จิตต้องมีกำลังของสมาธิ

การที่เราจะเกิดปัญญาแยกรูปแยกนามได้ จิตต้องมีกำลังของสมาธิ แล้วพอสติระลึกรู้กาย จะเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน ถ้าจิตเรามีกำลังตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนากับจิตก็คนละอันกัน แต่จิตตั้งมั่นมีกำลังอยู่ สติระลึกรู้กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ก็จะเห็นกุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้นนั้นกับจิต คนละอันกัน นี่เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ไม่ได้แยกด้วยใช้กำลังของจิตเข้าไปแยก แต่ถ้าจิตเรามีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้อง การแยกขันธ์เป็นเรื่องเบสิกมากเลย มันแยกเองเลย ไม่ต้องทำอะไรหรอก

ฝึกจิตให้มีกำลังตั้งมั่น

เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว

ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น

โยนิโสมนสิการสำคัญมาก

สังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่ตรงนี้หลงอยู่หรือว่าปฏิบัติอยู่ ขั้นหยาบๆ เลย แล้วที่ปฏิบัติอยู่สมถะหรือวิปัสสนา สังเกตไป ตอนทำสมถะอยู่อันนี้นิมิตเกิดขึ้น เรายินดีในนิมิต หรือเราวางนิมิตย้อนเข้ามารู้ทันจิตตนเองได้ ถ้ายินดีในนิมิต นิมิตจริง นิมิตปลอมก็โง่เหมือนกัน หลงออกไปแล้ว ลืมจิตใจตัวเอง สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ หลวงพ่อสู้มาทุกวันนี้ ตั้งแต่เป็นโยม ใช้ความสังเกต ใช้โยนิโสมนสิการมาก ในชีวิตหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเคยถามกรรมฐานจากครูบาอาจารย์ทั้งหมด 7 ครั้ง จากครูบาอาจารย์ 6 องค์ ที่ถามมีแค่นั้นเองนอกนั้นสังเกตเอา อย่างภาวนาไปช่วงนี้ เกิดสภาวะอย่างนี้มันใช่มันไม่ใช่ หลวงพ่อสังเกตไปเรื่อย ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับมัน ค่อยรู้ค่อยดูไป เกิดความเข้าใจขึ้นมาแล้ว มีโอกาสเจอครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น จะเข้าใจก่อนที่จะเจอครูบาอาจารย์ แล้วก็ไปเล่าให้ท่านฟัง บอก “ผมดูแล้วมันเป็นอย่างนี้ๆ มันคืออย่างนี้” ท่านบอก “ใช่แล้ว ถูกแล้ว” ท่านจะชมว่าฉลาด ฉลาด ช่วยตัวเองมาได้ ถ้าเอะอะวิ่งถามครูบาอาจารย์ตลอด ไม่ฉลาดหรอก

ต้องมีวิหารธรรม

เราก็ต้องดูว่าวิหารธรรมอันไหนพอเหมาะพอควรกับเราเอง ถ้าใช้ร่างกายที่หายใจเป็นวิหารธรรม คืออานาปานสติมันละเอียดเกินไป มันหายใจตลอดเวลารู้สึกละเอียดไป จิตมันก็ทรงอยู่ไม่ได้ เลยหลงไปง่าย จะใช้อิริยาบถ 4 เป็นวิหารธรรมก็หยาบเกินไป ก็เลยใช้อิริยาบถย่อย อิริยาบถย่อย ร่างกายจะขยับท่าไหนก็ได้ หันซ้ายหันขวาคอยรู้สึก เรียกว่าเรามีบ้านให้จิตอยู่แล้ว จิตมันก็จะมีเรี่ยวมีแรง เหมือนอย่างคนเรามีบ้านอยู่ก็ได้พักผ่อนสบาย ไม่วอกแวกจรจัด เดี๋ยวมันก็จรไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จรไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาโผฏฐัพพะ จรไปแสวงหาธรรมารมณ์ต่างๆ จิตที่จรจัดไปเรื่อยๆ ไม่มีแรงหรอก เหนื่อย