อุบายของครูบาอาจารย์

บางคนภาวนาแล้วก็เห็นโลกพระนิพพาน อันนั้นเป็นนิมิต บางท่านท่านเข้าใจความจริง อย่างบางองค์ท่านภาวนาดี แต่ท่านชอบพูดถึงโลกนิพพาน อันนั้นเป็นอุบาย เป็นอุบายให้เราอยากได้นิพพานไปก่อน แล้วพอเราเจริญสติปัฏฐานมากๆ เราไม่ยึดรูป ไม่ยึดนาม ก็รู้จักนิพพานตัวจริงได้ เป็นอุบายของท่าน บางองค์ พระพุทธเจ้าท่านบอกตรงไปตรงมาที่สุดเลย แล้วพวกเรารับไม่ค่อยได้ มันไม่เคยรู้จักสิ่งซึ่งเหนือรูปธรรมนามธรรมขึ้นไป พอฟังแล้วมันรับไม่ได้ ครูบาอาจารย์รุ่นหลังๆ ก็เลยหลอกๆ เอา สร้างอะไรที่ปลุกเร้าให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างทำวัตถุมงคลมาเพื่อให้เรารักษาศีล เพื่อให้เรานั่งสมาธิ แล้วก็สอนโน่นสอนนี่ เห็นนรก เห็นสวรรค์ เพื่อเราจะได้ไม่ได้ทำผิดศีล เป็นอุบายมากมาย ถ้าเรามัวแต่ติดอุบาย เราก็ไปไหนไม่ได้หรอก แหวกอุบายไม่ออก ถ้าแหวกออกก็จะเข้าใจร้อง โอ๊ย สติปัญญาครูบาอาจารย์ไม่ธรรมดา สอนคนโง่ๆ อย่างเราให้ก้าวหน้าขึ้นมาได้

ความอยากเป็นเจ้านายตัวร้ายกาจ

ความอยากมันเป็นเจ้านายที่มองไม่เห็นตัว มันบงการให้จิตใจของเราวิ่งพล่านๆ ไปตลอดเวลา เป็นตัวร้ายกาจมาก จิตใจของเรานั้นตกเป็นทาสของตัณหามาแต่ไหนแต่ไร คือตกเป็นทาสความอยาก แต่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น บางคนถึงขนาดอหังการ บอกว่าฉันนี่ไม่มีใครมาสั่งฉันได้เลย ฉันเป็นอิสระอย่างแท้จริง มีอำนาจในตัวเอง มีเงิน มีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีใครมีอำนาจเหนือฉันได้หรอก ในมุมมองของนักปฏิบัติ สิ่งที่มีอำนาจเหนือจิตใจของคนทั้งหลายคือตัวตัณหา มันสั่งเราตลอดเวลา เราสังเกตตัวเองเรียนรู้ตัวเองเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์จะเกิดขึ้นเสมอ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ ภพไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ทุกข์ทั้งสิ้น ฉะนั้นสิ่งที่ตัณหามันสร้างขึ้นมาคือทุกข์นั่นเอง ความอยาก ไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที ยิ่งความอยากรุนแรง โอกาสที่ความทุกข์จะรุนแรงก็มาก ความอยากรุนแรงก็ดิ้นๆๆ อย่างแรง ถ้าความอยากเบาบาง โอกาสที่จะเกิดความทุกข์ มันก็เบาบางลง ไม่มีความอยาก ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดความทุกข์ทางจิตใจ ตัณหาทำให้เราเกิดความทุกข์ทางใจ แต่ทางร่างกายมันเกิดมาแล้ว มันเป็นวิบาก แก้ไม่ได้แล้ว มันมีร่างกายอยู่ ร่างกายนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อันนี้แก้ไม่ได้ อย่างไรก็ต้องแก่ อย่างไรก็ต้องเจ็บ อย่างไรก็ต้องตาย การที่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน คอยมาดูกายมาดูใจบ่อยๆ เพื่อให้จิตมันยอมรับความจริงของกายของใจได้ ถ้าจิตมันยอมรับความจริงได้ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา อะไรเกิดขึ้นกับกาย อะไรเกิดขึ้นกับใจ มันจะไม่ทุกข์หรอก เพราะตัณหามันไม่เกิด

งานพัฒนาจิต

การที่เราทำจิตตสิกขา คือการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป แล้วเราจะได้จิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา จิตที่ตั้งมั่นมีทั้งสมาธิที่ถูกต้อง มีทั้งสติที่ถูกต้อง จิตดวงนี้พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว บางคนพอมีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ไม่ไปต่อก็ตั้งอยู่อย่างนั้นล่ะ อันนี้ก็น่าเสียดาย เหมือนเราชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้เต็มแล้วเราก็ไม่ได้ใช้ วางทิ้งไว้ให้แบตเตอรี่เสื่อม เพราะฉะนั้นเราทำสมาธิเสร็จแล้ว เราก็ต้องมาเดินปัญญาต่อ นี่คืองานที่สอง งานฝึกจิตให้เกิดปัญญา

ดับทุกข์ที่ตัวเหตุ

ชาวพุทธเราเอาชนะความอยากด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านมองลงไปต่อว่าความอยากมันมาจากอะไร หลักของเราชาวพุทธ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะมองไปว่า ต้นตอ ต้นเหตุของปัญหาคืออะไร แล้วเราก็ไปแก้ที่ต้นเหตุ นี่เป็นวิธีการของชาวพุทธ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นมาเป็นผล มันก็ต้องมีเหตุ ชาวพุทธเราเวลามีปัญหา เราจะมองไปที่ต้นเหตุของปัญหา อะไรเป็นเหตุ แล้วไปแก้ที่เหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ สิ่งนั้นก็ดับ นี่เป็นธรรมะสำคัญ พื้นฐานเลยของเราชาวพุทธ การที่จะดับผล เราดับที่ตัวผลไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็สอนอะไรเป็นเหตุของมัน แล้วก็สอนความดับ คือดับเหตุของมันนั่นล่ะ ถ้าเราดับเหตุของทุกข์ได้ ความทุกข์มันก็ดับ ฉะนั้นเราต้องดับที่ตัวเหตุ นี่คำสอนของพระพุทธเจ้า

เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์จึงปล่อยวางจิต

เราจะปล่อยวางจิตได้ ก็ต้องเห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเราไม่ได้เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ มันไม่วางหรอก มันเหมือนที่เราปล่อยวางกาย เราเห็นกายมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็วาง จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็ไม่วาง ถ้าเราเห็นแล้วมันถึงจะวาง เพราะฉะนั้นอย่างที่เรามาหัดดูจิตๆ เราก็จะมาเห็น จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่วเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปฟังเกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปดมกลิ่น จิตที่ไปลิ้มรส จิตที่ไปรู้สัมผัสทางกาย เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปคิดนึกทางใจ เกิดแล้วก็ดับ ตรงที่มันไปคิดนึกทางใจ ก็จะเกิดเป็นจิตสุขบ้าง จิตทุกข์บ้าง จิตดีบ้าง จิตโลภ โกรธ หลงบ้าง แต่จิตทุกชนิดนั้นเกิดแล้วดับ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ถึงจุดหนึ่งมันจะวาง มันจะปล่อยวางจิตได้ ถ้าปล่อยวางจิตได้ มันก็ไม่มีอะไรให้ยึดอีกแล้ว

รู้จักคำว่าหยุดเสียบ้าง

มาถึงวันนี้พวกเราจะได้ยินคำว่าไม่มีเวลาบ่อย เวลาเราก็เท่าๆ กับคนโบราณ แต่ทำไมเรารู้สึกมันไม่พอทั้งๆ ที่เราพยายามทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นๆ เวลากลับรู้สึกว่าสั้นลงเรื่อยๆ ไม่พอ มันไม่พอใจที่มันดิ้นรน ใจที่มันหิว ใจที่มันอยาก การที่ต้องเคลื่อนที่เร็วตลอดเวลา เหนื่อย บางทีเหนื่อยจนกระทั่งไม่มีเวลาหยุดคิดทบทวนว่าเราวิ่งไปเพื่ออะไร วิ่งตามๆ กันไปเท่านั้นเอง ถ้าเรารู้จักคำว่าหยุดเสียบ้าง ชีวิตเราจะมีคุณค่ามากขึ้น เราจะรู้สึกชีวิตมีเวลามากขึ้น ยิ่งทำอะไรเร็วขึ้นเรื่อยๆ เวลายิ่งน้อยลง แต่ว่าเรารู้จักหยุด เราก็จะมีเวลาอยู่กับตัวเองได้เยอะขึ้น เวลาเราต้องทำมาหากินอยู่กับโลก ต้องแข่งขัน ต้องอะไรมากมาย ก็รู้จักเบรกตัวเองเป็นช่วงๆ แบ่งเวลาแต่ละวัน หรือแต่ละช่วงเวลา หัดแบ่งเวลาไว้เป็นเวลาของการหยุดอยู่กับตัวเอง ไม่ใช่วิ่งตามโลกไปเรื่อยๆ

การสุ่มตัวอย่างมาเรียน

การที่เราจะเจริญสติปัฏฐานจะด้วยกาย เวทนา จิต หรือธรรม อันใดอันหนึ่ง ก็ทำไปเพื่อให้เกิดสติบ่อยๆ สติปัฏฐานนั้นมีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง มี 2 ระดับ เบื้องต้นทำไปเพื่อความมีสติ เบื้องปลายทำไปเพื่อความมีปัญญา หมายถึงเราไม่ต้องเรียนกายทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนเวทนาทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนจิตทั้งหมด ไม่ต้องเรียนธรรมะทั้งหมด เราเรียนบางอย่างบางข้อ ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นแล้ว เราจะเข้าใจธรรมะทั้งหมด เป็นการสุ่มตัวอย่างมาเรียน ไม่ได้ผิดอะไรกับการทำงานวิจัยภาคสนามเลย การที่พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน สอนไม่ได้แตกต่างกับหลักที่หลวงพ่อบอกเลย สุ่มตัวอย่างมาเรียน ถ้าเข้าใจในสิ่งที่เรียนแล้วจะเข้าใจทั้งหมด แล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้เราไปสุ่มส่งเดช ท่านกำหนดหัวข้อมาให้แล้ว

รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด

เริ่มตั้งแต่คอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด ถ้าเรารู้ตรงนี้ได้ ความคิดของเราก็จะสะอาด คำพูดของเราก็จะสะอาด การกระทำของเราก็จะสะอาด การเลี้ยงชีวิตทำมาหากินก็จะสะอาด ไม่ฉ้อฉลหลอกลวง เบียดเบียนใคร แล้วก็อกุศลที่เคยมีมันก็จะค่อยๆ ลดลง อกุศลใหม่ก็จะไม่เกิด กุศลที่ไม่เคยมีก็จะเกิดขึ้น กุศลที่มีแล้วก็จะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นตรงที่เรามีสติรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของตัวเอง หลวงพ่อมอง มันแทบจะเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติจริงๆ การปฏิบัติไม่ใช่นั่งสมาธิเดินจงกรมเฉยๆ มันตั้งแต่ว่าขัดเกลาตัวเองด้วยศีล หรือดูแลคำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของตัวเองให้ดี ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส แล้วก็ถัดจากนั้นตัวสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น คือจิตใจเราเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสผลักดันให้วิ่งพล่านๆ เหมือนหมาถูกน้ำร้อน พอจิตใจเราเป็นปกติ จิตใจมันก็สงบ เพราะฉะนั้นศีลไม่ใช่เรื่องเล็ก ถ้าศีลของเราเสีย อย่ามาคุยเรื่องสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง อย่ามาพูดเรื่องเจริญปัญญา ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญบอกแล้วว่าศีลเราจะดี ถ้าเราคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา

กรรมวาที กิริยวาที วิริยวาที

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเรียก กรรมวาที เน้นย้ำเรื่องกรรม การกระทำก็มีผลเป็นกิริยวาที เป็น วิริยวาที วิริยวาทีก็คือต้องมีความเพียร ต้องมีความเพียรต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความไม่รู้ของเรา
รู้ ต่อสู้ความอยาก ก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ต้องเจริญขึ้นมา เพียร เพียรลดละอกุศลทั้งหลายที่เรามีอยู่ เพียรเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ต้องมีความเพียร ต้องอดทน แล้วต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ชาวพุทธถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรมกับเรื่องผลของกรรม ก็เป็นชาวพุทธไม่ได้ ชาวพุทธเราเชื่อเรื่องกรรม “เราทำกรรมอันใดไว้จะเป็นบุญหรือเป็นบาป เราก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป” จะเชื่ออย่างนี้ ฉะนั้นอะไรที่งมงายไม่ใช่ชาวพุทธหรอก

ใจที่อยากพ้นโลกจะมีความพากเพียร

พระมหากัสสปะท่านเคยตั้งข้อสังเกต ท่านพูดกับพระพุทธเจ้า ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสมัยต้นพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ สอนธรรมะ พระอรหันต์มีมาก พระวินัยมีน้อย มาช่วงหลังๆ พระวินัยมีมากขึ้นๆ พระอรหันต์มีน้อยลงๆ ฉะนั้นความเป็นโลกของวัด วัดต่างๆ มีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว พวกอินทรีย์แก่กล้ามาพบพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วก็พวกนี้แสวงหาความพ้นทุกข์อยู่แล้ว อย่างพวกปัญจวัคคีย์ เขาอุตส่าห์บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญโน้นบำเพ็ญนี้ เป็นนักบวชอยู่แล้ว อยากพ้นทุกข์ แต่ไม่รู้ทาง พอพระพุทธเจ้าชี้ทางให้ แต่ละองค์ก็ไปลิ่วเลย เพราะท่านเหล่านี้ท่านอยากพ้นทุกข์อยู่แล้ว

Page 19 of 45
1 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26 27 28 29 45