มุมมองชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม รู้สึกเหมือนเห็นทุกข์ของโลก

คำถาม:

ผ่านวิกฤตโรคร้ายในชีวิตมา ทำให้รู้สึกว่ามุมมองชีวิตในหลายด้านเปลี่ยนไปจากเดิมมากๆ ค่ะ ช่วงนี้รู้สึกว่าเหมือนเห็นทุกข์ของโลกอยู่บ่อยครั้ง ไม่แน่ใจว่าเห็นจริง หรือเพราะความวุ่นวายของโลก และเราไม่ชอบใจสภาวะที่เป็นจึงคิดไปเพื่อปลอบใจตนเอง กราบขอแนวทางการภาวนาต่อไป ว่าควรมีอะไรปรับปรุงหรือไม่คะ

 

หลวงพ่อ:

เห็นมันก็เห็นอยู่ โลกมันวุ่นวาย โลกนี้น่าเบื่อหน่าย โลกนี้น่าเหน็ดเหนื่อย โลกนี้ไม่เป็นไปอย่างใจปรารถนา เห็นตรงนี้เรื่อยๆ แล้วก็ดูต่อไปอีกเราจะหนีจากโลกก็หนีไม่ได้ ขันธ์มันเป็นเรื่องของโลก ที่เราอยู่เราก็อยู่กับขันธ์นี่ล่ะ จะหนีไปไหนก็ไม่ได้ ฉะนั้นเราก็จำเป็นต้องอยู่กับมัน อยู่กับมันสังเกตใจเรา ถ้าใจเรายังเกลียดมันอยู่ ใจเราจะไม่มีความสุข ถ้าโลกวุ่นวายแต่ใจเราไม่ได้เกลียดมัน ใจจะสงบสุข สังเกตง่ายๆ เลย อยู่กับโลกแล้วจิตใจสงบสุขไหม ถ้ายังไม่สงบสุขแสดงว่ายังเกลียดอยู่ ยังไม่เป็นกลาง แสดงว่ายังไม่เข้าใจโลกตามความเป็นจริง โลกนี้ทุกข์จะไปทำให้มันเป็นสุขเป็นไปไม่ได้

โลกมีทั้งโลกภายนอกกับโลกภายใน โลกภายในก็คือรูปนามขันธ์ 5 ของเรานี่ล่ะ มันก็ทุกข์เหมือนกัน จะไปสั่งมันให้ไม่ทุกข์ก็ทำไม่ได้ ก็พยายามเรียนรู้โลกภายในนี้ให้มากๆ มันไม่สามารถทำอะไรได้หรอก มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของบังคับไม่ได้ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกไปจนจิตมันเป็นกลาง ขณะนี้จิตยังไม่ค่อยเป็นกลาง จิตยังไม่ค่อยชอบอยู่ จะมีความเศร้าหมองแทรกเข้ามาได้ ค่อยๆ ดูเอา

ที่จริงช่วงนี้มันก็เป็นกันแทบทุกคน เพราะชีวิตเรามันต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่เราเคยชินมาตั้งคนละหลายๆ สิบปี ดูมันวุ่นวายไปหมดเลย ยิ่งบริโภคข่าวปลอมๆ ทั้งหลาย ยิ่งเป็นมาก คือบางทีมองอะไร ถ้ามองอ่านข่าวแล้วก็เต้นตามไปเรื่อยๆ ไม่บ้าก็บุญแล้ว บอกอย่างนี้เลยนะไม่บ้าก็บุญแล้ว แต่ถ้ามองมันอย่างเข้าใจ มันจะรู้เลยว่าข้อเท็จจริงอยู่ตรงไหน อย่างเรารู้สึกบ้านเมืองเราตอนนี้แย่เต็มทีแล้ว ลองไปดูว่าจริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า อย่างลองดู มันมีตัวเลขอยู่ สัดส่วนคนไทยที่ตาย เราก็ โห ตายเยอะแยะเลย คนไทยตาย 49 คนต่อ 1 ล้านคน พลเมือง 1 ล้านคน เป็นโควิดตาย 49 เก้าคน ยุโรป อเมริกาหลักพัน เขาหลักพันหลายๆ พันด้วยต่อ 1 ล้านคน ตรงนี้มันสะท้อนอะไร สะท้อน จริงๆ คุณภาพด้านสาธารณสุขเราดี คุณภาพของคนเราส่วนใหญ่ใช้ได้

ถ้าคนส่วนใหญ่ของเราเลวเหลวไหล อย่างที่เห็นในหนังสือพิมพ์ในข่าว ป่านนี้หายนะไปหมดแล้ว คนของเราก็ยังระวังตัวใช่ไหม ไปไหนก็ยังใส่แมสก์อะไรอย่างนี้ มันยังมีอยู่ ส่วนน้อยที่มันไม่ระวัง คุณภาพคนอย่างนี้ของเราสูง ฉะนั้นไม่ใช่ว่า เราวิกฤติ เราไม่มีทางออกอะไรอย่างนี้ อันนั้นเป็นภาพที่สร้างขึ้นมา เพื่อประโยชน์ในสิ่งอื่น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ด้านการรักษาสุขภาพอะไรพวกนี้หรอก ถ้าเราดู fact จริงๆ ดูตัวเลขจริงๆ แต่ตัวเลขบางทีก็หลอกได้เหมือนกัน ต้องดูเหมือนกัน ค่อยๆ สังเกตว่าอะไรเป็นความจริง อย่าแตกตื่น ถ้าเราแตกตื่นเราเสพข่าวมากแล้วเราแตกตื่นมาก อาจจะไม่เป็นโควิดตาย แต่เป็นบ้าตาย

อย่างเราเห็นข่าวใช่ไหม มีคนตายอยู่ที่บ้าน มีคนตายอยู่บนถนน ตกอกตกใจคนมาตายที่ถนน ไปดูข่าวอย่าเพิ่งดูวันเดียวจบ ดูผลการตรวจด้วยมันไม่ได้ตายด้วยโควิด ตายตามถนนเป็นโรคอื่น หลวงพ่อมีญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง ตอนนั้นยังไม่มีโควิดหรอก แข็งแรงดีทุกประการ เดินๆ อยู่ล้มลงไปตาย หัวใจวายเฉยๆ ตายอยู่ที่ถนน ทุกวันนี้พวกเราอย่าเป็นลมนะ ถ้าเราเป็นลมที่ถนนจะไม่มีใครช่วยเราแล้ว เพราะทุกคนบอก โอ๊ย โควิดๆ รีบถ่ายคลิปเอาไปลง tiktok ลงอะไรต่ออะไร ลงเฟซบุ๊ก คนเป็นโควิดตายอีกคนแล้วอยู่กลางถนนอะไรอย่างนี้ เสพข่าวต้องมีสติ ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะเสียสติ ใจมันจะเครียด

ระวังตัวให้ดีที่สุด รักษาตัวเองให้ดีที่สุด วัตถุมงคลยุคนี้คือแมสก์ คือแอลกอฮอล์ นั่นล่ะวัตถุมงคลที่แท้จริง ตะกรุดอะไรแขวนไว้ให้กำลังใจ ห้อยตะกรุดวิเศษหรือห้อยท้าวเวสสุวรรณ แล้วเอามือป้ายหน้าไปเรื่อยๆ ท่านก็ไม่ช่วยหรอก ท่านช่วยไม่ได้ ฉะนั้นมีสติ รู้จักวิเคราะห์ข้อมูลให้ดี อะไรน่าตกใจ ไม่มีอะไรน่าตกใจสักเรื่องเดียวเลย สมมติว่าเกิดโควิดจริงๆ ตายกันเป็นล้านๆ คนก็ไม่น่าตกใจ สิ่งนี้เป็นไปตามเหตุ มีเหตุคนประมาทอะไรต่ออะไรก็เป็น เป็นเรื่องธรรมดา ภาวนาเป็นเราจะรู้สึกว่านั่นก็ธรรมดานี่ก็ธรรมดา ไม่ตกใจหรอก

ถ้าภาวนาไม่เป็นก็เต็มไปด้วยความอยาก เต็มไปด้วยความกลัว ลำเอียงเพราะความอยาก อย่างอยากให้มันสงบแล้วมันไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างก่อนเลย ชีวิตเดี๋ยวนี้เลว หรือเป็นด้วยความกลัว กลัวข่าวโน้นข่าวนี้กลัว หรือเพราะอคติ เพราะ Bias เยอะแยะเลยความลำเอียง มันทำให้เราเสพข้อมูลแบบเพี้ยนๆ คนเราชอบเชื่อข้อมูลที่ตัวเองเชื่อ ไปสังเกตให้ดี หลวงพ่อสังเกตมานานแล้ว คนเราชอบเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเชื่อ ของจริงข้อมูลจริงๆ บางทีไม่ตรงกับที่อยากเชื่อก็ไม่อยากเชื่อ ก็ไม่ยอมเชื่อ ไปสังเกตดูโลกนี้มันเป็นอย่างนี้ กระทั่งตัวเราเองเราอยากเลือกเชื่อสิ่งที่เราอยากจะเชื่อ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กรกฎาคม 2564

เห็นว่ารู้นี้ไม่ใช่เรา และขันธ์ 5 ที่มีอยู่นี้ก็เป็นภาระจำยอม

คำถาม:

เรียนกับหลวงพ่อมา 13 ปีแล้ว เข้าใจในคำสั่งสอนของหลวงพ่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยอมรับความเป็นธรรมดาของโลกได้มากขึ้น เห็นแล้วว่า “รู้” นี้ ไม่ใช่เรา และขันธ์ 5 ที่มีอยู่นี้ก็เป็นภาระจำยอม ยอมให้มันเป็นทุกข์ไป ยอมให้มันเป็นภาระไป ขอโอกาสหลวงพ่อเมตตาแนะนำการปฏิบัติต่อไปด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

เราเริ่มเห็นขันธ์ทั้งหลายตั้งแต่รูป เวทนา สัญญา สังขารอะไรนี้ มันไม่ใช่เรา มันเห็นแจ่มแจ้งแล้ว วิญญาณเราก็เห็น จิตมันจะไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็บังคับมันไม่ได้ ควบคุมมันไม่ได้ แต่ว่ามันยังไม่ตัดความเป็นตัวเป็นตน ยังเหลืออยู่ ค่อยๆ ภาวนา ที่ทำอยู่นี้ถูกแล้ว พอมันพอ มันทำถูกแล้วมันพอเมื่อไร มันก็จะละความเห็นผิดได้เด็ดขาด ค่อยๆ ฝึก ที่ทำอยู่ใช้ได้ แต่ตอนนี้ระวังนิดหนึ่ง ขณะนี้จิตไม่อยู่ในฐานแล้ว ลองหายใจสิ หายใจสบายๆ อย่าดึงจิต หายใจเฉยๆ อย่าน้อมจิตให้ซึม หายใจเฉยๆ ไม่แตะต้องจิตเลย หายใจเฉยๆ ตรงนี้กับเมื่อกี้ต่างกันแล้วรู้สึกไหม ตรงนี้คือสภาวะที่จิตตั้งมั่นจริงๆ

ฉะนั้นเราสังเกต จิตตั้งมั่นบ้าง จิตไม่ตั้งมั่นบ้าง อย่างตรงนี้ไม่ตั้งมั่น จะต่างกันแล้ว ดูออกแล้วใช่ไหม สังเกตไป เราจะเห็นเลยจิตที่ตั้งมั่นก็ไม่เที่ยง จิตที่ไม่ตั้งมั่นก็ไม่เที่ยง จิตที่ตั้งมั่นก็บังคับไว้ไม่ได้ จิตที่ไม่ตั้งมั่นก็ห้ามมันไม่ให้เกิดไม่ได้ เรียนรู้ไปมากๆ ถึงจุดหนึ่งมันจะเห็นจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตนี้ไม่ใช่ตัวตนของตน ตัวตนของตนไม่มี ค่อยๆ ดูไป จิตมีปีติรู้ว่ามีปีติ อันนี้เป็นแค่สังขารอันหนึ่งที่ผุดขึ้นมา เราเห็นกระทั่งตัวจิตเอง เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ตั้งมั่นถูกต้อง เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้ไหลไป จิตทั้งวันมีอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวรู้ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวรู้ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวไหลไป ตัวนี้เราเห็นไตรลักษณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมันพอ มันพอมันก็จะตัดกิเลสเอง

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กรกฎาคม 2564

เวลาฟังธรรมหรือนั่งสมาธิ จิตมักจะเข้าไปจับอารมณ์นิ่งๆ ว่างๆ แล้วก็หลับไป

คำถาม:

เวลาผมนั่งฟังธรรมหรือนั่งสมาธิ จิตมักจะเข้าไปจับอารมณ์นิ่งๆ ว่างๆ อยู่ข้างใน แล้วก็หลับไป เป็นอย่างนี้อยู่หลายปี ผมแก้ไขตัวเองด้วยการฝึกรู้ทีละขณะ คือเวลานั่งฟังธรรม ก็จะฟังทีละขณะแล้วฟังใหม่ เวลานั่งสมาธิ ก็จะรู้อิริยาบถที่นั่ง หรือรู้ร่างกายที่กำลังหายใจทีละขณะ แล้วรู้ใหม่ไปเรื่อยๆ ก็พอจะช่วยแก้ไขเรื่องนั่งแล้วหลับได้ ขอความเมตตาหลวงพ่อช่วยชี้แนะเพิ่มเติมให้ด้วยครับ

 

หลวงพ่อ:

นั่นล่ะทำไปเถอะ มีชีวิตอยู่เป็นขณะๆ ไปนั่นล่ะดีแล้ว ยกเว้นเวลาต้องการความสงบ ก็พักเข้าไปเลย อย่างบางทีเราจะนอน เราจะไปรู้ทีละขณะๆ ไม่นอนหรอก เราก็รู้สึกไป บริกรรมไปอะไรไป ใจมันสว่างว่างขึ้นมา เราก็ทรงอยู่อย่างนั้น ถ้าเราต้องการอยู่อย่างนั้นทั้งคืนมันก็อยู่ได้ ก็ได้สมาธิ ถ้าเราต้องการพักเราก็คลายจิตออก จากที่เราไปมีสติอย่างแข็งแรงอยู่ คลายออกมันก็จะหลับ การภาวนาถ้าสติเราแข็งแรงพอไม่หลับหรอก ที่นั่งแล้วหลับๆ เพราะสติมันไม่แข็งแรง แต่มันมีหลาย factor ถ้าร่างกายเราเหนื่อยมันก็หลับเหมือนกัน หรืออีกอย่างหนึ่งจิตมันเหนื่อย จิตก็หลับเหมือนกัน

หลวงพ่อก็เคยเป็นเมื่อปีพ.ศ. 2526 นั่งสมาธิก็หลับ เดินจงกรมก็หลับ ทำอะไรก็หลับ ทั้งๆ ที่สติเข้มแข็งมากเลย ตั้งแต่เด็กๆ ทำสมาธิ เจริญสติอะไร แข็งแรง แต่ถึงช่วงนั้นหลับลูกเดียวเลย ทำอย่างไรก็ไม่หาย ไปถามหลวงปู่สิม หลวงปู่สิมบอก “ให้ทำไปเถอะ อย่าสงสัยเลย” เราก็ทำไป หลับก็ช่างมันไม่ปฏิเสธมัน ในที่สุดจิตมันได้พักพอ พอมันมีกำลัง บางทีมันหลับตรงนี้ มันหลับเพราะว่า เรียกว่า “นิพพิทา” จิตมันเบื่อโลก จิตมันเบื่อโลกมันก็หนีด้วยการหลับ

ฉะนั้นเราไปดูตรงที่นั่งแล้วหลับ นั่งแล้วหลับมันมีหลายอย่าง ถ้าร่างกายเหนื่อยแล้วหลับไปนอนเสีย แล้วถ้าสติเราอ่อนไปนั่งแล้วหลับ สมาธิมันล้ำหน้า เราเพิ่มพลังของสติขึ้น รู้สึกขึ้นๆ เป็นขณะๆ ไป แต่ถ้าจิตมันเกิดปัญญาแล้ว มันมีนิพพิทาญาณเกิดขึ้น มันเบื่อหน่ายแล้วมันจะพัก แสดงว่าเราเข้าฌานน้อยไป ทำความสงบน้อยไป จิตมันก็เลยหนีด้วยการเข้าไปหลับ ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ไปฝึกมีชีวิตอยู่ทีละขณะนั่นล่ะดีแล้ว พัฒนาขึ้นเยอะ ดี

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กรกฎาคม 2564

สีลัพพตปรามาส

ปุถุชนอย่างไรก็ปฏิบัติผิด เพราะปุถุชนยังมีสีลัพพรตปรามาสอยู่ ยังมีการถือศีลบำเพ็ญพรตแบบลูบๆ คลำๆ งมงาย ลูบๆ คลำๆ ก็คือยังไปหลงมุ่งเอาดี เอาสุข เอาสงบเป็นเป้าหมายอยู่ ฉะนั้นเราค่อยๆ สังเกตตัวเอง วันหนึ่งมันก็จะค่อยเข้าใจมากขึ้น ถือศีล ทำสมาธิ เจริญปัญญา ไม่ใช่เพื่อดี เพื่อสุข เพื่อสงบหรอก แต่เพื่อจะสามารถเห็นรูปนามกายใจตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้นได้

จิตเห็นว่าไม่มีเราที่ไหนเลยทุกอย่างว่างๆ โล่งๆ จิตห่างโลก

ภาวนาถูกแล้ว ก็ทำให้มาก ทำให้เจริญ ไม่มีจิตชนิดไหนเลยที่เราสั่งได้ ไปดูตัวนี้บ่อยๆ ไม่มีจิตดวงไหนที่เราสั่งได้ สั่งให้เป็นจิตรู้ตลอดก็ไม่ได้ สั่งว่าอย่าเกิดจิตคิด ก็สั่งไม่ได้ดูไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าจิตทุกชนิด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ สั่งไม่ได้ ไปดูซ้ำๆ ตรงนี้

ต้องโฟกัสกับงาน มีเวลาปฏิบัติในรูปแบบน้อย

คำถาม:

ช่วงที่ผ่านมามีเวลาปฏิบัติในรูปแบบค่อนข้างมาก เวลาระหว่างวันมีสติรู้เนื้อรู้ตัวดี รู้สึกโลกห่างๆ ออกไป แต่ปัจจุบันต้องกลับมาโฟกัสกับงานมากขึ้น เวลาปฏิบัติในรูปแบบน้อยลง รู้สึกกลับมาเป็นเนื้อเดียวกับโลก ขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่าการปฏิบัติตอนนี้ยังอยู่ในร่องในรอยหรือไม่ครับ

 

หลวงพ่อ:

อยู่ เรามีเวลาอยู่กับตัวเองเยอะๆ เราก็เรียนรู้ไปให้มากๆ จำเป็นต้องไปตะลุมบอนกับโลก เราก็ไปแบบลูกศิษย์มีครู เวลาจิตเราเครียดกับงานนี่ รู้ทันไปเลย เวลาคิดอะไรไม่ออก กลับมาอยู่กับลมหายใจ มาอยู่กับคำบริกรรมอะไรอย่างนี้ จิตมันสงบขึ้นมาแล้วมันจะคิดอะไรต่ออะไรง่ายขึ้น เวลาคิดไม่ออกอะไร อย่าตะบี้ตะบันคิด ไม่ได้เรื่องหรอก ทำใจให้สบายก่อน เราจะได้เปรียบคนอื่น หลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยม หลวงพ่อทำงานได้เปรียบคนอื่นเยอะเลย ฉะนั้นทำงานที่ไหนก็โตเร็ว โตพรวดพราดเลย เพราะเราทำงานได้ดี เพราะว่าสมาธิเราดี

อย่างเอกสารเป็นตั้งๆ อย่างนี้ อ่านเพื่อจะดึงประเด็นออกมา วิเคราะห์อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล อะไรเป็นเหตุหลัก อะไรเป็นเหตุรอง จะแก้ปัญหาอันนี้ เรามีทรัพยากรอะไร ถ้าแก้ปัญหาหลักไม่ได้ แก้ปัญหารองไปก่อนอะไรอย่างนี้ มันจะรู้ กำหนดยุทธวิธี กำหนดยุทธศาสตร์ กำหนดยุทธวิธีในการทำงานที่ซับซ้อนนี่ เราทำได้ดี เพราะใจมีสมาธิ นี้ถ้าเราเครียดกับงาน เราเกลียดงาน เพราะช่วงที่ผ่านมาเราว่างๆ ไม่ได้ทำมาหากิน ไม่ได้ทำงาน พอต้องมาทำงานนี่ โหย รู้สึกวุ่นวายเหลือเกิน หงุดหงิด ไม่สบายอะไรอย่างนี้ ให้รู้ทันใจที่หงุดหงิด ให้บอกตัวเองว่าตอนนี้มีหน้าที่ต้องทำ วัยทำงานต้องทำงาน ถ้าขืนเอาวัยทำงานไปพักผ่อน วัยพักผ่อนจะต้องทำงาน มันจะลำบาก ฉะนั้นตอนนี้ทำงานไป เลี้ยงตัวเองให้ได้ วางแผนอนาคตให้ดี มีหน้าที่ดูแลครอบครัวอะไรต่ออะไรก็ทำไป มีหน้าที่ต่อองค์กรก็ทำไป มีหน้าที่ต่อบ้านเมืองก็ทำไป แต่ทำไปแบบรู้เท่าทัน ทำไปแบบไม่ใช่ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากจะทำอะไรอย่างนี้ ท้อแท้ได้แต่มีสติรู้ทันไว้ ไม่ใช่ปล่อยความท้อแท้มาครอบงำใจ จะหมดเรี่ยวหมดแรง ทำงานในทางโลกก็ไม่ดี ทางธรรมก็ไม่เจริญ

แต่ถ้าเราทำงานด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางไปเรื่อยๆ งานก็ดี ธรรมะก็เจริญได้ ฉะนั้นโลกธรรม ถ้าเราภาวนาจริงๆ ทั้งโลก ทั้งธรรมนี่ มันไปด้วยกันได้ มันไม่ได้ขัดแย้งอะไรหรอก อดทน ถ้าหากเรารู้สึกว่าไม่อยากทำงานเลย แสดงว่าเราติดสงบ เบื่อโลก อยากจะหนีโลก อาการอย่างนี้เป็นอาการของคนที่ติดในความสุข ความสงบ ฉะนั้นเราภาวนาอย่าไปติดในสุข ในสงบ อยู่ตรงไหนก็เหมือนกันหมด

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564

ภาวนาอย่างไรก็ไม่สงบ

คำถาม:

ผมเป็นคนฟุ้งซ่าน ช่างคิด ขี้สงสัย จิตออกนอก หลงบ่อย ทำให้ทำจิตให้ตั้งมั่นได้ยาก ไม่สามารถดูสบายๆ ดูซื่อๆ ได้เลยครับ ต้องตั้งใจดู ซึ่งก็กลายเป็นเพ่งไป พอเพ่งก็อึดอัด ปวดหัว ถ้าไม่เพ่งจิตก็หลงไป กรรมฐานที่ทำอยู่ประจำคืออานาปานสติครับ โดยดูลมพร้อมนับเลขแบบซับซ้อนนิดหนึ่งไปด้วย เพราะบริกรรมพุทโธก็เอาไม่อยู่ อยากเรียนถามหลวงพ่อว่าควรปฏิบัติอย่างไรดีครับ

หลวงพ่อ:

จิตมันเป็นอนัตตา สั่งให้สงบ สั่งไม่ได้ สั่งให้ดี สั่งไม่ได้ สั่งให้สุข ก็สั่งไม่ได้ เราทำเหตุไปเรื่อยๆ ทำกรรมฐาน อย่างหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ยังไม่ไหว นับไป หรือ พุทโธเร็วๆ พุทโธๆๆๆ อะไรอย่างนี้ก็ได้ ให้จิตมันมีเครื่องอยู่ไป แล้วจิตมันก็สงบของมันเองล่ะ อยู่ๆ จะไปสั่งจิตให้สงบ อย่าไปตั้งเป้าผิด ถ้าตั้งเป้าว่าทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ มันไม่สงบหรอก ตั้งเป้าว่าเราทำสมาธิเพื่อจะทำ เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นี่เราปฏิบัติเป็นพุทธบูชาไป ไม่หวังผลว่าจะต้องสุข ต้องสงบ ต้องดี ถ้ายังหวังผลอยู่ ไม่สงบหรอก เพราะใจมันโลภ ฉะนั้นเราทำนี่ ไม่ได้หวังผลอะไร ลองไปปรับตัวนี้เสีย อย่าหวังผล ปฏิบัติเป็นพุทธบูชาไป แล้วจิตจะสงบก็ช่างมัน จิตไม่สงบก็ช่างมัน ขอให้ได้ปฏิบัติเท่านั้น

ทำไปเรื่อยๆ แล้วไม่ได้หวังผล จิตมันจะสงบอย่างรวดเร็วเลย นี้เป็นเคล็ดวิชา ถ้าเราหวังผล จิตจะไม่มีความสุข จิตไม่มีความสุข สมาธิจะไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราไม่ได้หวังผล เราถือว่า ทุกลมหายใจเข้าออกเหมือนดอกไม้บูชาพระ เคารพพระพุทธเจ้า หายใจนี่เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าไปเรื่อยๆ ทำโดยไม่ได้หวังผล แล้วจะได้ผลดี แต่ถ้าทำแล้วหวังว่าจะสงบ เมื่อไหร่จะสงบๆ ไม่สงบสักทีเลยโว้ยอะไรอย่างนี้ ไม่สงบหรอก ไปปรับทัศนคติเสียตรงนี้ ไม่ได้ทำเอาดี เอาสุข เอาสงบหรอก แต่ทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เดี๋ยวก็สงบเอง ง่ายๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564

เห็นสภาวะ แต่จิตไม่มีกำลังมากพอ

คำถาม:

ทำสมาธิภาวนา เห็นว่ากายไม่มี กายว่างเปล่า มีจิตเป็นตัวรู้สภาวะ เห็นจิตเกิดดับบังคับไม่ได้ค่ะ ขอคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไปค่ะ

 

หลวงพ่อ:

เห็นก็ดีแล้ว แต่ใจมันต้องแข็งแรงกว่านี้หน่อย ใจยังไม่ค่อยมีกำลังหรอก มันเห็นไปอย่างนี้ มันต้องเห็นแบบ แหม องอาจ ผึ่งผาย อืม เห็น ถ้าเห็นอย่างนี้ เห็นแบบเหี่ยวๆ อย่างนี้ จิตไม่มีกำลังพอ หนูลองหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้น เราทำทุกวันๆ หรือเราเดินจงกรมไป เคลื่อนไหวแล้วทำในรูปแบบไปเรื่อยๆ จิตเราจะมีกำลังขึ้นมา ของหนูนี่ไปทำในรูปแบบ ทำไปเรื่อยๆ พอจิตมันมีกำลังเข้ามา มันจะเห็นสภาวะแล้ว ที่ผ่านมามันเห็นสภาวะ แต่มันเห็นแบบจิตใจห่อเหี่ยวไปหน่อย มันยังไม่มีแรงที่จะตัดกิเลสเลย นี้ถ้าใจเราเข้มแข็ง ทำในรูปแบบทุกวันๆ ใจจะมีกำลังขึ้นมา พอเห็นสภาวะปุ๊บ บางทีปัญญามันตัดเลย เห็นสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เข้าใจขึ้นมา ฉะนั้นเราเพิ่มพลังของสมาธิขึ้น แล้วการเดินปัญญามันจะราบรื่นขึ้น มิฉะนั้นเราเหมือนจะเห็นๆ แต่มันไม่มีแรงพอ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564

สมาธิไม่พอ หลังจากเพิ่มสมาธิ ก็เห็นและรู้แล้วว่าตัวเซลฟ์ทำให้อยู่กับโลกยากมาก

คำถาม:

ปีที่แล้วหลวงพ่อให้ไปดูตัวเซลฟ์ ตัวอัตตา ทีแรกก็คิดว่าเห็น แต่จริงๆ ยังไม่เห็น ทราบภายหลังจากอาจารย์ผู้ช่วยสอนว่าสมาธิไม่พอ หลังจากเพิ่มสมาธิ ก็เห็นและรู้แล้วว่าที่ลูกเข้ากับคนได้ยากก็เป็นเพราะตัวเซลฟ์นี้ และทำให้อยู่กับโลกยากมาก ขอหลวงพ่อชี้แนะต่อด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ใช่ ที่ทำอยู่อย่างนั้นล่ะ ถูกแล้ว การที่เราจะเห็นว่าเรามีเซลฟ์ เซลฟ์ก็ไม่ใช่เรา จิตเราก็ต้องมีสมาธิพอ ฉะนั้นทุกวันต้องทำในรูปแบบ เราจะได้จิตที่มีกำลังขึ้นมา ฉะนั้นที่ผู้ช่วยสอนเขาสอนก็ถูกแล้วล่ะ สมาธิเป็นของที่ทิ้งไม่ได้ ฆราวาสนี่มีจุดอ่อนตรงที่ขาดสมาธิกับขาดความต่อเนื่อง 2 ตัวนี้เป็นปัญหาใหญ่ของฆราวาส นี้ถ้าเราจะแก้ปัญหาก็คือเรามีวินัย ทุกวันต้องปฏิบัติ ทุกวันทำในรูปแบบอะไรอย่างนี้ เราก็จะมีความต่อเนื่อง แล้วก็มีสมาธิขึ้นมา แล้วก็กำลังเราดีขึ้นมาแล้ว

อยู่ในชีวิตประจำวันเราจะเจริญสติ เจริญปัญญาได้ ถ้าสมาธิเราไม่พอ เราดูสภาวะไม่รู้เรื่องหรอก มันเหมือนน้ำกระเพื่อม เรามองไม่เห็นว่าก้นสระน้ำนี้มีอะไร แต่ถ้าน้ำมันนิ่ง เรามองทะลุลงไปเห็นก้นสระน้ำได้ ฉะนั้นเราจะเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตในใจเราเอง มานะอัตตาที่ซ่อนอยู่ในจิตในใจอะไรอย่างนี้ จิตเราก็ต้องนิ่งพอ สงบพอ ฉะนั้นเราทิ้งสมาธิไม่ได้หรอก ทุกวันก็ต้องฝึกไว้ เราถึงจะเห็นสภาวะได้ชัด พอเห็นแล้ว เราก็รู้ว่านี่มันไม่ดีไม่งาม ถ้าจิตมันรู้เท่ารู้ทัน เดี๋ยวจิตมันค่อยๆ ละ ถ้าเราละเรื่องเซลฟ์จัดได้ ต่อไปเราจะเข้ากับคนอื่นได้ เราจะมีเพื่อนมากขึ้น คนเซลฟ์จัดไม่มีเพื่อนหรอก คนเซลฟ์จัดไม่มีใครชอบหรอก ทำไมคนไม่ชอบคนเซลฟ์จัด เพราะทุกคนเซลฟ์จัด เซลฟ์มันชนกัน

ถ้าเราฝึกของเรา ไม่เซลฟ์จัด เราอยู่ตรงไหน เราก็มีความสงบสุข มันจะเหลือแต่เหตุผล คนอื่นเขาเสนอความเห็นมา ถ้าเป็นสมัยเซลฟ์จัด เราก็จะรู้สึกไม่ถูก เราเท่านั้นที่ถูก พอเราลดเรื่องเซลฟ์จัดได้ เราจะฟัง นี่เป็นความเห็นที่ดี เราก็รู้จักเอามาใช้ประโยชน์ มันมีประโยชน์เยอะเรื่องกรรมฐาน เอาไปใช้ได้จริงๆ เลย เราเข้ากับโลกได้ เข้ากับคนได้ อยู่อย่างรู้เท่าทัน ไม่ใช่อยู่แบบบ้าเลือด พวกเซลฟ์จัดนี่มันคล้ายๆ หมาบ้า เจออะไรมันกัดแหลกเลย อะไรมากระทบก็ไม่พอใจ กัดเละเทะไปหมด นี้เราไม่ใช่หมาบ้า เราภาวนา เราจะเป็นคน เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้นๆ ดี ที่ฝึกอยู่ใช้ได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564

เริ่มเห็นจิตที่หนีไปคิดได้บ้าง แต่บางวันก็ยังฟุ้งซ่านอยู่มาก ถ้าวันไหนลืมเตือนตัวเองก็จะเผลอไปนาน

คำถาม:

ส่งการบ้านครั้งที่แล้ว หลวงพ่อให้โยมไปเดินจงกรมแล้วรู้ทันจิตไป เอาจิตเป็นหลัก ไม่ได้เอาคำบริกรรมหรือการเดินเป็นหลัก โยมก็นำไปปฏิบัติตาม ก็เริ่มเห็นจิตที่หนีไปคิดได้บ้าง แต่บางวันก็ยังฟุ้งซ่านอยู่มาก ในระหว่างวันก็จะพยายามรู้กายที่เคลื่อนไหว แต่ก็ยังมีความจงใจและต้องคอยบอกตัวเองบ่อยๆ ให้รู้สึกตัว ถ้าวันไหนลืมเตือนตัวเองก็จะเผลอไปนาน ขอหลวงพ่อเมตตาชี้แนะข้อผิดพลาด และขอการบ้านไปปฏิบัติให้พัฒนาต่อไปด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ไม่ผิดหรอกที่ทำอยู่ มันค่อยๆ ดี แต่มันไม่ได้ดีปุบปับทันใจหรอก สติ สมาธิ ปัญญาอะไรพวกนี้มันเป็นของเสื่อม บางวันก็มีสมาธิ บางวันก็ไม่มีสมาธิ บางวันสติเกิดเร็ว บางวันเกิดช้า เผลอไปตั้งชั่วโมงแล้วยังไม่รู้เลยอะไรอย่างนี้ เอาแน่เอานอนไม่ได้หรอก หน้าที่ของเราทำเหตุไปเรื่อยๆ แล้วผลมันเป็นเอง เราจะเห็นว่าถึงเราทำเหตุทุกวันเหมือนกัน แต่ผลที่ได้ในแต่ละวันนี่ไม่เคยเหมือนกัน วันนี้จิตสงบ วันนี้จิตฟุ้งซ่าน วันนี้สติเกิดบ่อย วันนี้สติไม่ยอมเกิดอะไร วันนี้เห็นไตรลักษณ์ วันนี้ไม่เห็นเลยอะไรอย่างนี้ เราจะเห็นว่าทำเหตุเหมือนกัน คือปฏิบัติเหมือนกันทุกวันๆ ผลที่ได้ไม่เคยเหมือนกันหรอก แล้วก็ไม่ต้องทำให้มันเหมือนกัน เราจะเห็นว่าในความเป็นจริงแล้ว มันมีสิ่งที่ error อยู่ เราควบคุม input เหมือนกันทุกวันเลย ปฏิบัติเหมือนกัน output ไม่เคยเหมือนกัน ผลที่ได้

มันมีสิ่งที่ error อยู่ ตัวนี้ล่ะคือตัวไตรลักษณ์ เห็นไหมจิตบางทีก็สงบ บางวันก็สงบ บางวันทำอย่างไรก็ไม่สงบ เพราะจิตนี้เป็นไตรลักษณ์ นี่ธรรมะมันสอนเรา แต่เราคิดว่าอย่างนี้ไม่ใช่ธรรมะ ถ้าเป็นธรรมะต้องดีตลอด ต้องสุข สงบตลอด ฉะนั้นการที่มันเห็นมันแปรปรวน นั่นล่ะธรรมะ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะรู้เลยว่าไม่น่าตกใจ จิตฟุ้งซ่านก็ไม่น่าตกใจ จิตสงบก็ไม่น่าดีใจ จิตสงบเดี๋ยวมันก็ฟุ้ง จิตฟุ้งซ่านก็ไม่น่าเสียใจ ฟุ้งซ่านได้เพราะว่าเราบังคับมันไม่ได้ แต่ว่าเราปฏิบัติเราทำเหตุสม่ำเสมอ เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้ชัดเจน ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ที่ฝึกอยู่ดีมากๆ ด้วย ไปฝึกเอา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564
Page 51 of 67
1 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 57 58 59 60 61 67