เพ่งโทษและติดบังคับ พอรู้ตัวว่าหลง จิตจะไปล็อค แน่นหน้าอกขึ้นมาทันที ติดบังคับ

คำถาม: หลงคิดว่าตัวเองเก่งและดี พอมีผัสสะมากระทบ จะมีโท …

Read more

เรียนรู้กายใจด้วยใจปกติ

รู้ด้วยใจปกติเลย อย่าไปทำใจให้ผิดปกติ จิตใจปกติในการที่เราจะใช้ปฏิบัติธรรม จิตปกติของเราพระพุทธเจ้าท่านเรียกจิตเดิม จิตธรรมดาของเรานี่เอง มันประภัสสรอยู่แล้ว มันผ่องใส แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา แค่อยากปฏิบัติมีโลภะเกิดขึ้น จิตก็ผิดปกติแล้ว เราจะใช้จิตใจของคนธรรมดานี่ล่ะ ปกติอย่างนี้ เรียนรู้กายเรียนรู้ใจ อย่างร่างกายเราหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก รู้ด้วยจิตปกติ ไม่ต้องวางฟอร์มเป็นนักปฏิบัติ ต้องไม่เหมือนคนธรรมดาอะไร นี่เข้าใจผิดอย่างยิ่งเลย เสียเวลา อย่างขณะนี้ร่างกายเรานั่งอยู่ ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้นั่งอยู่ ไม่เห็นยากเลย ตอนนี้ขยับส่ายหัวอย่างนี้ ส่ายหน้า รู้สึก รู้สึกด้วยใจปกติใจธรรมดา ฉะนั้นมันจะไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยากเพราะเรามีความเห็นที่ว่าการปฏิบัติต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ อย่างนี้ถูก อย่างนี้ไม่ถูก สิ่งเหล่านี้เขาเรียกว่าสีลัพพตปรามาส

หัดสังเกตใจตัวเอง

ต้องสำรวจใจของเราเองบ่อยๆ ถ้าเราอ่านใจตัวเองออก สังเกตบ่อยๆ แล้วสติ สมาธิ ปัญญาของเราจะดีขึ้น หัดอ่านใจตัวเองไว้ ใจเราขณะนี้เป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ต้องสนใจที่อื่นหรอก สนใจใจของเราเอง ถ้าเราคอยสังเกตใจของเรา ใจเป็นอกุศลก็รู้ ใจเป็นกุศลก็รู้ สังเกตไปเรื่อยๆ มันโลภขึ้นมาก็รู้ มันโกรธขึ้นมาก็รู้ มันหลงขึ้นมาก็รู้ รับรองว่าพัฒนาแน่นอน ถ้าสังเกตอย่างนี้ เพราะการที่เราคอยสังเกตจิตใจของเราเองว่ามีอกุศลไหม เป็นกุศลหรือยัง คอยสังเกตไป มันคือการเจริญสัมมาวายามะ ถ้าสัมมาวายามะเราทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ สัมมาสติเมื่อทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ สัมมาสมาธิเมื่อทำให้มากเจริญให้มาก ก็จะทำให้การเจริญปัญญาสมบูรณ์ขึ้นมา มีสัมมาญาณะ มีสัมมาวิมุตติ เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา

ความสุดโต่ง 2 ฝั่ง

สิ่งที่ผิดก็มี 2 อันเท่านั้น ก่อนที่จะเข้าสู่ทางสายกลาง อันหนึ่งหลงไปเที่ยวแสวงหาอารมณ์ต่างๆ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค อารมณ์ต่างๆ ล้วนแต่เรื่องกามคุณอารมณ์ทั้งนั้น อีกอันหนึ่งเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพ่งจ้องเอาไว้ ทำตัวเองให้เนิ่นช้าให้ลำบาก ทางสายกลางก็คือต้องไม่สุดโต่งไป 2 ฝั่งนี้ อันหนึ่งลืมอารมณ์กรรมฐาน อันหนึ่งไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ถ้าลืมอารมณ์กรรมฐานแล้วเรารู้ปุ๊บ จิตจะทรงสัมมาสมาธิทันทีเลย แต่ถ้าเพ่งอารมณ์กรรมฐานอยู่ มันยังเพ่งต่อได้อีก รู้ว่าเพ่ง เราก็ยังเพ่งได้อีก ให้รู้ทันเบื้องหลังของการเพ่ง คือความโลภ โลภะตัวเดียวนี้ล่ะ ตัวอยากดี ถ้ารู้ตัวนี้ การเพ่งก็จะดับ

ทำอย่างไรจะพ้นจากทุกข์

เราจะปฏิบัติอันแรกเพื่อความพ้นทุกข์ ข้อสอง ต้องการพ้นทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ วิธีที่จะดับเหตุทำอย่างไร รู้ทุกข์ให้แจ่มแจ้ง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร สมุทัยก็เป็นอันถูกละอัตโนมัติ รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง คือรู้อะไร อันที่หนึ่ง รู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรมนามธรรม ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเราของเรานี้ล่ะ อันที่สอง รู้ลึกซึ้งลงไป รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบกันเป็นตัวเราของเรานี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงตรงนี้ได้ เราจะพ้นจากทุกข์ คือหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมนี้ ถ้าหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม ก็คือหลุดจากโลกแล้ว

สติทำให้เกิดสมาธิและปัญญา

ต้องฝึกสติให้ถูก ให้เป็นสัมมาสติจริงๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก หัดรู้สึกเรื่อยๆ อย่างจิตเราหลงไปคิด เรามีสติรู้ เฮ้ย หลงคิดแล้ว มีคำว่า “แล้ว” ด้วย เพราะเวลาที่จิตหลงคิด ไม่มีสติอยู่แล้ว สติมาเกิดทีหลัง ตรงที่จิตมันจำสภาวะหลงคิดได้ พอจิตมันหลงคิดไป แล้วจิตมันจำได้ เฮ้ย สภาวะอย่างนี้ จิตที่ไหลๆ ออกไปอย่างนี้ มันหลง นี่มันหลงไปคิดแล้ว จิตมันจำสภาวะได้ สติเกิดปั๊บขึ้นมา สภาวะหลงคิดดับทันทีเลย สภาวะตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ ก็เกิดขึ้นทันที มีสติที่ถูกต้องก็จะมีสมาธิที่ถูกต้อง นี่ล่ะถ้าเราเจริญสติ อันแรกที่เราได้คือสติ อันที่สอง สมาธิ อันที่สาม ของสำคัญคือเราจะได้ปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก

เรียนปริยัติแล้วต้องลงมือปฏิบัติ

ที่ฟังหลวงพ่อนี่ก็เป็นปริยัติ เอาไปทำ ทำปฏิบัติสมถะให้จิตสงบ ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น เจริญวิปัสสนาให้เห็นความจริง คือไตรลักษณ์ของรูปนามกายใจ ถัดจากนั้นมรรคผลจะเกิดเอง นี่เรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียน ในขณะที่เราฟังอย่างนี้เราเรียนปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ แล้วตรงที่สำคัญมากเลยตอนที่เจริญปัญญา เราจะเรียนถึงสภาวธรรมจริงๆ รูปธรรมนามธรรม อันนี้ว่าไปก็คือการเรียนอภิธรรม แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่อภิธรรมในตำรา อภิธรรมในตำราดีไหม ดี แต่ว่ายังล้างกิเลสไม่ได้ แล้วต้องให้เจออภิธรรมในภาคปฏิบัติ เช่น เห็นราคะเกิดแล้วก็ดับ ราคะเป็นอภิธรรมตัวหนึ่ง เป็นสภาวธรรมตัวหนึ่งก็อยู่ในอภิธรรมล่ะ เห็นโทสะเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นที่เรากำลังทำวิปัสสนานี่ เรากำลังเรียนอภิธรรมอยู่ แต่เป็นอภิธรรมภาคปฏิบัติ

สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว

ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกตัว เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าความรู้สึกตัว เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่จะล้างอาสวกิเลสทั้งหลายได้ ถ้าปราศจากความรู้สึกตัว โอกาสยากมากที่จะสู้กิเลสได้ ก็หลงทั้งวัน มันก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสทั้งวัน หลงตลอดเวลา โมหะเอาไปกินเอาไปครอบงำไว้ทั้งวัน ไม่เคยรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะใดสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว ธรรมะที่เป็นไปเพื่อจะลดละกิเลส เพื่อจะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

กฎของการปฏิบัติ

เวลาที่เราจะรู้กายรู้ใจ เรามีสติรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ มีสติเห็นร่างกายนี้ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตใจก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วก็มีปัญญาเห็นว่าร่างกายและก็จิต ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สติเป็นตัวรู้สภาวะ สภาวะคือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ปัญญาเป็นตัวเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นต้องเดินให้ถูกหลัก คำว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” นี่เป็นกฎของการปฏิบัติ เป็นแม่บทใหญ่อยู่ในอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ข้อคือทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา อริยมรรคก็เกิดขึ้น

รู้ทุกข์ไว้

รู้ทุกข์ไว้ อะไรคือทุกข์ กาย จิตคือทุกข์ รู้อย่างไร รู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น คือเป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ รู้จิตอย่างไร รู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นไตรลักษณ์ จะรู้กายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ได้ ไม่หลง ไม่ลืมกายลืมใจ ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน แล้วก็ไม่บังคับแทรกแซงกาย แทรกแซงจิต เรียกว่ารู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น ไม่ลืมกาย ไม่ลืมจิต แล้วก็ไม่ไปแทรกแซงให้มันผิดจากความเป็นจริง หัดรู้ไปเรื่อยๆ หัดรู้อย่างไร หัดหมายรู้ ถ้าหมายรู้ถูก ต่อไปความคิดมันก็จะถูก เมื่อความคิดถูก ความเห็นมันก็จะถูก ความเห็นถูกเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั่นล่ะ เกิดขึ้นเมื่อไร อวิชชาตายไปแล้วเมื่อนั้น พออวิชชาตายไปแล้ว อาสวะก็ย้อมจิตไม่ได้ ชาติภพอะไร มันก็ไม่สามารถก่อตัวขึ้นที่จิตได้แล้ว ภพชาติไม่ได้ก่อตัวที่อื่นเลย มันก่อตัวที่จิตนี้ล่ะ เมื่อจิตยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ภพชาติก็ก่อตัวขึ้นได้ ด้วยกำลังของอาสวะ

Page 1 of 3
1 2 3