ศีล สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ

ภาวนาไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะสมบูรณ์ในขณะเดียวกันๆ พร้อมๆ กัน ตรงที่ศีล สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน ถ้าบุญบารมีมากพอ สะสมมามากพอ อริยมรรคจะเกิดขึ้น เพราะในอริยมรรคมีศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติอยู่ มันเกิดพร้อมกันในขณะจิตเดียวกัน เพราะฉะนั้นฝึกทุกวันๆทำให้ต่อเนื่อง จิตจะได้ทรงสมาธิที่ดีขึ้นมา สามารถเดินปัญญาได้ สุดท้ายศีล สมาธิ ปัญญาก็ประชุมลงที่จิตดวงเดียว ในขณะจิตเดียว มันคือขณะแห่งอริยมรรค.

เข้าใจปฏิจจสมุปบาท

ภาวนาใหม่ๆ รู้สึกจิตผู้รู้มันเป็นตัวสุข จิตผู้หลงมันเป็นตัวทุกข์ จิตยังมี 2 อัน ตัวสุขกับตัวทุกข์ ภาวนาจนถึงจุดหนึ่งจะแจ้งเลย จิตนั้นล่ะคือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย กายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่มีตัวสุข อันนั้นเรียกว่าเรารู้ทุกข์จริงๆ แล้ว พอรู้ทุกข์จริงๆ มันจะวางเลย จะวางจริงๆ วางวัฏฏะลงไป วัฏสงสารถล่มลงตรงนั้น ตรงที่รู้แจ้งในกองทุกข์ของขันธ์ 5 นั้น หรือของอายตนะ 6 หรือของธาตุ 18 ของอินทรีย์ 22 ก็จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาท สิ่งที่เรานึกว่ามี มันแค่การประชุมกันขององค์ธรรมจำนวนมาก อยู่ชั่วคราวก็แตกสลายออกไป ทุกสิ่งทุกอย่างชั่วคราวไปหมดเลย

เตรียมกองทัพของเราให้พร้อม

การเจริญปัญญาคือการทำลายล้างกิเลส ศีลเป็นแค่หนีเข้าป้อม กิเลสมันเข้มแข็งเราสู้ไม่ไหว ช่วงไหนมีสมาธิเราก็ผลักกิเลสถอยไป ช่วงไหนสมาธิเราตกกิเลสก็รุกเข้ามาอีก ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ช่วงที่จะเผด็จศึกนี่คืองานเจริญปัญญา ฉะนั้นเราเตรียมกองทัพของเราให้พร้อม คือเตรียมจิตใจของเราให้มีสติให้มีสมาธิให้มากๆ แล้วเราถึงจะเจริญปัญญาได้

กิเลสกลัวคนรู้ทัน

ให้เวลากับการภาวนาของเราให้มากๆ หน่อย ศึกษาธรรมะ มันเป็นศาสตร์อันหนึ่ง ต้องลงมือปฏิบัติ ศาสตร์อันนี้ท่องจำเอาก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เราท่องตำรับตำราได้เยอะ กิเลสไม่กลัวความรู้ทั้งหลาย กระทั่งความรู้ในธรรมะที่เล่าเรียน กิเลสกลัวคนรู้ทัน กิเลสมันอยู่ที่จิต ต้องเรียนรู้ให้ถึงจิตถึงใจ พอเราเห็นมัน มันถึงจะกลัวเรา เราไม่เห็นมัน มันก็แอบอยู่ในใจเรา เป็นเจ้านายเรา ตกเป็นทาสโดยไม่รู้สึกตัว

รู้โลกแจ่มแจ้งจิตก็วางโลก

โลกข้างนอกมันก็ทุกข์อย่างนี้ เจริญแล้วเสื่อมๆ โลกภายในก็เจริญแล้วเสื่อมเหมือนกัน สุดท้ายจะเห็นความจริง ภายนอกหรือภายในมันก็อันเดียวกัน ก็โลกเหมือนกัน พอรู้โลกแจ่มแจ้งจิตก็วางโลก ไม่มีอะไรโลกนี้ จะโลกภายในก็คือกายนี้ใจนี้ หรือโลกภายนอกกายคนอื่นใจคนอื่น หรือสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวง มันก็เป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่ของเรา เกิดแล้วก็ดับไป มีแล้วก็หายไป แล้วใจเข้าใจโลก ใจก็อยู่เหนือโลก

จิตคือหัวโจก

ตัวสำคัญคือตัวจิต จิตนี้เดี๋ยวก็โคจรไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 จิตก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ฉะนั้นถึงจะเริ่มจากการรู้รูป สุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิตจนได้
แต่ถ้าเราลัดเข้ามาที่จิตได้ เข้ามาเลย ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมค้อม เข้ามาที่จิต ถ้าเราเห็นว่าจิตไม่ใช่เราอันเดียว ขันธ์ 5 ทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว อายตนะทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว เล่นมันที่หัวโจกตัวเดียวเลย

มรดกกรรม

เราภาวนาเราจะรู้เลยจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน ดับแล้วมันมีพลังงาน มีวิบากยังผลักดันให้เกิดจิตดวงใหม่ขึ้นมาได้ ฉะนั้นมันไม่ใช่ตายแล้วสูญ วิบากกรรมส่งผลให้เกิดขันธ์ใหม่ในภพใหม่ขึ้นมา ขันธ์ใหม่ในภพใหม่เหมือนกับเป็นลูก กระทั่งจิตดวงต่อไปเหมือนเป็นลูกของจิตดวงเก่า จิตมันมีมรดก จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นก็รับมรดกมาจากจิตที่เป็นพ่อเป็นแม่ของมัน จิตดวงเก่าทำกุศลไว้เยอะก็คล้ายๆ เป็นเศรษฐี วิบากให้ผลไปเกิดจิตดวงใหม่ขึ้นมา เหมือนมีลูก ลูกก็พลอยเป็นเศรษฐีไปด้วย จิตดวงเก่าทำบาปมาเยอะ บุญไม่ได้ทำ ทำแต่กรรมชั่ว ก็เหมือนจิตดวงใหม่เกิดมาเป็นลูกของจิตดวงเดิมนี้ ลำบากยากจน ชีวิตลำบาก ฉะนั้นจิตนี้เกิดดับสืบเนื่อง กระทั่งการข้ามภพข้ามชาติ

ทำผลไม่ได้ ต้องทำเหตุ

กิจต่ออริยสัจจะชัดเจนอยู่ ตัวทุกข์เป็นตัวผลของตัณหา ละไม่ได้ การละไปละที่ผลไม่ได้ ต้องละที่เหตุ ฉะนั้นท่านบอกทุกข์ก็ให้รู้ว่ามันทุกข์ สมุทัยคือตัณหาให้ละเสีย นิโรธก็เหมือนกัน นิโรธเป็นผล อยู่ๆ เราไปทำผลขึ้นมาไม่ได้ เราต้องทำเหตุคือศีล สมาธิ ปัญญา หรือการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เราเจริญแล้ว ในที่สุดก็ได้ผลคือนิโรธ อยู่ๆ เราไปทำผลไม่ได้ เราต้องทำเหตุ เหตุคือมรรคต้องเจริญ ถ้าฝ่ายชั่ว เหตุคือตัณหา ต้องละคนละแบบกัน

มาดูความจริงของขันธ์ 5

การเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ เรามีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม มีปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของรูปธรรมนามธรรม ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเข้าใจได้จิตต้องตั้งมั่น มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตเป็นแค่คนดู ร่างกายนี้ถูกดูจิตเป็นคนดู อย่างนี้เรียกเรามีจิตตั้งมั่น พอเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นทุกข์ มันจะค่อยๆ ปล่อย ปล่อยเป็นลำดับๆ ไป ปล่อยกายก่อนเพราะมันหยาบมันดูง่าย แล้วสุดท้ายมันก็ไปปล่อยจิตอีกทีหนึ่ง

ภาวนาเก็บเล็กเก็บน้อย

เวลามีเวลาว่าง 5 นาที 2 นาที 3 นาทีอะไรอย่างนี้ อย่าทิ้งเปล่าๆ อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป อยู่ก็เหมือนอยู่บ้าน อยู่สบายๆ ไม่ได้อยู่คุก เวลาจิตต้องการไปรู้อารมณ์อื่นๆ มันจะไหลไป ส่วนใหญ่ก็ไหลไปคิด ให้เรามีสติรู้ทัน ฝึกอย่างนี้มากๆ มากที่สุดที่จะมากได้ มีนาทีหนึ่งก็ฝึกนาทีหนึ่ง มี 5 นาทีก็ฝึก 5 นาที 10 นาทีก็เอา เก็บเล็กเก็บน้อยทั้งวัน ถ้าทั้งวันจิตเราออกข้างนอก ไม่เคยกลับบ้าน คือทิ้งวิหารธรรมไป จิตหนีไปตลอด ตกเย็นจะไปนั่งภาวนา ไปเดินจงกรม ทำไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน เพราะมันฟุ้งมาทั้งวันแล้ว จิตมันก็เหนื่อย พอจิตเหนื่อย พอไปนั่งสมาธิ ก็นั่งหลับ หรือบางคนมันฟุ้งแล้วมันยังฟุ้งได้ไม่ถึงใจ พอนั่งสมาธิมันก็ฟุ้งต่อ ฉะนั้นถ้าเรามีวินัยในตัวเอง เราไม่ทิ้งเวลาเปล่าๆ มี 5 นาที 10 นาทีอะไร เก็บให้หมดเลย

Page 24 of 45
1 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 45