ป่วยหนักแล้วทำอย่างไร

อาศัยนาทีสุดท้าย ช่วงสุดท้ายของชีวิตนี่ล่ะเจริญสติไว้ แยกขันธ์ไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเหลือแต่ความเจ็บปวดจริงๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับร่างกาย ร่างกายไม่ได้เจ็บ เพียงแต่ความเจ็บมันมาอาศัยอยู่ในร่างกาย แล้วจิตใจก็ไม่ได้เจ็บไปด้วย จิตใจเป็นคนรู้คนดู ถ้าเราสามารถรักษาจิตใจให้เป็นคนรู้คนดูได้ จิตของเราดีแล้ว ถ้าตายไปอย่างไรก็ไปสุคติ เพราะเรามีสติรักษาจิตเอาไว้ได้อย่างดีแล้ว เป็นกุศลอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดเลย

รู้ตัวเร็วบ้างช้าบ้าง แล้วจึงเริ่มต้นกับการดูกายหายใจใหม่ รู้สึกว่าบางวันภาวนาได้ดี บางวันภาวนาไม่ค่อยดี

คำถาม:

ทุกวันปฎิบัติในรูปแบบโดยการนั่งสมาธิ ดูกายหายใจผสมกับภาวนาพุทโธ วันละ 20 – 30 นาที และปฎิบัตินอกรูปแบบ โดยการดูกายเคลื่อนไหว ดูกายหายใจ จิตคิด จิตไหล หรือจิตมีกิเลสก็คอยรู้ตัว รู้แล้วเห็นสภาวะนั้นดับไป โดยรู้ตัวเร็วบ้างช้าบ้าง แล้วจึงเริ่มต้นกับการดูกายหายใจใหม่ รู้สึกว่าบางวันภาวนาได้ดี บางวันภาวนาไม่ค่อยดี ขอคำชี้แนะเพื่อภาวนาต่อไปครับ

 

หลวงพ่อ:

ภาวนามันก็เจริญบ้างเสื่อมบ้าง เป็นธรรมชาติ มันถูกแล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องมีเครื่องอยู่ แล้วก็อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป อย่างเมื่อกี้หลวงพ่อเทศน์เรื่องปัญญานำสมาธิ ปัญญานำสมาธิไม่ใช่แปลว่าไม่มีสมาธิ ก็ต้องมีสมาธิคือขณิกสมาธิ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีแล้วรู้อะไรอย่างนี้ เราจะได้ขณิกสมาธิ ต้องฝึก ทุกวันทำทุกวัน สมาธิของเราก็จะค่อยๆ เข้มแข็งมากขึ้นๆ พอสมาธิมันเข้มแข็งแล้ว แล้วเราคอยรู้ทันเวลาจิตมันเคลื่อน จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แล้วมันจะเห็นความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว เป็นของแปลกปลอม พอร่างกายเคลื่อนไหวมันก็จะเห็นเลย ร่างกายก็ไม่ใช่จิต เป็นของถูกรู้ถูกดู

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่ถูกรู้ถูกดู ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราจะเดินปัญญาได้ก็ต้องอาศัยสมาธิ แต่ว่าเป็นแค่ขณิกสมาธิ ฉะนั้นปัญญานำสมาธิไม่ได้แปลว่าไม่มีสมาธิ แต่ต้องมีสมาธิ คือขณิกสมาธิต้องมีก่อน ฉะนั้นถ้าเข้าใจตัวนี้เราก็พยายามฝึกจิตของเราให้มีสมาธิ มีขณิกสมาธินี่ล่ะ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตไปทำอะไรรู้ทัน แล้วก็พอรู้ทันแล้วมันก็จะเป็นผู้รู้ขึ้นมา มันก็มาหายใจเข้าพุท – ออกโธอีก หนีไปอีกรู้อีก มันหนีได้ 2 ลักษณะ หนีไปคิดกับหนีไปเพ่ง มันหนีอย่างไรเราคอยรู้เอาก็แล้วกัน ฝึกจนชำนิชำนาญ ต่อไปจิตขยับนิดเดียวเห็นเลย จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ได้ทั้งวัน ในที่สุดจิตเราก็จะเป็นผู้รู้จริงๆ ในทุกๆ ปรากฏการณ์ อยู่ในชีวิตประจำวันจิตก็ยังเป็นผู้รู้ เห็นโลกธาตุนี้ว่างเปล่า ไม่มีตัวมีตนอะไรหรอก

เราภาวนาไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็นตัวจิตเองก็ว่างเปล่า ไม่มีตัวมีตนหรอก ถ้าเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นโลก เห็นขันธ์ว่างเปล่า เห็นจิตที่ไปรู้ขันธ์ว่างเปล่า ตรงนั้นเราก็จะได้ธรรมะแล้ว นี้ก็อาศัยฝึกสมาธิทีละขณะๆ นี่ล่ะ ต้องทำ มีเครื่องอยู่ ถ้าไม่ทำจิตเดินปัญญาไม่ได้จริง มันจะฟุ้ง.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

ยังฟุ้งอยู่มาก บางครั้งพอเริ่มรู้สึกฟุ้งซ่าน ก็จะเริ่มคิดคำพูดของหลวงพ่อที่ว่า “ให้เห็นตามความเป็นจริง” พอดูไปสักพักความฟุ้งซ่านนั้นก็ค่อยคลายไป

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบโดยการนั่งสมาธิมา 2 เดือน ใช้พุทโธเป็นเครื่องอยู่ ถ้าฟุ้งมากจะใช้การสวดมนต์ หรือนับเลข 1 – 100 พร้อมดูลมหายใจ พอใจเริ่มสงบลง ก็จะกลับมาพุทโธพร้อมกับดูลมหายใจ เริ่มเห็นน้ำหนักของจิต เวลาที่มีความคิดหรือมีความรู้สึกเกิดขึ้นมากขึ้น แต่ยังฟุ้งอยู่มาก บางครั้งพอเริ่มรู้สึกฟุ้งซ่าน ก็จะเริ่มคิดคำพูดของหลวงพ่อที่ว่า “ให้เห็นตามความเป็นจริง” พอดูไปสักพักความฟุ้งซ่านนั้นก็ค่อยคลายไป ไม่ทราบว่าที่คิดแบบนี้ผิดหรือไม่คะ

 

หลวงพ่อ:

ไม่ผิดหรอก แต่ต้องฝึกเพิ่มเติมไป สมาธิเรายังไม่แข็งแรง สมาธิมันยังไม่แข็งแรง พยายามฝึกมีเครื่องอยู่ ดีแล้ว หายใจเข้าพุท – ออกโธอะไรก็ทำทุกวันๆ จนกระทั่งมาอยู่ในชีวิตอย่างนี้ ถ้าเราไม่ได้เดินข้ามถนน ไม่ได้ขับรถ ไม่ได้ทำอะไรที่เสี่ยง เราก็ยังหายใจเข้าพุท – ออกโธได้ อย่างเราจะกินข้าวอะไรอย่างนี้ เราก็คอยรู้สึกๆ ไป เวลากินข้าวเราหายใจเข้า หรือหายใจออก ดูออกไหม เคยรู้ไหม เวลาเรากลืนอาหาร หายใจเข้า หรือหายใจออก โอ้นี่ยังไม่ใช่นักอานาปานสติตัวจริง ถ้านักอานาปานสติตัวจริงจะรู้เลย ตอนกินข้าว ตอนกลืนน้ำอะไรอย่างนี้ ตอนกลืนอาหารหายใจเข้า หรือหายใจออก รู้เอง หรือถ้าเราฝึกรู้สึกกายจนชิน ร่างกายขยับมันรู้เอง มันรู้สึกเอง ไม่ได้เจตนา ฉะนั้นเราไปทำสมาธิเพิ่มขึ้น หายใจเข้าพุทโธไปเรื่อยๆ หายใจเข้าพุท – ออกโธไปเรื่อยๆ จิตเราจะได้มีกำลัง

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

รู้สึกตัวน้อยลงเหมือนจิตเสื่อม

คำถาม:

หลวงพ่อเคยเมตตาชี้แนะว่า จิตไม่ถึงฐาน จิตอยู่นอกๆ และเคยบอกว่าให้อดทน ในชีวิตประจำวันดูจิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตหนีไปคิดบ่อยๆ รู้ไม่ชัด รู้สึกตัวน้อยลงเหมือนจิตเสื่อม ขอหลวงพ่อเมตตาชี้แนะการภาวนาค่ะ

 

หลวงพ่อ:

เราก็ต้องมีเครื่องอยู่ หาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เสียก่อน แล้วจิตหนีไปจากเครื่องอยู่เรา เราคอยรู้เอา ถ้าเราไม่มีเครื่องอยู่ อยู่ๆ เราดูจิตเฉยๆ จิตมันเป็นนามธรรม เคลื่อนไหวรวดเร็ว ไร้ร่องรอย เราจะดูยาก หลงจะยาว แต่อย่างสมมติเราอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจอย่างนี้ พอจิตหลงปุ๊บมันจะเห็นเร็ว อย่างเราจงใจคิดพุทโธๆ อย่างนี้ เวลาจิตหลงมันจะไปคิดเรื่องอื่น ไม่คิดเรื่องพุทโธ จะเป็นเครื่องสังเกต เอ้า หลงแล้วนี่ ฉะนั้นคอยรู้สึกนะ ของโยมรู้สึกกายไปด้วย รู้สึกอยู่ที่ร่างกายมันจะเห็นกายได้ชัดอยู่หรอก เห็นร่างกายมันหายใจ เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ใช้กายเป็นวิหารธรรมไปเลยก็ได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

ปัจจุบันสติในกายเป็นอัตโนมัติ ส่วนสติในจิตทันบ้างไม่ทันบ้าง เห็นชัดเมื่อทำในรูปแบบแล้วจิตตั้งมั่น ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำเพิ่มเติมต่อด้วยครับ

คำถาม:

หลวงพ่อเคยแก้จิตติดเพ่งให้ แนะนำให้ดูอิริยาบถ และสอนต่อว่าดูกายแล้วจะเห็นจิตเอง ปัจจุบันสติในกายเป็นอัตโนมัติมาก เห็นการขยับของกาย เพื่อบรรเทาทุกข์ของตัวมันเอง และทำงานของมันเอง ส่วนสติในจิตทันบ้างไม่ทันบ้าง เห็นชัดเมื่อทำในรูปแบบแล้วจิตตั้งมั่น ในชีวิตประจำวันเห็นจิตปรุงดีปรุงชั่วได้มากขึ้น เห็นสายเกิดแต่สายดับเห็นไม่ค่อยทัน ในรูปแบบเคยเห็นและพอเข้าใจแล้วว่า จิตปรุงกิเลสหรือกิเลสปรุงจิต ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำเพิ่มเติมต่อด้วยครับ

 

หลวงพ่อ:
เมื่อกี้แนะไปแล้วไปทำอีก ทำถูกแล้ว สมาธิดีแล้ว ที่เพ่งๆ อะไรไม่ได้เพ่งอย่างแต่ก่อนแล้ว พอสมาธิเราดีดูลงในกายเลย จะเห็นกายกับจิตแยกกันได้ชัดเจนแล้ว ส่วนเรารู้สึกอยู่ร่างกายเคลื่อนไหว จิตรู้สึกอะไรอย่างนี้ เวลามีความรู้สึกอะไรแปลกปลอมขึ้นในจิต ก็จะเห็นเอง มันจะเห็นขึ้นมาเอง แต่แรกๆ ก็ต้องอารมณ์ที่หยาบหน่อย ความรู้สึกที่แรงหน่อย พอเราชำนิชำนาญขึ้น แค่จิตมันไหวตัวนิดหนึ่งเราก็เห็นแล้ว ยังไม่ทันจะสุข จะทุกข์อะไรเลย แค่มันสะเทือนไหวขึ้นมาก็เห็นแล้ว ที่ทำอยู่ถูกแล้วไปทำต่อไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

จิตก็มักจะติดการคิด จึงใช้วิธีจิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ขอหลวงพ่อเมตตา แนะนำการปฏิบัติที่เหมาะสมด้วยค่ะ

คำถาม:

ปฏิบัติโดยใช้วิภัชวิธีตามที่หลวงพ่อสอน แต่จิตก็มักจะติดการคิด จึงใช้วิธีจิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ขอหลวงพ่อเมตตา แนะนำการปฏิบัติที่เหมาะสมด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

สมาธิเรายังไม่มี เรายังเจริญปัญญาไมได้จริงหรอก การที่บอกวิภัชวิธี มันเป็นการคิดแยกเอา มันยังไม่ได้เห็นว่ามันแยกกัน ก็เพิ่มกำลังของสมาธิขึ้นเสียก่อน จิตเราฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน หาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ จะอยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธอะไรก็เอา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง ทำบ่อยๆ พอทำไป พอจิตมันมีกำลังมันจะเห็นเลย ร่างกายที่หายใจมันก็ส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้การหายใจก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เวทนาในร่างกายเกิดขึ้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เวทนาในใจก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สุข ทุกข์ ดี ชั่ว กุศล อกุศล ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง มันจะค่อยๆ แยก มันแยกด้วยการเห็น เพราะจิตมันเป็นคนเห็นแล้วมันจะเห็นขันธ์มันแยกออกไป มันแยกเอง ของโยมใจมันยังฟุ้งเยอะอยู่ ฉะนั้นเพิ่มกำลังของสมาธิก่อน ถ้าสมาธิไม่พอ ใจเราฟุ้งๆ มันเดินปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นทำสมาธิหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป แล้วค่อยมาส่งการบ้านต่อ ตอนนี้เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

ฝึกมา 3 ปีในชีวิตประจำวันก็ดูทั้งกายและใจ เพราะดูใจอย่างเดียวจะดูไม่ชัด ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อที่จะได้มีความก้าวหน้าต่อไป

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบคือนั่งสมาธิ เดินจงกรมเช้า – เย็น เวลานั่งสมาธิก็จะดูลมหายใจแล้วนับเลข พอถึงจำนวนครั้งที่กำหนด ก็จะเปลี่ยนเป็นพิจารณาเล็บ เวลาเดินจงกรมก็นับรอบที่เดิน สลับกับพิจารณาเล็บเช่นกัน จะมีบ่อยๆ ที่เผลอไปคิดเรื่องอื่นแต่สั้นๆ พอหยุดคิดก็ดูใจ การนับลมหายใจหรือการพิจารณาเล็บยังทำอยู่ต่อเนื่อง ไม่ได้หยุดไปตอนที่เผลอคิด ทำแบบนี้มา 3 ปี ในชีวิตประจำวันก็ดูทั้งกายและใจ เพราะดูใจอย่างเดียวจะดูไม่ชัด ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อที่จะได้มีความก้าวหน้าต่อไปคะ

 

หลวงพ่อ:

ปฏิบัติอย่างนี้ล่ะ ที่ทำอยู่นี้ก็ก้าวหน้าแล้ว มันก็มีพัฒนาการ เราอย่าใจร้อน ถ้าเราภาวนาแล้วอยากได้ผลเร็วๆ ใจมันจะฟุ้งซ่าน ต้องตั้งใจไว้เลยเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า จะได้ผลหรือจะไม่ได้ผลก็เรื่องของมัน ไม่เกี่ยวกับเรา รู้ซื่อๆ ไป ใช้ได้นะที่ฝึก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

ดูจิตได้มากกว่าดูกาย เดินปัญญาได้แต่ไม่มาก ตามเห็นกิเลส อารมณ์ และความคิดได้บ้าง แต่ยังหลงอยู่

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบเกือบทุกวันด้วยการเดินจงกรม และดูลมหายใจได้ 20 – 30 นาทีต่อวัน ดูจิตได้มากกว่าดูกาย เดินปัญญาได้แต่ไม่มาก ตามเห็นกิเลส อารมณ์ และความคิดได้บ้าง แต่ยังหลงอยู่ ขอหลวงพ่อแนะนำแนวทางในการปฏิบัติต่อไปค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ดูไปเลย ใจเราไม่ค่อยมีความสุข โทสะมันแทรกเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นใจมันจะหงุดหงิดๆๆ ไปเรื่อยๆ ให้เรารู้ทันไป ใจมันหงุดหงิดขึ้นมาเรารู้ ใจมันสงบขึ้นมาเรารู้ เห็นกิเลสนั่นล่ะดีที่สุด การภาวนาถ้าเราไม่เห็นอย่างอื่น เห็นกิเลสที่มันเกิดๆ ดับๆ อยู่ในใจเรา ดีที่สุดแล้ว เพราะศัตรูของเราจริงๆ ก็คือกิเลส เวลาจะแตกหักลงไป ก็คือแตกหักกับกิเลส ทำลายกิเลสคือตัวอวิชชา ตัวโมหะ ตอนนี้โมหะเรายังเยอะอยู่ ใจมันยังฟุ้ง ใจมันยังหลง แล้วก็ประกอบด้วยโทสะเก่ง หงุดหงิดง่ายอะไรอย่างนี้ เราก็คอยรู้เอาๆ เราจะเห็นว่ากิเลสแต่ละตัวมันมาแล้วมันก็ไป มาแล้วก็ไป ห้ามมันก็ไม่ได้ ควบคุมมันก็ไม่ได้ อย่างใจจะหลงห้ามไม่ได้ แต่อย่าหลงนานเท่านั้น ใจมันหลงแล้วก็รู้ ใจมันหลงแล้วรู้ไวๆ เท่านั้น หรือใจหงุดหงิดแล้วก็รู้ ใจหงุดหงิดแล้วก็รู้ รู้บ่อยๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้ได้ศีลเราก็จะดี สมาธิก็จะดี ปัญญามันก็จะเกิด คอยรู้ทันไปเรื่อยๆ รู้ทันกิเลส รู้บ่อยๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

บางวันก็รู้แต่เหมือนไม่รู้อะไร ก็ตามรู้ไปตามที่มันเป็น ขอหลวงพ่อแนะนำการปฏิบัติด้วยครับ

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบโดยนั่งรู้สึกร่างกายหายใจเข้าออกทุกเช้า – เย็นรอบละ 1 ชั่วโมง มีสติมากขึ้น หลงแล้วรู้ เห็นกาย จิต เวทนาอยู่คนละส่วนกัน เห็นร่างกายพยายามขยับหนีเวทนาบ่อยๆ ในชีวิตประจำวันก็ใช้การรู้สึกตัว และตามดูร่างกายหรือจิต เพ่งน้อยลง ใจเป็นธรรมดามากขึ้น เห็นอนิจจังและอนัตตาได้เนืองๆ เห็นกิเลสบ้าง ช่วงนี้เห็นราคะมากขึ้น จากเดิมที่เห็นโทสะ บางวันก็รู้แต่เหมือนไม่รู้อะไร ก็ตามรู้ไปตามที่มันเป็น ขอหลวงพ่อแนะนำการปฏิบัติด้วยครับ

 

หลวงพ่อ:

ที่เล่ามาก็ใช้ได้แล้ว แต่เราสังเกตให้ดีเวลาเราภาวนา บางทีเหมือนเดินปัญญาอยู่ แต่จิตมันไม่ถึงฐานทีเดียวหรอก จิตมันยังอยู่ข้างนอกๆ อยู่ ฉะนั้นเราทำความสงบเข้ามา หายใจไม่ดึงจิต หายใจเฉยๆ ลองถอยออกมาซิ ตรงนี้กับเมื่อกี้ไม่เหมือนกันรู้สึกไหม เมื่อกี้ใจมันออกข้างนอก มันกว้างๆ มันไม่ถึงฐานหรอก มันดูไม่ถึงจิตหรอก จิตมันต้องตั้งมั่นอย่างนี้ มันดูเข้ามาถึงจิตถึงใจจริงๆ มันถึงจะเห็นทุกข์ ถ้าไม่เห็นอย่างนั้นมันก็เหมือนดูหนังเฉยๆ ใจมันจะเฉยๆ มันไม่ได้ซาบซึ้งในความทุกข์ ถ้าจิตตั้งมั่นจริงๆ มันจะเห็นทุกข์ เห็นทุกข์มันก็เห็นธรรม

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 31 กรกฎาคม 2564

มองให้เป็นจะเห็นธรรมะ

ธรรมะมีในที่ทุกที่ ธรรมะไม่ได้อยู่กับวัด อยู่กับครูบาอาจารย์อย่างเดียวหรอก ฉะนั้นธรรมะอย่างเราไหว้พระพุทธรูปเราก็เห็นธรรมะ นึกถึงพระธรรมเราก็เห็นธรรมะ นึกถึงครูบาอาจารย์ นึกถึงพระสงฆ์เราก็เห็นธรรมะ กระทั่งนึกถึงนรกนั่นล่ะ นรกบนดินทั้งหลาย เราก็เห็นธรรมะ โลกมันหลง มันวุ่นวาย เราก็อย่าไปยุ่งกับมัน เราอยู่กับมันแต่ว่าเราไม่ยุ่งกับมัน จำเป็นต้องอยู่กับมัน เราหนีไปอยู่นอกโลกได้ที่ไหน เราก็ต้องอยู่กับความวุ่นวายนี่ล่ะ แต่อยู่ให้เป็น อยู่แล้วเราก็เห็นธรรมะเกิดขึ้นในใจเราตลอดเวลา

Page 47 of 67
1 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 57 67