ลงมือปฏิบัติจนเห็นของจริง

หัดดูในขันธ์ 5 ดูไปเรื่อย ล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งคิดเอา นั่งคิดเอาว่าร่างกายไม่ใช่เรา คิดเอาแล้วก็อิ่มอกอิ่มใจว่ากูรู้ธรรมะ มันรู้ด้วยการคิด มันยังไม่ได้เห็นของจริง ต้องลงมือปฏิบัติไปจนเห็นของจริง ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นด้วยจิตใจที่แท้จริง มันจะไม่กลับมาหลงผิดอีก อย่างคนไหนเป็นพระโสดาบันแล้ว รู้ความจริงแล้ว ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเราของเราที่ไหนเลย ไม่มี พระโสดาบันภาวนาไปจนจิตเห็นความจริงอันนี้แล้ว ความรู้อันนี้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจ ตายไปแล้วข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ความรู้อันนี้ก็ไม่หายไป มันฝังลงไปในจิตใจ แต่ถ้าเป็นความรู้จากการคิด การอ่าน การฟัง ไม่ทันจะแก่ก็ลืมหมดแล้ว

หลักการปฏิบัติ

ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริงเพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน

จิตเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว

เรามีสติเห็นตัวสภาวะ เห็นจิต แต่เราไม่มีปัญญา ที่จะแยกว่าจิตที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว สันตติขาด เราก็จะรู้ว่าจริงๆ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงใหม่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงที่ใหม่กว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เราจะเห็นมันเกิดดับๆๆ สืบเนื่องกัน ตัวนี้เรียกว่าเห็นอนิจจังของจิต แล้วมันก็ทำลายภาพลวงตา ที่เดิมเราคิดว่า โอ๊ย จิตมีดวงเดียว จิตคือตัวเราวิ่งไปวิ่งมา ออกไปเสพอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คราวนี้พอมันขาดออกเป็นตัวๆ ไป เป็นดวงๆ ไป เราจะพบว่ามันไม่ใช่ตัวเรา มันมีแต่ของที่เกิดแล้วดับ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน เป็นอมตะ ถาวร ตรงนี้เป็นปัญญาชั้นละเอียดของเราชาวพุทธ

ธาตุ 6

ธาตุไม่ได้มีแค่ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ ยังมีวิญญาณธาตุอีกตัวหนึ่ง วิญญาณธาตุของสัตว์ทั้งหลาย มันไม่ได้สะอาดเหมือนดิน น้ำ ไฟ ลม แต่มันปนเปื้อนด้วยความปรุงแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันปนเปื้อนด้วยกิเลส ฉะนั้นเราก็จะค่อยภาวนา เพื่อซักฟอกจนกระทั่งธาตุวิญญาณธาตุนี้ เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากความยึดมั่น ถือมั่นในสังขารทั้งปวง หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง

ธรรมะภาคปฏิบัติ

เราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตตนเอง อย่าเพ่ง อย่าจ้อง แค่รู้ทันจิต จิตหนีไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันก็คือ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจก็คิดนึกได้ ไม่ใช่ห้ามคิด แต่เมื่อกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว จิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดอกุศลให้รู้ หรือจิตไปทำงานทางตาให้รู้ ไปทำงานทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ รู้เท่าที่รู้ได้ ไม่ต้องรู้เยอะอย่างที่หลวงพ่อบอก เอาเท่าที่เรารู้ได้ นี่ล่ะงาน 3 ตัว ถือศีล 5 ทำในรูปแบบ แล้วคอยสังเกตจิตตนเอง งานที่ 3 คือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นที่จิตให้รู้ทัน ถ้าทำ 3 ประการนี้ได้ มรรคผลนิพพานไม่อยู่ไกลเราหรอก ไม่ได้อยู่ไกลแล้ว ไม่เกินเอื้อม ขอให้ทำให้ต่อเนื่อง อดทน ฟังธรรมะพอเข้าใจ พอรู้หลักแล้ว สิ่งสำคัญมากคืออดทน

อย่าเป็นเด็กอ่อนตลอดกาล

พวกเราต้องไปทำเอาเอง ต่อไปหลวงพ่อคงจะไม่จ้ำจี้จำไชพวกเรามากเกินไปแล้ว ที่ผ่านมาหลวงพ่ออยากให้พวกเราภาวนาเก่ง ภาวนาดี ไม่เถลไถล หลวงพ่อเข้าไปควบคุมเยอะ เมื่อคืนวันพฤหัสนั่งสมาธิอยู่ ก็ได้ยินเสียงครูบาอาจารย์ ท่านบอกให้หลวงพ่ออุเบกขาได้แล้ว กรรมใคร กรรมมัน ถ้าหลวงพ่อไปจู้จี้กับพวกเรา อยากให้พวกเราดี อยากให้ได้ธรรมะอะไรอย่างนี้ จู้จี้มากไป บางคนเข้าใจก็ดี บางคนไม่เข้าใจ โกรธ บาปกรรมเปล่าๆ ท่านว่าอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ดูแลตัวเองให้ดีหน่อย คนไหนใจเปิดรับธรรมะ ก็ไม่ยากอะไรหรอก ถ้าใจไม่รับก็ปล่อยแล้วนะ ปล่อยแล้ว แบกพวกเราไม่ไหวแล้ว ชรามากแล้ว ถ้าเป็นฆราวาสนี้เกษียณไปนานแล้ว ช่วยตัวเองให้ได้ เดินด้วยตัวเองให้ได้ อย่าเป็นเด็กอ่อนตลอดกาล ยังเดินไม่ได้ ยังยืนไม่ได้ คลาน คลานไป แล้ววันหนึ่งต้องยืนขึ้นให้ได้ ยืนแล้วต้องเดินให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ครูบาอาจารย์ คอยประคับประคองอีกต่อไป ต้องช่วยตัวเองให้ได้

บทเรียนชื่อจิตตสิกขา

ทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง เรียกว่าจิตตสิกขา บทเรียนชื่อจิตตสิกขาจะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า จิตตสิกขา ก็ไปนั่งสมาธิแล้วก็เพ่งๆๆ เคลิ้มๆ ลงไป บอกนี่คือจิตตสิกขา ไม่เห็นได้เรียนรู้เรื่องจิตเลย มีแต่การน้อมจิตให้เซื่องซึมไป หรือเคร่งเครียดไป

ฉะนั้นให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ทำไปสบายๆ แล้วถ้าจิตมันไหลไปคิด รู้ทัน จิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทันไป ตรงที่เรารู้ทันความเคลื่อนไป ความหลงไป สติจะเกิด สติตัวนี้เป็นสัมมาสติ มันรู้เท่าทันจิตตนเอง

อนัตตลักขณสูตร

ที่หลวงพ่อบอกให้พวกเราคอยรู้สึกกายรู้สึกใจ ไม่ใช่โมเมพูด มันก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน สอนตั้งแต่ปัญจวัคคีย์ ในอนัตตลักขณสูตร สูตรที่สอง ต่อจากธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็ขึ้นมาสู่ อนัตตลักขณสูตร สอนถึงความเป็นอนัตตา อนัตตาก็คือมันเป็นของที่ไม่ควรยึดควรถือ รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นมันทุกข์ สิ่งซึ่งมันเป็นทุกข์ คือมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ไม่ควรยึดถือ พระปัญจวัคคีย์ ท่านรู้แจ่มแจ้งด้วยจิตใจอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่รู้ด้วยการฟังแล้วก็คิดเอา แต่ท่านเห็นความจริงเอา ของขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ทั้ง 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านก็หมดความยึดถือในขันธ์ทั้ง 5

รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5

ถ้าเรารู้ลงไป กิเลสเกิดหรือกุศลเกิดก็ตามเถอะ หรือร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ รู้สึก สุข ทุกข์เกิด รู้สึก ดี ชั่วเกิด รู้สึก ถ้าเรามีสติรู้ทัน มันจะไม่ปรุงตัณหาขึ้นมาหรอก เมื่อไม่ปรุงความอยากขึ้น ตามอำนาจของกิเลส จิตใจก็จะไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตใจเราก็พ้นจากความปรุงแต่ง บางทีพ้นชั่วคราว ถ้าอย่างเรายังทำอยู่อย่างนี้ ก็พ้นชั่วคราว แต่มันจะพ้นถาวรได้ ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5 ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดแล้ว ขันธ์ 5 ทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ตัณหาจะไม่เกิดอีก ความปรุงของจิตจะไม่มี จิตก็จะพ้นจากความปรุงแต่งไป

สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5

พอมีจิตที่ตั้งมั่นมากพอแล้วก็เดินปัญญา เดินปัญญาขั้นแรกก็คือการแยกขันธ์ เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ จิตเป็นคนรู้ เห็นสุขทุกข์เกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ เห็นดีชั่วเกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ หัดแยกไป พอแยกขันธ์ชำนาญแล้ว ต่อไปมันจะเห็นแต่ละขันธ์นั้น ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงวันหนึ่งก็แจ่มแจ้ง ขันธ์ทั้งหมดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น นี่คือภูมิธรรมของพระโสดาบัน และพระสกทาคามี

ขันธ์ทั้งหลายในส่วนของรูปนี้เป็นตัวทุกข์ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ มีแต่จิตเท่านั้น ยังเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ นี่เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี แล้วขั้นสุดท้าย ขันธ์ทั้งหมดนั่นล่ะคือตัวทุกข์ พอภาวนามาถึงจุดนี้ มันจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5 นั่นล่ะคือตัวทุกข์ ฉะนั้นค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฝึกไปจนกระทั่งวางขันธ์ได้

Page 2 of 4
1 2 3 4