บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

ผู้รู้นี้เป็นศัพท์เฉพาะ หมายถึงเป็นจิตที่เราพัฒนามันขึ้นมา เอามาใช้งาน ถึงอย่างไรวันหนึ่งเราก็ต้องปล่อยวาง ถ้าไม่ปล่อยวาง เราก็จะไปเกิดเป็นพระพรหม แล้วสูงสุดของผู้ปฏิบัติ ถ้ายังไม่วางจิต ก็จะไปเป็นพรหม หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกว่า ท่านพิจารณาแล้วนักปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่ ภาษาท่าน ผีใหญ่คือเป็นพรหม ภาวนาแล้วก็ไปเป็นพระพรหมกัน ต้องเดินปัญญาให้ถ่องแท้ ถึงจะเอาตัวรอดได้ บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยสมาธิ สมาธิเป็นแค่เครื่องมือตัวหนึ่ง

วิธีตรวจการบ้านตัวเอง

อะไรที่ภาวนาไปแล้วมันขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้า สภาวะอะไรเกิดขึ้นนี่เป็นไปเพื่อความปล่อยวางหรือเพื่อความยึดถือ สภาวะทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ไหม ถ้าภาวนาแล้วไม่เข้าหลักไตรลักษณ์ ผิดแน่นอน ต้องสังเกตตัวเอง ไม่ต้องรอถามครูบาอาจารย์ นานๆ จะมีโอกาสถามครูบาอาจารย์สักครั้งหนึ่ง แต่สติปัญญามันอยู่กับตัวเราทุกวัน อาศัยสิ่งที่อยู่กับตัวเรานี่ล่ะ คอยสังเกตสิ่งที่เราทำอยู่นี่ ทำให้อกุศลลดลงไหม ทำให้อกุศลเกิดยากขึ้นไหม ทำให้กุศลเกิดบ่อยไหม เกิดแล้วถี่ขึ้นๆ ไหม หรือนานๆ เกิดที นี่วัดใจตัวเอง สังเกตไป ดูไปเรื่อยๆ การสังเกตกิเลสเป็นเรื่องสำคัญ ภาวนาแล้วสังเกตกิเลสออกนี่ดีมากๆ เลย ในเบื้องต้นจิตใจเรามีกิเลสอะไร เราคอยรู้ ก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับ ต่อไปพอเราเข้าใจธรรมะ ตรงที่เราคิดว่าเราบรรลุมรรคผล เราก็จะวัดว่าบรรลุจริงหรือไม่จริง

การภาวนาที่ละเอียดเข้าไป

เราภาวนาเรื่อยๆ เราก็เห็นสุขเกิดแล้วสุขก็ดับ ทุกข์เกิดแล้วทุกข์ก็ดับ กุศลเกิดแล้วกุศลก็ดับ อกุศล โลภ โกรธ หลงเกิดแล้วมันก็ดับ จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วก็ดับ ตรงนี้ละเอียด กว่าที่จะรู้จิตสุขจิตทุกข์จิตดีจิตชั่ว คือเห็นจิตมันเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 จิตเกิดที่ตาดับที่ตา จิตเกิดที่หูดับที่หู จิตเกิดที่จมูกดับที่จมูก เกิดที่ลิ้นดับที่ลิ้น เกิดที่ร่างกายดับที่กาย จิตเกิดที่ใจก็ดับที่ใจ จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น จิตไม่ได้มีดวงเดียว หัดภาวนาทีแรกเรารู้สึกจิตมีดวงเดียวแล้วก็เที่ยวร่อนเร่ไปทางทวารทั้ง 6 คิดว่าจิตมีดวงเดียว ดวงนี้หลงไปดูพอรู้ทันมันก็วิ่งกลับมา มันหลงไปฟังพอรู้ทันมันก็วิ่งกลับมาเข้าฐาน เห็นจิตเหมือนตัวแมงมุม เดี๋ยวก็วิ่งไปข้างซ้ายเดี๋ยวก็วิ่งไปข้างขวา เดี๋ยวขึ้นข้างบนเดี๋ยวลงข้างล่าง แมงมุมมีตัวเดียววิ่งไปวิ่งมา พอเราภาวนาละเอียดเข้าๆ เราเห็นจิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น จิตเสวยอารมณ์อันไหนก็ดับพร้อมอารมณ์อันนั้น เกิดดับไปด้วยกัน มันถี่ยิบขึ้นมา

มิจฉาสมาธิ

ถ้าสมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปทำสมถะโอกาสพลาดก็สูง หลงนิมิตเอา สมาธิไม่ถูก สมาธิไม่พอ ไปเดินวิปัสสนา ก็ถูกวิปัสสนูปกิเลสเอาไปกิน หลอก คิดว่าบรรลุธรรมแล้ว บางทีคิดถึงขนาดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ฉะนั้นเลยต้องเรียนกันให้มากหน่อย เรื่องของสมาธิ คนที่ภาวนาแล้วพลาด ก็เรื่องพวกนี้ทั้งนั้น ภาวนาแล้วเพี้ยนบ้างอะไรบ้าง ไม่ได้เรียนถึงบทเรียนที่ชื่อจิตตสิกขา ถ้าเรียนรู้จิตตัวเองไม่ได้ สมาธิที่ดีที่สมบูรณ์เกิดไม่ได้หรอก

อยู่กับโลกให้เป็นจะภาวนาง่าย

อยู่กับโลก ต้องรู้จักมัน ต้องเข้าใจมัน ถ้าเราอยู่กับโลก จิตใจเราสงบสุข สบายตามสมควรกับอัตภาพแล้ว การที่เราจะมาถือศีลมาภาวนามันจะไม่มีเครื่องกังวลใจ การประพฤติตัวให้สะอาดหมดจดสำคัญ จะทำให้เรามีความสุข ถ้าเมื่อไรเราย้อนมาดูตัวเองแล้วเราไม่เห็นข้อบกพร่อง ผิดศีลผิดธรรม หรือบางทีมองตัวเองไม่ออก พรรคพวกเพื่อนฝูงที่ดีเขาก็เห็นว่าเราดีจริง หรือครูบาอาจารย์เห็นว่าเราดีจริง คนอย่างนี้ใจมันสงบสุข ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างสะอาดหมดจด เวลาเราลงมือภาวนาจิตมันจะรวมง่าย หายใจไม่กี่รอบก็จิตรวมแล้ว ถ้าฝึกจนชนิชํานาญ นึกอยากให้จิตรวมก็รวมทันทีเลย แต่ถ้าใจเราเศร้าหมอง มีแต่เรื่องชั่วๆ มีแต่ความหวาดระแวง นั่งให้ตายมันก็ไม่รวมหรอก จิตมันภาวนาไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นฆราวาสอยู่กับโลกอยู่อย่างฉลาด

คุณสมบัติของชาวพุทธที่ดี

หน้าที่ของชาวพุทธเราคือเราเป็นนักศึกษา ทำหน้าที่ศึกษาตัวเองให้ถ่องแท้ไป สํารวจใจเรา เรามั่นคงกับพระรัตนตรัยแค่ไหน หรือเราเห็นพระรัตนตรัยเป็นบ่อเงินบ่อทอง เป็นที่แสวงหาผลประโยชน์ คนจํานวนมากเอาศาสนาไปแสวงหาผลประโยชน์ เรามีศีลดีงามไหม สํารวจตัวเอง ถ้าศีลเรายังด่างพร้อยอยู่ เราก็ยังไม่ใช่ชาวพุทธที่ดี ไม่ใช่ลูกที่ดีของพระพุทธเจ้า เราไม่เคารพพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้เราถือศีลแล้วเราไม่ถือ อีกข้อหนึ่งก็คือเราเชื่อกฎแห่งกรรมไหม หรือเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง หรือบางวันไม่เชื่อเลยอะไรอย่างนี้ สํารวจตัวเอง คนที่เชื่อกฎแห่งกรรมก็จะเชื่อว่า เราจะต้องพ้นทุกข์ไปด้วยความเพียรของเราเอง

ทิ้งการมีเครื่องอยู่ของจิตไม่ได้

การปฏิบัติ จิตจะต้องมีเครื่องอยู่ ถ้าจิตไม่มีเครื่องอยู่ จิตก็ร่อนเร่ไป ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติในขั้นไหนก็ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ อย่าว่าแต่พวกเราเลย กระทั่งพระอรหันต์ ท่านก็ยังมีการเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องอยู่ ใช้กาย เวทนา จิต ธรรม ให้ใจมีบ้านอยู่ แต่พวกเราต่างกับพระอรหันต์ ตรงที่ เรายังยึดถือกายใจขันธ์ 5 อยู่ เราเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องอยู่ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ถูกเข้าใจถูก แล้วปล่อยวาง ในขณะที่พระอรหันต์ท่านมีกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นเครื่องอยู่ แล้วจิตท่านพรากออกไป แยกออกไปจากขันธ์ ไม่เกาะเกี่ยว มองเห็นขันธ์เป็นความว่าง ในขณะที่พวกเรามองเห็นขันธ์เป็นตัวเรา ปุถุชน เพราะฉะนั้นจะทิ้งการมีเครื่องอยู่ของจิตไม่ได้ สังเกตตัวเอง อยู่กับเครื่องอยู่ชนิดไหนแล้วสติเกิดบ่อย เอาอันนั้นล่ะดี

สัทธรรมปฏิรูป

จุดเร่งด่วนที่พวกเราต้องมี คือการศึกษาการปฏิบัติ ต้องทำ ไม่อย่างนั้นเราดำรงพระพุทธศาสนาเอาไว้ไม่ได้ คนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา บางคนก็ไปมองว่า พวกศาสนาอื่นจะมาทำลาย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนาได้ ก็คือพุทธบริษัทนั่นเอง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา คือคนที่จะทำลายพระพุทธศาสนา เพราะไม่ได้ศึกษาธรรมะให้ถ่องแท้ แล้วก็เชื่อ คิดผิดๆ เชื่อผิดๆ แล้วก็พูดผิดๆ ออกไป ถ่ายทอดธรรมะที่ผิดออกไป มันมีโทษรุนแรง คือบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา นึกถึงที่หลวงปู่มั่นบอกเลยว่า “พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปประดิษฐานอยู่ในจิตปุถุชน จะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูปทันทีเลย” มันจะเพี้ยนทันทีเลย

วิธีปล่อยวาง

พอเราเดินปัญญาจริงๆ จิตเราก็จะเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว สุดท้ายเราก็ปล่อยวาง เห็นความไม่ได้สาระแก่นสารก็วาง เพราะฉะนั้นการที่เราจะปล่อยวางรูปธรรมนามธรรมได้ เราต้องเดินวิปัสสนา ดูไตรลักษณ์ของรูปธรรมของนามธรรม ดูแล้วดูอีก ไม่ใช่คิดเอาเองว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ต้องรู้สึกเอา ต้องดูจนซาบซึ้งถึงอกถึงใจ ถึงจะปล่อยวางได้

ธรรมะภาคปฏิบัติ

เราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็คอยรู้ทันจิตตนเอง อย่าเพ่ง อย่าจ้อง แค่รู้ทันจิต จิตหนีไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันก็คือ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัส มีใจก็คิดนึกได้ ไม่ใช่ห้ามคิด แต่เมื่อกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว จิตใจเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดอกุศลให้รู้ หรือจิตไปทำงานทางตาให้รู้ ไปทำงานทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้รู้ รู้เท่าที่รู้ได้ ไม่ต้องรู้เยอะอย่างที่หลวงพ่อบอก เอาเท่าที่เรารู้ได้ นี่ล่ะงาน 3 ตัว ถือศีล 5 ทำในรูปแบบ แล้วคอยสังเกตจิตตนเอง งานที่ 3 คือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นที่จิตให้รู้ทัน ถ้าทำ 3 ประการนี้ได้ มรรคผลนิพพานไม่อยู่ไกลเราหรอก ไม่ได้อยู่ไกลแล้ว ไม่เกินเอื้อม ขอให้ทำให้ต่อเนื่อง อดทน ฟังธรรมะพอเข้าใจ พอรู้หลักแล้ว สิ่งสำคัญมากคืออดทน

Page 1 of 2
1 2