาวะตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูสิมันจะโง่จนไม่ได้มรรคได้ผลเชียวหรือ ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ ชาตินี้ไม่ได้ชาติต่อไปก็ง่ายๆ แล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะได้ หลวงพ่อไม่ได้ชี้ขาดว่าทุกคนจะต้องได้ในชาตินี้
แต่ถ้าเราทำไม่เลิก แล้วเราไม่ได้มีวิบากอะไรรุนแรง วันหนึ่งเราก็ต้องได้
เพราะฉะนั้นทำ 3 ข้อนี้ให้ได้ คืองานพัฒนาจิต
ถ้าพูดเทียบกับปริยัติ
อันแรกก็คือ การพัฒนาสัมมาสมาธิขึ้นมา
งานที่สองคือ การเจริญปัญญาเบื้องต้น
อันที่สามคือ การเจริญให้เกิดวิปัสสนาปัญญา
โสดาบันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องยากเลย
รักษาศีล 5 ให้ดี แล้วก็ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก
ฝึกจิตใจให้มันรู้เนื้อรู้ตัวไว้ แล้วก็แยกขันธ์
กายส่วนกาย จิตส่วนจิต เป็นคนละส่วน
เห็นแค่ว่าเป็นคนละส่วน
กายก็อย่างหนึ่ง จิตก็อย่างหนึ่ง
ไม่ได้ถอดจิตออกจากร่าง อยู่ด้วยกันแต่เป็นคนละอัน

บริกรรมคาถามงกุฎพระพุทธเจ้า พยายามรู้กายรู้ใจ ขอทางสายกลางเฉพาะตัวที่ทำให้เป็นที่พึ่งของตนได้

คำถาม: ตั้งใจรักษาศีลและฝึกสติ บริกรรมคาถามงกุฎพระพุทธเ …

Read more

เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์จึงปล่อยวางจิต

เราจะปล่อยวางจิตได้ ก็ต้องเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเราไม่ได้เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ มันไม่วางหรอก มันเหมือนที่เราปล่อยวางกาย เราเห็นกายมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็วาง จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็ไม่วาง ถ้าเราเห็นแล้วมันถึงจะวาง เพราะฉะนั้นอย่างที่เรามาหัดดูจิตๆ เราก็จะมาเห็น จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่วเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปฟังเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดมกลิ่น จิตที่ไปลิ้มรส จิตที่ไปรู้สัมผัสทางกาย เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปคิดนึกทางใจ เกิดแล้วก็ดับ ตรงที่มันไปคิดนึกทางใจ ก็จะเกิดเป็นจิตสุขบ้าง จิตทุกข์บ้าง จิตดีบ้าง จิตโลภ โกรธ หลงบ้าง แต่จิตทุกชนิดนั้นเกิดแล้วดับ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ถึงจุดหนึ่งมันจะวาง มันจะปล่อยวางจิตได้ ถ้าปล่อยวางจิตได้ มันก็ไม่มีอะไรให้ยึดอีกแล้ว

ผู้มีปัญญามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

โลกไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ ผู้มีปัญญาก็หาที่พึ่งที่อาศัย ที่พึ่งที่อาศัยของเราก็คือสรณะนั่นเอง ในสังสารวัฏสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริงๆ ก็มีแต่พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของอื่นไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่ง ที่อาศัยได้ชั่วครั้งชั่วคราว ทำอย่างไรเราจะสามารถมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์มาเป็นสรณะ และเป็นที่พึ่งในจิตใจของเราได้ ตัวนี้เราจะต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ สิ่งที่ต้องรักษาคือศีล สิ่งที่ต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอก็เรื่องของสมาธิ สิ่งที่ต้องพัฒนาให้เจริญไปเรื่อยๆ คือปัญญา การทำ 3 อย่างนี้ 3 สิ่งนี้ จะทำให้เรามีจิตใจที่พัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็มีที่พึ่ง เราเข้าถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

มีปัญญารู้ทุกข์จะละกามได้

ถ้าเราเห็นกายนี้มีแต่ทุกข์แต่โทษ ความหลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส มันก็จะลดลง ไม่รู้จะเสพไปทำไม เสพแล้วหวังว่าจะมีความสุข แต่เสพแล้วจริงๆ มันก็หนีความทุกข์ไม่พ้น เพราะฉะนั้นทางพ้นทุกข์ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สนองกิเลส ไม่ได้ว่าเสพกามเยอะๆ แล้วจะพ้น แล้วก็ไม่ใช่กดข่มบังคับตัวเอง อยากกินไม่กิน อยากนอนไม่นอน อยากสบายก็นอนบนตะปูมันเสียเลย แต่ท่านให้ใช้ปัญญา มีสติ มีปัญญา มีสมาธิคือภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็มีสติระลึกลงไปในร่างกาย พอสติระลึกลงในกายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง มันจะเห็นความจริงของกาย กายนี้ไม่ใช่ของดี กายนี้เต็มไปด้วยทุกข์ กายนี้เต็มไปด้วยโทษ ไม่น่าปรารถนา เพราะฉะนั้นความหลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย มันจะลดลงเอง เพราะมันรู้ตัวที่เสพรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรพวกนี้ ตัวมันเองนั่นล่ะทุกข์แสนทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีปัญญารู้ทุกข์ เราก็จะละกามทั้งหลายได้ ละความหลงโลกได้

Page 7 of 9
1 2 3 4 5 6 7 8 9