ทำสมาธิด้วยความมีสติ

วิปัสสนาคือการเห็น ปัสสนะ แปลว่าการเห็น ตรงตัวเลย วิ แปลว่าแจ้ง คือเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เราเห็นกายถูกต้องตามความเป็นจริง คือเห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตถูกต้องตามความเป็นจริง ก็คือเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นตามความเป็นจริงได้ จิตต้องไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด มิฉะนั้นผิดทันที จิตต้องตื่น ตื่นขึ้นมาให้ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องภาวะที่จิตเราตื่นขึ้นมา มีสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา เป็นเรื่องใหญ่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่พวกเราขาดมากที่สุดเลย ฆราวาสทั้งหลายขาดสัมมาสมาธิ ขาดสมาธิที่ถูกต้อง มีสมาธิเคลิ้มๆ สมาธิเห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นไม่ได้เรื่องอะไร ไปทำสมาธิแล้วก็มีสติคอยรู้ทันจิตเอาไว้ แล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาๆ ทั้ง 8 ประกอบด้วยสติทั้งสิ้น ขาดสติตัวเดียว สัมมาทั้งหลายหายหมด กลายเป็นมิจฉาหมดเลย ฉะนั้นสติจำเป็น จำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา

เราสามารถสร้างความดีขึ้นในจิตใจเราได้ในทุกๆ สถานการณ์ ฉะนั้นที่บอกว่าเราไม่มีเวลาจะสร้างความดี ไม่มีเวลาปฏิบัติอะไร เพราะยังไม่เข้าใจคำว่าปฏิบัติ ไปคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หลวงพ่อบอกเลย หลวงพ่อภาวนามา นั่งสมาธิ เดินจงกรมพอประมาณเท่านั้น ทำทุกวันล่ะแต่ว่าไม่ได้ทำเยอะ ทำพอให้จิตใจมีเครื่องอยู่ มีที่อยู่ที่อาศัย มีกำลังขึ้นมา แล้วก็เจริญปัญญา

ตรงที่เราทำงานอยู่นั้น เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ อย่างเวลาจะจัดประชุม เราต้องเตรียมข้อมูล เตรียมอะไรมากมาย หัวหมุนติ้วๆ เลย เราก็ดูใจไป ใจมันเบื่อ ใจมันร้อนรน กลัวจะทำไม่ทันอย่างนี้ ดูลงไปเลย เราได้ปฏิบัติอยู่แล้ว พองานเราเสร็จ เราก็รอเวลาประชุม เมมเบอร์มาไม่ครบเสียที ยืดเยื้อ เย็นนี้เราก็จะต้องมีธุระไปโน่นไปนี่ การประชุมก็ล่าช้า เลท เพราะว่าบางคนมันไม่มาง่ายๆ เถลไถล ไม่เคารพเวลาของคนอื่นอะไรอย่างนี้ ใจเรากลุ้มใจ รู้ ใจเราโมโห รู้ หลวงพ่อปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติอยู่ในชีวิตจริงๆ นี้ล่ะ

การได้สมาธิไม่ใช่แค่นั่งสมาธิเดินจงกรมหรอก เรารู้จักวางจิตใจให้ถูกในทุกๆ สถานการณ์ นั้นล่ะ เราสามารถทำกุศลให้เกิดได้

ฝึกให้จิตมีแรงแล้วเดินปัญญา

การฝึกจิตใจมันมี 2 ขั้นตอน ขั้นฝึกให้จิตสงบมีเรี่ยวมีแรง กับฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกให้จิตสงบก็คือฝึกให้จิตมันรู้จักหยุดเสียบ้าง ธรรมดาจิตเราวิ่งพล่านๆ ทั้งวัน เดี๋ยววิ่งไปคิด เดี๋ยววิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางร่างกาย จิตมันวิ่งตลอดเวลา มันก็เหนื่อย หมดเรี่ยวหมดแรง คล้ายๆ ร่างกาย วิ่งๆ ไปเรื่อยๆ ก็หมดแรง ก็ต้องพัก จิตก็ต้องพักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องหัดกรรมฐาน ที่เรียกว่าสมถกรรมฐาน พอพักพอสมควรมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็ต้องออกไปทำมาหากิน

ถ้าร่างกายพักพอสมควรมีแรงแล้ว ออกไปทำมาหากิน หาผลประโยชน์ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราพักพอสมควรแล้ว ออกไปทำประโยชน์ ออกไปเจริญปัญญา นั่นล่ะหาของดีมาให้จิตใจ ปัญญามันเป็นอาหารชั้นเลิศของใจ

ปัญญาทำหน้าที่ล้างความเห็นผิด

เราโน้มน้อมไปดูกายแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ เรียกโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัศนะ เห็นจิตใจมันทำงาน จิตเราเป็นคนดู ก็เห็นจิตมันทำงานได้ ตั้งมั่นอยู่ หายใจพุทโธๆๆ เดี๋ยวหนีไปคิดได้ เห็นมันทำงาน อย่างนี้ก็เป็นญาณทัศนะ ได้เห็นอย่างมีปัญญา ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็เกิด ปัญญาเกิดมันก็ล้างความเห็นผิด ล้างความเห็นผิดนั้น คือตัวปัญญาที่สำคัญ ปัญญาทำหน้าที่ล้างความโง่เขลา แล้วกิเลสตัวละเอียดถูกทำลายไป กิเลสอย่างกลางมันก็ถูกทำลายด้วย กิเลสอย่างหยาบมันก็ถูกทำลายไปด้วย เพราะฉะนั้นตัดลงที่จิตอันเดียวนี้ เห็นแจ้งลงที่จิตอันเดียว ก็ล้างหมดเลย

ความรู้สึกตัวสำคัญที่สุด

พยายามรู้สึกตัวไว้ ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านก็บอก ท่านไม่เห็นธรรมะอย่างอื่นสำคัญเหมือนความรู้สึกตัว ถ้ารู้สึกตัวได้ก็จะละกิเลสที่มีอยู่ได้ แล้วก็กิเลสใหม่ก็ถูกปิดกั้น เกิดไม่ได้ เวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ กิเลสมันเกิดตอนเผลอเท่านั้นล่ะ แล้วเวลาที่เรารู้สึกตัวอยู่ก็มีสติอยู่ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ตัวนั้นคือกุศล ถ้าเรารู้สึกตัวบ่อยๆ กุศลมันก็เจริญขึ้นมา พัฒนาออกมา งอกงามออกมา เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นวิมุตติ พัฒนาเป็นลำดับไป

ความรู้สึกตัวเป็นของมีค่ามาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไปให้ความสำคัญกับคนอื่น กับสิ่งอื่น ละเลยความสำคัญของความรู้สึกตัว ฉะนั้นเราพยายามรู้สึกตัวไว้ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็รู้สึกตัวไว้

ฝึกจิตเพื่ออนาคตที่สดใส

ไปฝึกเอาเพื่อชีวิตที่มีคุณค่า ชีวิตที่มีความสุข ชีวิตที่มีอนาคตที่แจ่มใส ถ้าเราไม่ได้ฝึกกรรมฐาน เราไม่มีชีวิตที่มีอนาคตที่แจ่มใส พวกเรามีความแก่รออยู่ข้างหน้า มีความเจ็บรออยู่ข้างหน้า มีความพลัดพรากรออยู่ข้างหน้า มีความตายรออยู่ข้างหน้า ฉะนั้นในโลกไม่มีชีวิตที่สดใสรออยู่ข้างหน้าหรอก แต่ในทางธรรมมี ฝึกจิตของตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยสมถะด้วยวิปัสสนานี่ล่ะ เรามีความสุขมีความสงบตั้งแต่ปัจจุบัน อนาคตก็มีความสุขความสงบสูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเรามีความสุขความสงบของพระนิพพาน

นิพพานเป็นความสงบอย่างยิ่ง นิพพานมีสันติลักษณะ มันสงบ นิพพานมีความสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง นั่นล่ะเรามีรางวัลใหญ่รอเราอยู่ข้างหน้าสำหรับชาวพุทธทั้งหลาย ฉะนั้นเราทำ ฝึกของเราทุกวันๆ อย่าทิ้งเวลาให้เปล่าประโยชน์ไป

สันตติขาด

เราต้องฝึกให้ได้จิตรู้ขึ้นมา แล้วสันตติคือความสืบต่อของจิตจะขาด จิตจะไม่ได้มีดวงเดียวยาวๆ แล้ว แต่จะขาดเป็นช่วงๆๆ แล้วตรงนี้เราจะเห็นแต่ละช่วงไม่เที่ยง จิตรู้ไม่เที่ยง จิตหลงไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง ตรงที่จิตหลง จิตหลงไปดูก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปฟังก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปเพ่งก็ไม่เที่ยง จิตมีความสุขก็ไม่เที่ยง จิตมีความทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง เราจะเห็นทุกดวงมันไม่เที่ยงๆๆ ไป ตรงนั้นล่ะที่เรียกว่าเราเห็นเกิดดับ ถ้าสันตติไม่ขาดไม่เห็นเกิดดับหรอก สันตติจะขาดได้ จิตต้องตั้งมั่น ต้องได้ผู้รู้ขึ้นมาก่อนสันตติถึงจะขาด

สะสมการเห็นถูก

เราก็จะเห็นแต่ละตัวๆ แต่ละสภาวะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น เราต้องการจะมาเห็นตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าราคะไม่เที่ยงแต่โทสะมันเที่ยง ไม่ใช่ ทุกตัวเหมือนกันหมดเลย สุขหรือทุกข์ก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลหรืออกุศลก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดูให้มันเห็นไตรลักษณ์ ย้ำ ขีดเส้นใต้คำว่าเห็น ไม่ใช่คิด ต้องเห็นเอา ฉะนั้นวิปัสสนา วิปัสสนะก็คือวิ แปลว่าแจ้ง ปัสสนะ คือการเห็น ต้องเห็นเอา คิดเอาไม่ได้ เพ่งเอาก็ไม่ได้ ต้องเห็นเอา

อุบายของครูบาอาจารย์

บางคนภาวนาแล้วก็เห็นโลกพระนิพพาน อันนั้นเป็นนิมิต บางท่านท่านเข้าใจความจริง อย่างบางองค์ท่านภาวนาดี แต่ท่านชอบพูดถึงโลกนิพพาน อันนั้นเป็นอุบาย เป็นอุบายให้เราอยากได้นิพพานไปก่อน แล้วพอเราเจริญสติปัฏฐานมากๆ เราไม่ยึดรูป ไม่ยึดนาม ก็รู้จักนิพพานตัวจริงได้ เป็นอุบายของท่าน บางองค์ พระพุทธเจ้าท่านบอกตรงไปตรงมาที่สุดเลย แล้วพวกเรารับไม่ค่อยได้ มันไม่เคยรู้จักสิ่งซึ่งเหนือรูปธรรมนามธรรมขึ้นไป พอฟังแล้วมันรับไม่ได้ ครูบาอาจารย์รุ่นหลังๆ ก็เลยหลอกๆ เอา สร้างอะไรที่ปลุกเร้าให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างทำวัตถุมงคลมาเพื่อให้เรารักษาศีล เพื่อให้เรานั่งสมาธิ แล้วก็สอนโน่นสอนนี่ เห็นนรก เห็นสวรรค์ เพื่อเราจะได้ไม่ได้ทำผิดศีล เป็นอุบายมากมาย ถ้าเรามัวแต่ติดอุบาย เราก็ไปไหนไม่ได้หรอก แหวกอุบายไม่ออก ถ้าแหวกออกก็จะเข้าใจร้อง โอ๊ย สติปัญญาครูบาอาจารย์ไม่ธรรมดา สอนคนโง่ๆ อย่างเราให้ก้าวหน้าขึ้นมาได้

รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด

เริ่มตั้งแต่คอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด ถ้าเรารู้ตรงนี้ได้ ความคิดของเราก็จะสะอาด คำพูดของเราก็จะสะอาด การกระทำของเราก็จะสะอาด การเลี้ยงชีวิตทำมาหากินก็จะสะอาด ไม่ฉ้อฉลหลอกลวง เบียดเบียนใคร แล้วก็อกุศลที่เคยมีมันก็จะค่อยๆ ลดลง อกุศลใหม่ก็จะไม่เกิด กุศลที่ไม่เคยมีก็จะเกิดขึ้น กุศลที่มีแล้วก็จะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นตรงที่เรามีสติรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของตัวเอง หลวงพ่อมอง มันแทบจะเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติจริงๆ การปฏิบัติไม่ใช่นั่งสมาธิเดินจงกรมเฉยๆ มันตั้งแต่ว่าขัดเกลาตัวเองด้วยศีล หรือดูแลคำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของตัวเองให้ดี ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส แล้วก็ถัดจากนั้นตัวสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น คือจิตใจเราเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสผลักดันให้วิ่งพล่านๆ เหมือนหมาถูกน้ำร้อน พอจิตใจเราเป็นปกติ จิตใจมันก็สงบ เพราะฉะนั้นศีลไม่ใช่เรื่องเล็ก ถ้าศีลของเราเสีย อย่ามาคุยเรื่องสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง อย่ามาพูดเรื่องเจริญปัญญา ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญบอกแล้วว่าศีลเราจะดี ถ้าเราคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา

Page 2 of 4
1 2 3 4