กถาวัตถุ 10

องค์ธรรม 10 ประการนี้ ที่เราต้องฝึกก็คือศีล สมาธิ ปัญญา องค์ธรรมที่หก เจ็ด แปด หลังจากนั้นวิมุตติจะเกิดเอง วิมุตติญาณทัสสนะจะเกิดเอง แต่ก่อนที่ศีล สมาธิ ปัญญาจะเกิด มีองค์ธรรม 5 ประการ มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงบ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร ถ้าทำได้อย่างนี้ ศีล สมาธิ ปัญญาจะงอกงาม อดทน พากเพียรไป

การปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนจบ

เริ่มต้นก็ถือศีล 5 แล้วค่อยพัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งจิตตั้งมั่น ด้วยการมีวิหารธรรมแล้วรู้ทันจิตไป ถัดจากนั้นเวลาสติระลึกรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของรูปของนาม จิตตั้งมั่นเป็นแค่คนรู้คนดูอยู่ มีสมาธิมันก็จะเห็นความจริงของรูปนาม ว่ามันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เฝ้าดูเฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งแล้วมรรคผลมันเกิดเองล่ะ ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ เกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว

กฎของการดูจิต 3 ข้อ

ข้อที่หนึ่ง อย่าอยากรู้แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามันรู้สึกอะไร กฎข้อที่สอง ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างที่ว่า ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ อย่าเข้าไปแทรกแซงสภาวะ ความสุขเกิด ไม่ต้องไปหลงยินดีมัน ถ้าหลงยินดีให้รู้ทัน ความทุกข์เกิด ไม่ต้องไปยินร้าย ถ้ายินร้ายเกิด ให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปการปฏิบัติเอาไว้ในประโยคสั้นๆ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

น้ำหนักในใจคือดัชนีชี้วัด

บางคนยังไม่ได้ภาวนาใจสบายเป็นธรรมดา พอจะดูจิตเริ่มจ้องแล้ว เครียดแล้ว จะดูตรงไหนดี ไม่เห็นว่าใจกำลังโลภ ใจกำลังฟุ้งซ่าน สภาวะเกิดแล้วไม่เห็น ใจก็เครียดขึ้นมา หรือบางคนเห็นโทสะ โทสะเกิดขึ้นใจไม่ชอบ ไม่เห็นว่าใจไม่ชอบ มีน้ำหนักเกิดขึ้น ใจเครียด ฉะนั้นน้ำหนักที่เกิดขึ้นในใจ เป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าเรารู้เป็นธรรมชาติไหม หรือรู้แบบมีตัณหาแทรกเข้ามา ถ้ารู้อย่างเป็นธรรมชาติ จะไม่มีน้ำหนักเกิดขึ้นในใจ ลองไปดู น้ำหนักที่เกิดขึ้นในใจเรานี้ก็ไม่คงที่ เดี๋ยวหนักมาก เดี๋ยวหนักน้อย เวลาจิตเราชั่วๆ ก็หนักมาก เวลาจิตเราเป็นกุศลก็หนักน้อยหน่อย เวลาเราอยากดีลงมือปฏิบัติ บังคับกายบังคับใจก็หนักเยอะหน่อย ถ้าเห็นกายเห็นใจมันทำงาน แต่มีความจงใจจะไปเห็นก็หนักน้อยหน่อย มีแต่หนักมากกับหนักน้อยในใจ ตรงนี้จริงๆ ก็แสดงธรรมะ จิตนี้เดี๋ยวก็หนักมาก เดี๋ยวก็หนักน้อย สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ ดูอย่างนี้ก็เดินปัญญาได้

การปฏิบัตินั้นไม่ยาก

การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ ตั้งใจเสียใหม่ แทนที่จะสนใจแต่คนอื่น สนใจแต่สิ่งอื่น หันมาสนใจร่างกาย จิตใจของตัวเองบ้าง สะสมความรู้ถูก ความเข้าใจถูกในร่างกาย ในจิตใจของตัวเองให้มากๆ เราดูของจริง สิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับ ดูไป ไม่ใช่เรื่องยาก ในที่สุดปัญญามันก็จะเกิด มันก็จะรู้เลย ทุกสิ่งมันของชั่วคราว สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา รู้ตรงนี้เป็นพระโสดาบันได้ ไม่ยากหรอก มันยากที่ไม่ยอมรู้

มีชีวิตด้วยความไม่ประมาท

อย่างพวกเรามีโอกาสเจอศาสนาพุทธแล้ว ถ้าไม่รู้จักตักตวงผลประโยชน์จากศาสนาพุทธ คือการเรียนรู้สัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถ่องแท้ เรียกว่าเราประมาท เพราะศาสนาพุทธจะสูญไปเมื่อไร ไม่รู้ ปกติไม่ยั่งยืนเท่าไรหรอก มันเป็นศาสนาที่เข้าใจยาก ศาสนาที่ต้องช่วยตัวเอง คนส่วนใหญ่อ่อนแอไม่ได้คิดจะช่วยตัวเอง คิดจะขอพรขออะไรไป ฉะนั้นอย่าประมาท มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะแล้ว ลงมือปฏิบัติ

เรียนรู้อายตนะเพื่อละตัณหา

ภาวนาเรื่อยๆ ตามสังเกตของจริงไป จะรู้เลย ทุกอย่างเกิดแล้วดับหมดเลย จะอายตนะภายนอก เกิดแล้วก็ดับ อายตนะภายในเกิดแล้วก็ดับ จิตวิญญาณที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรยั่งยืนสักอย่างเดียว ถ้าอย่างนี้ ดูอย่างนี้เรื่อยๆ มันจะละตัณหา แล้วมันละเด็ดขาด ละแล้วไม่เกิดอีก ละทีเดียวแล้วเลิกกันไปเลย ถ้ายังไม่เห็นแจ้งในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ก็ละด้วยสติ ด้วยสมาธิได้ชั่วคราว แต่เจริญปัญญาจะละได้เด็ดขาด พระพุทธเจ้าถึงสอน “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

เราไม่ยึดเพราะเห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ยังยึดอยู่นั่นล่ะ จะเห็นทุกข์ก็ต้องดูกาย มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือมีสมาธิที่ดี ตั้งมั่นและเป็นกลาง นี่เรื่องของสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ แต่รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องอยู่ ปัญญามันถึงจะเกิด มีปัญญาก็ไม่ใช่เพื่อจะมีปัญญา มีปัญญาเพื่อจะได้เห็นทุกข์ แล้วจิตมันถึงจะปล่อยวางของมันเอง

นิโรธ 5

ความดับทุกข์เขาเรียกตัวนิโรธมี 5 ระดับ เป็นความดับด้วยสมถกรรมฐาน ดับด้วยวิปัสสนากรรมฐาน ดับด้วยอริยมรรค ดับด้วยอริยผล แล้วก็นิพพาน สมถกรรมฐานดับตัวนิวรณ์ นิวรณ์เป็นตัวกั้นความเจริญทางจิตใจของเรา จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา ก็ข่มนิวรณ์ไว้ชั่วคราว วิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์ เราเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนามไปอย่างนี้ มันก็จะดับความเห็นผิด วิปัสสนามันสร้างให้เกิดตัวปัญญา พอเราเจริญวิปัสสนามากๆ ในที่สุดจิตมีกำลังขึ้นมา เกิดอริยมรรคขึ้นมา มันเกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์ อริยมรรคมันขึ้นมาเพื่อดับกิเลส ถ้าล้างด้วยอริยมรรคจะล้างเด็ดขาด ไม่กลับมาอีกแล้วกิเลสตัวนั้นละสังโยชน์ 3 ตัว สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ตัวที่สี่คืออริยผล อริยผลไม่มีการดับอะไรแล้ว มันดับที่ตัวมรรค อันนี้ตรงที่ดับคือการไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามันมีขึ้นมาแล้วไปดับมัน มันไม่มีงานอะไรต้องทำ แล้วนิโรธตัวที่ห้าจริงๆ คือนิพพาน จิตที่เราเข้าไปสัมผัส เข้าไปทรงพระนิพพาน มันดับ มันดับความไม่รู้ ความไม่เข้าใจอริยสัจ คือดับอวิชชา ดับตัณหา ดับอุปาทาน ดับภพ ดับชาติ ดับทุกข์ไป สิ่งเหล่านี้เดี๋ยวพวกเราก็เจอ ตอนนี้เรียน 2 ตัวแรกให้แตกฉาน

การปฏิบัติ 3 อย่างที่ต้องทำทุกวัน

อันแรกก็ถือศีล 5 อันที่สองทำในรูปแบบให้จิตใจได้พักผ่อน ฝึกตัวเองไป อันที่สามคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน พอใจมีกำลังแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์มีสติไว้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิต รู้ เกิดความเปลี่ยนแปลงในกาย รู้ รู้ไปเรื่อยๆ เห็นกายไป เห็นจิตไปว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นไตรลักษณ์ของจิต

Page 23 of 45
1 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 45