ไม่ชอบสภาวะที่เกิด ปัญหาคือใจก็ยังวางไม่ได้ ใจยังคงเข้าไปคลุกกับอารมณ์อยู่

ปฏิบัติต่อไป การวางเป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราสั่งให้จิตวางอะไรไม่ได้หรอก แต่ถ้าปัญญามันเกิด จิตมันวางของมันเอง อย่างมันเห็นความจริงว่าร่างกายเป็นทุกข์ จิตมันวางของมันเอง ฉะนั้นเราสั่งให้วางไม่ได้ ตัวที่ทำหน้าที่ละ หน้าที่วางคือตัวปัญญา เราก็สะสมของเราไป การภาวนามันเหมือนการเรียนหนังสือ กว่าเราจะได้ปริญญาตรีเราเรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ชั้นประถม นานเป็นสิบๆ ปีเลย กว่าจะได้ปริญญาสักใบหนึ่ง กว่าจะได้เป็นพระโสดาบัน ภาวนากันนาน กว่าจะได้ สะสมกันหลายภพหลายชาติ ค่อยๆ ฝึกทุกวันๆ เมื่อไรเราจะแยกขันธ์ได้ พอเราเห็นพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนขันธ์มันแยกได้แล้ว ก็ไม่ต้องสนใจแล้วเมื่อไรจะบรรลุมรรคผล มันบรรลุเอง แยกขันธ์แล้วเห็นขันธ์ทำงานไป แล้วถึงวันหนึ่งมันก็บรรลุมรรคผลของมันเอง อย่าใจร้อน ใจร้อนไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์ นอกจากมาบั่นทอนจิตใจของเราเองให้หมดกำลังใจ

ทำในรูปแบบแล้วเครียด จึงใช้ฟังซีดีหลวงพ่อแทนเช้าเย็น เพราะทำงานอยู่ในบ้าน

เราก็เห็นร่างกายทำงานบ้านไปเรื่อยๆ ดูกายเอาไว้ ร่างกายขยับเขยื้อนอะไรรู้สึกไปเรื่อยๆ ไม่ต้องห่วงว่าจะดีไม่ดีหรอก แค่ร่างกายขยับอย่างนี้ รู้สึก เรียกว่าจิตเรามีบ้านอยู่แล้ว คือเอากายเป็นวิหารธรรม ขยับเขยื้อนรู้สึกๆ ไปเรื่อย พวกที่ทำงานบ้านนี่พวกมีบุญ เพราะว่ามันดูได้ทั้งวันเลย ถ้าเราทำงานทางกาย เจริญสติ เจริญปัญญาได้ตลอดเลย เราก็เห็นร่างกายขยับ ดูกายไว้ ไม่ต้องห่วงจิตหรอก เดี๋ยวก็เห็นจิตเอง

เวลาภาวนา เหมือนมีเสียงบอกว่าพอเถอะ พรุ่งนี้ค่อยนั่งก็ได้ยังมีเวลา

เราคิดว่าชีวิตเราอาจจะมีวันนี้วันเดียว พรุ่งนี้อาจจะไม่มีอีกแล้ว เพราะฉะนั้นการภาวนานี่จะผัดเวลาไม่ได้ วันนี้พอแล้วพรุ่งนี้ค่อยทำ แล้วเกิดพรุ่งนี้ไม่มี ขาดทุนตายเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อ กิเลสมันหลอกเรา ต้องพยายามคิดว่าเรามีชีวิตอยู่วันนี้วันสุดท้ายแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้ได้การภาวนาจะเข้มแข็งมากเลย ถ้าเราแต่ละคนคิดว่าวันนี้คือวันสุดท้าย ไม่ขี้เกียจหรอก จะรีบภาวนา ตั้งใจไว้ใหม่ อย่าไปเชื่อมัน

ดูสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดูหลงไปคิดแล้วรู้ว่าหลง

ต้องรู้อย่างหนึ่ง จิตที่หลงกับจิตที่มาอยู่กับลมหายใจแล้วพุทโธนี่เป็นคนละดวงกัน ฉะนั้นเราเวลาจิตหลงไป เราไม่ต้องไปดึงคืนมาอยู่ที่ลมหายใจ จิตที่หลง หลงแล้วก็แล้วไป ทิ้งมันไปเลย กลับมาเกิดจิตดวงใหม่ อยู่กับลมหายใจอยู่กับพุทโธ ต่อไปเราก็จะเห็นจิตมันก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตหลง นี่จิตก็ค่อยๆ พัฒนาไป

กลัวความตายมาก เบื่อโลก รู้ทันก็ไม่ดับ และเครียด อยากได้วิธีสู้กับมัน

รากเหง้าของทั้ง 3 ปัญหา มันมีอันเดียวคือการรักตัวเอง ยาที่ตรงที่สุดก็คือการดูลงมา สิ่งที่เรียกว่าตัวเราๆ นี่ มันเป็นตัวเราจริงไหม ตัดตรงเข้าไปดูตรงนี้เนืองๆ ถ้าทำตรงนี้ได้ ตัวอื่นเราจะแก้ได้เอง ถ้าใจมันลดความรักในตัวตนล่ะก็ ใจมันก็จะไม่ทุรนทุราย ไม่กลัว ไม่กังวล ดูลงมาในร่างกายนี้ที่เรารัก ที่เราหวงแหนนี้ เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ธาตุที่ไหลเวียน ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ค่อยๆ สอนมันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตก็จะผ่านตัวนี้ได้

ภาวนาสม่ำเสมอ บางช่วงมีสติอัตโนมัติ แต่บางช่วงฟุ้งซ่านมาก

ขยันภาวนา ชีวิตก็จะดี มีความสุขมากขึ้น แยกขันธ์เป็นแล้ว เราก็ดูแต่ละขันธ์มันแสดงไตรลักษณ์ของมันไป แต่ละขันธ์ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูไปเรื่อยๆ พอดูไปสักช่วงหนึ่ง จิตฟุ้งซ่านก็กลับมาทำความสงบ พอสงบพอสมควรแล้ว เราก็ออกไปดูขันธ์มันทำงานต่อ อย่าสงบยาวนานเป็นวันๆ เสียเวลา สงบพอให้ตั้งหลักได้ ไม่ตะลุมบอนกับอารมณ์

เริ่มต้นจนถึงสัมมาวิมุตติ

เราต้องฝึกมีความคิดก็ถูก มีความเห็นถูก มีความคิดถูก มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก มีการเลี้ยงชีวิตถูก แล้วก็ลงมือภาวนา มีเป้าหมายที่ถูก ลดละกิเลสเจริญกุศล จะลดละกิเลสเจริญกุศลได้ ต้องมีสติ ระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจไป พอมีสติถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องหรือตัวผู้รู้ จิตที่เป็นผู้รู้คือจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้องมันจะเกิดขึ้นเอง อาศัยสติที่บริบูรณ์ จะทำให้สัมมาสมาธิเจริญขึ้นมาบริบูรณ์ได้ พอจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว สติระลึกรู้รูป รู้นาม จะเห็นแต่ไตรลักษณ์ พอเห็นอย่างแท้จริง เรียกว่าเราเจริญในญาณทัศนะที่ถูกแล้ว ทำวิปัสสนาญาณอยู่ถูกต้องเรียกสัมมาญาณะ ตัววิปัสสนาญาณนั่นล่ะ สุดท้ายอริยมรรคอริยผลมันก็เกิด สัมมาวิมุตติเกิดขึ้น นี่คือเส้นทาง

มีสติอยู่กับปัจจุบัน

จิตไม่อยู่กับปัจจุบัน จิตมัวแต่ระลึกชาติ คิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่เคยผ่านมาแล้ว หรือจิตคำนึงไปถึงอนาคต กังวลในอนาคตจะทำอย่างไรๆ กลัวความทุกข์ในอนาคต หรืออยากมีความสุขในอนาคต จนลืมกลัวความทุกข์ในปัจจุบัน ลืมที่จะรู้จักความสุขในปัจจุบัน ห่วงอนาคตจนทิ้งปัจจุบัน อนาคตมันเหมือนความฝัน ปัจจุบันมันเป็นความจริง มัวแต่ห่วงความฝันแล้วทิ้งความจริง ไม่จัดว่าฉลาด

มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง

อาศัยมีสติรู้พฤติกรรมของจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว รู้ไป จิตไม่เป็นกลาง ยินดียินร้ายขึ้นมา ยินดีต่อความสุข ยินร้ายต่อความทุกข์ ยินดีต่อกุศล ยินร้ายกับอกุศล รู้ทัน จิตจะเป็นกลางด้วยสติ พอรู้เรื่อยๆ ไป ต่อไปก็เป็นกลางด้วยปัญญา รู้ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว เสมอภาคกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ พอเป็นกลางด้วยปัญญา จิตจะหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตจะพ้นจากภพ แล้วสัมผัสพระนิพพาน

การดูจิต

กฎของการดูจิต ข้อหนึ่ง ให้สภาวะเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามีสภาวะเกิด ข้อสอง ระหว่างดูสภาวะไม่ถลำลงไปดู ดูแบบคนวงนอก ข้อสาม เมื่อรู้สภาวะแล้วจิตหลงยินดีให้รู้ทัน จิตหลงยินร้ายให้รู้ทัน จิตก็เป็นกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับสภาวะ สุขหรือทุกข์ก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีหรือชั่วก็เท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ เราจะเห็นถึงไตรลักษณ์

Page 46 of 67
1 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49 50 51 52 53 54 55 56 67