เรียนปริยัติแล้วต้องลงมือปฏิบัติ

ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ

สัทธรรมปฏิรูป

จุดเร่งด่วนที่พวกเราต้องมี คือการศึกษาการปฏิบัติ ต้องทำ ไม่อย่างนั้นเราดำรงพระพุทธศาสนาเอาไว้ไม่ได้ คนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา บางคนก็ไปมองว่า พวกศาสนาอื่นจะมาทำลาย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนาได้ ก็คือพุทธบริษัทนั่นเอง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา คือคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา เพราะไม่ได้ศึกษาธรรมะให้ถ่องแท้ แล้วก็เชื่อ คิดผิดๆ เชื่อผิดๆ แล้วก็พูดผิดๆ ออกไป ถ่ายทอดธรรมะที่ผิดออกไป มันมีโทษรุนแรง คือบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา นึกถึงที่หลวงปู่มั่นบอกเลยว่า “พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปประดิษฐานอยู่ในจิตปุถุชน จะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูปทันทีเลย” มันจะเพี้ยนทันทีเลย

ชาวพุทธต้องศึกษาปฏิบัติ

ชาวพุทธเราร่อยหรอเต็มทีแล้ว ชาวพุทธเราไม่ได้เชื่อฟังพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ใส่ใจในการศึกษา ชาวพุทธเรายังตกอยู่ในความประมาท ใช้ชีวิตร่อนเร่ไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็หวังพึ่งคนอื่น หวังพึ่งสิ่งอื่น ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก มันเป็นพุทธแต่ชื่อหรอก ไม่มีการศึกษาอย่างยิ่งเลย เชื่องมงาย หวังแต่จะพึ่งปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก ชาวพุทธเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในการศึกษาปฏิบัติ ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตของเรา ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงได้ ถ้าหวังพึ่งปาฏิหาริย์ หวังพึ่งคนอื่นให้มาช่วยเรา ต้องรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก

เราไม่ได้ภาวนาเพื่อสนองกิเลส

พยายามฝึก มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียก่อน กาย เวทนา จิต ธรรม อะไรก็ได้ที่เราถนัด มีเครื่องอยู่แล้ว มีสติอยู่ แล้วเราก็รู้ว่า เราปฏิบัติธรรมเพื่อสู้กิเลส ไม่ใช่เพื่อเอาดีอะไรหรอก ปฏิบัติธรรมที่เราทำอยู่นี้ มันจะสู้กิเลสหรือมันตามใจกิเลส ไปดูตัวนี้ด้วย ตัวนี้เรียกว่า อาตาปี มีกาเย กายานุปัสสี วิหะระติ ใช้กายในกายเป็นเครื่องอยู่ อาตาปี เป็นเครื่องอยู่เพื่อแผดเผากิเลส ทำให้กิเลสทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อสนองกิเลส ไปภาวนาแล้วเราสังเกตดู ที่เราภาวนานี้สนองกิเลสหรือคิดจะสู้กิเลส ส่วนใหญ่มันก็ภาวนาสนองกิเลส อยากดี อยากเป็นพระอริยะ

คอยรู้ทันความปรุงแต่ง

จุดสำคัญ เราจะต้องคอยรู้เท่าทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มันไม่ยากหรอก อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ ส่วนใหญ่พอมีความสุขมันก็เผลอเพลิน มีความทุกข์ก็มัวแต่เศร้าโศก หดหู่ ท้อแท้ แทนที่มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เห็นว่าความสุขเป็นของที่แปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ต้องไปหดหู่ท้อแท้ ก็เห็นว่าความทุกข์ทั้งหลายผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนกันหมด จะสุขหรือจะทุกข์ก็คือมาแล้วก็ไป กุศลหรืออกุศลก็เหมือนกัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง จิตจะหลงในความปรุงแต่ง แล้วจิตเรามันจะยึดถือ ยึดถือจิตขึ้นมา ถ้ามีความปรุงแต่งเกิดขึ้น เรามีสติมีปัญญา จิตไม่เข้าไปยึดถือความปรุงแต่ง จิตก็ไม่เข้าไปยึดถือจิต

สมถกรรมฐานไม่เลือกอารมณ์

การปฏิบัติธรรมถ้าเราทำสมถะ สมถะไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้ สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์เป็นของที่คู่กับจิต เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นก็ต้องมีจิต ของคู่กัน

เรื่องของสมถะไม่ใช่มีแค่เรื่องเข้าฌาน ไม่ได้แคบแค่นั้นหรอก สมถกรรมฐานในตำราเขาบอกไว้ว่าใช้อารมณ์อะไรก็ได้ อารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่คิดก็ได้ อย่างคิดเรื่องปฏิกูลเรื่องอสุภะ คิดพิจารณาร่างกาย คิดอะไรนี้ เป็นเรื่องคิดทั้งนั้น หรือคิดพิจารณาชีวิต พิจารณาซากศพ เป็นเรื่องคิดเอา ไม่มีสภาวธรรมรองรับ เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ ก็ใช้ทำสมถะได้ อารมณ์รูปธรรมก็ใช้ทำสมถะได้ อย่างหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ลมหายใจเป็นรูป เดินจงกรม เห็นร่างกายมันเดินแล้วคอยรู้สึกไว้ จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น นี่ก็เป็นสมถะ เห็นท้องพองเห็นท้องยุบจิตไม่หนีไปที่อื่น อันนี้ก็เป็นสมถะ ใช้รูปก็ได้ ใช้นามก็ได้ ทำสมถะ

กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ

พระพุทธเจ้าท่านเคยบอกว่า “กัลยาณมิตร เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค” เหมือนกับแสงเงินแสงทองตอนเช้ามืด ถ้าแสงเงินแสงทองขึ้นตรงไหน สว่างขึ้นด้านไหน เป็นเครื่องหมายแรกว่า พระอาทิตย์กำลังจะขึ้นตรงนั้น การมีกัลยาณมิตรก็เป็นเครื่องหมายแรกของการบรรลุอริยมรรค ท่านสอนอย่างนี้ แล้วต่อมาท่านก็สอนอีก “โยนิโสมนสิการ เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค” เหมือนแสงเงินแสงทองขึ้นมา แล้วพระอาทิตย์จะขึ้นตรงนี้ ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการ ถึงวันหนึ่งอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น

ฉะนั้นใน 2 สิ่งนี้มีความสำคัญมาก คือกัลยาณมิตรกับโยนิโสมนสิการ แต่วันนี้พิสูจน์ยากว่าใครคือกัลยาณมิตร สิ่งที่หลวงพ่อแนะนำพวกเราคือโยนิโสมนสิการ ปลอดภัยที่สุด โยนิโสมนสิการบอกแล้วไม่ใช่การพิจารณา ใคร่ครวญเอาตามใจกิเลส ต้องดูว่ามันถูกหลักของการปฏิบัติหรือเปล่า

เรียนลงที่กายที่ใจ

เรียนธรรมะ เราเรียนลงที่กายที่ใจ ไม่ได้ไปเรียนที่อื่นหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่กับคนอื่นด้วย ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในวัด อยากเรียนธรรมะก็เรียนลงที่กายที่ใจ ร่างกายเราดูลงไปตั้งแต่หัวถึงเท้า ตั้งแต่ผมลงไปถึงพื้นเท้า ร่างกายนี้ถ้าเราจับแยกเป็นชิ้นๆ จะแยกเป็น 32 ส่วนหรือแยกเป็นร้อยเป็นพันส่วน ทุกส่วนมันก็แสดงธรรมะอันเดียวกัน มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนๆ กัน นามธรรม หรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกเป็น 4 ส่วน ถ้าเราแยกได้เราก็จะเห็นเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา สัญญาความนึกได้ ความจำได้ การหมายรู้ สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว วิญญาณเป็นตัวรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ค่อยๆ แยก แยกออกมาแล้วก็ดูละเอียดลงไป ทุกสิ่งทุกส่วนที่เราแยกออกไป ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เฝ้าดูลงไป แยกๆๆ สิ่งที่เรียกว่าเรานี้ สุดท้ายจะพบว่าเราไม่มี มันมีแต่ขันธ์ มีแต่รูปธรรมนามธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

พ้นทุกข์ด้วยอริยสัจ 4

เวลาเราภาวนา ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ต้องพัฒนาสติ ไม่มีสัมมาสมาธิ เราก็ต้องพัฒนาสัมมาสมาธิ หรือเราไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง เรียกว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็ต้องศึกษา ศึกษาจากพระไตรปิฎกจากอะไรนี่ ให้ได้สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น เป็นทฤษฎีชี้นำว่าเราจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ฉะนั้นไม่ว่าเราจะแก้ปัญหาทางโลก หรือเราจะแก้ปัญหาทุกข์ทางจิตใจของเรา หลักมันก็ตรงกันนั่นล่ะ เพราะสัจจะความจริงก็ต้องเป็นความจริงในทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่เป็นความจริงเฉพาะในวัด ไปแก้ปัญหาชีวิตจริงทำไม่ได้ อันนั้นด้อยเกินไป ศาสนาพุทธไม่ได้ด้อยอย่างนั้น ที่หลวงพ่อสอนพวกเราซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็สอนอยู่ในเรื่องของอริยสัจนั่นเอง

รักษาศีล ฝึกสมาธิ เจริญปัญญา

ลงมือปฏิบัติจริงๆ ทิ้งไม่ได้เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก ปัญญาต้องเจริญ ถ้าเราทำอย่างนี้เราก็จะค่อยๆ มีปัญญา เห็นความจริงของธาตุของขันธ์เป็นลำดับๆ ไป พอเราฝึกรักษาศีลให้ดี สมาธิมันก็ฝึกง่าย ศีลเสียสมาธิก็ไม่มี แตกหมด